‘ภายภาคหน้า’ ของวารสารศาสตร์พลเมือง
จาก: ฅนข่าวเท้าติดดิน
โดย: ภัทรพล สุธาวุฒิไกร
เมื่อได้อธิบายถึง ความเป็นมาและสิ่งที่เป็นอยู่ ของการเป็นวารสารศาสตร์พลเมืองไปแล้ว บทสุดท้ายนี้ควรจะได้กล่าวถึง ความเป็นไปที่จะเกิดขึ้นในอนาคตกันบ้าง ซึ่งผู้เขียนได้รับทรรศนะที่น่าสนใจ จากหนูหริ่งและชูวัส หวังว่าความคิดเห็นเหล่านี้ จะช่วยให้ผู้อ่านสรุปได้ว่า วารสารศาสตร์พลเมืองจะก้าวหน้าไปไกลแค่ไหน
ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข
มันจะเติบโตไปอย่างยากที่จะมีอะไรหยุดยั้งได้ การปิดกั้นอินเทอร์เน็ตไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปได้อีกแล้ว ยังไม่มีเทคโนโลยีไหนที่ปิดกั้นความคิดเห็นทางอินเทอร์เน็ตได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็หลุดรอดได้ ดังนั้นสิ่งที่จะมากำกับก็คือวัฒนธรรม คนจะรู้ได้เองว่าอะไรควรไม่ควร นั่นคือเครื่องมือสำคัญที่สุด ในการควบคุมว่าอะไรควรไม่ควร ไม่มีเครื่องมือไหนทางเทคโนโลยีควบคุม มีแต่ว่าสิ่งดีงามในใจเราเองนี่แหละ ที่จะไปบอกว่าอะไรควรควบคุม
ฉะนั้นสังคมจึงต้องออกแบบ ไม่ใช่เรื่องเทคโนโลยีหรือเครื่องมือหรือการลงทุน ๕๐๐ ล้านเพื่อปิดกั้นสื่อ แต่ควรให้การศึกษา ให้คนรู้จักรับผิดชอบต่อการโพสต์หรือการเขียนข่าวของตัวเอง ไม่มีอะไรหยุดยั้งมันได้ เสียเวลาเปล่าแล้วก็ไม่ได้ประโยชน์ด้วย ควรเปิดเสรีให้เต็มที่แล้วใจกว้างมากขึ้น ง่ายกว่าการไปปิดกั้นเยอะ ความผูกขาดสื่อ ที่เชื่อกันว่าทำได้เฉพาะวิชาชีพที่เรียกว่าสื่อมวลชน จะลดน้อยลง ชาวบ้านจะเขียนข่าวเองได้มากขึ้น จะกล้าเขียนข่าวมากขึ้น แล้วก็เขียนเป็น มีความรับผิดชอบสูงขึ้น
ฉะนั้นฐานันดรของสื่อจะหมดอำนาจวาสนาลง ความเป็นวิชาชีพของสื่อมวลชนจะลดลง ความเป็นผู้สื่อข่าวภาคพลเมืองที่เรียกว่า “ผู้สื่อข่าวรากหญ้า” จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ และความน่าเชื่อถือก็จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับความน่าเชื่อถือของสื่อมวลชนกระแสหลักและที่เป็นวิชาชีพ
นี่เป็นเทรนด์ที่จะต้องเกิดขึ้นแน่นอน ที่จริงเป็นคำที่เขาใช้กันมา เชยๆ แล้วนะ ก็คือ “เว็บ ๒.๐” จะต้องเกิดขึ้นแน่นอน ก็คือทุกคนสามารถเขียนข่าวได้ ทุกคนสามารถอินเตอร์แอคทีฟมันได้ โพสต์ข่าวขึ้นเองได้ คือผมคิดว่าหลักๆ เลยใน ๑๐ ปีข้างหน้า ความเป็นฐานันดรของวิชาชีพสื่อจะถูกท้าทาย คนจะให้น้ำหนักกับนักข่าวพลเมืองเท่าๆ กับวิชาชีพสื่อ ไม่ใช่เพราะคุณเป็นเนชั่น-มติชนแล้วคนจะเชื่อคุณ ไม่ใช่อีกต่อไปแล้ว
คนอาจจะเชื่อบล็อกของนาย ก.นาย ข.ก็ได้ บล็อกอย่าง “นิว แมนเดลา” หรืออย่าง “บางกอกบัณฑิต” ทุกวันนี้ได้รับความน่าเชื่อถือมากกว่าเนชั่นเสียอีก ทั้งที่เป็นตัวบุคคล เพราะฉะนั้นคนจะใช้วิจารณญาณในการตัดสิน และคิดกับข่าวอย่างจริงจังมากขึ้น มากกว่าการใช้สถาบันมารองรับมาตีตราว่า พอเป็นเนชั่นหรือเป็นมติชนแล้วคนจะเชื่อ ไม่จำเป็นอีกต่อไป อินเทอร์เน็ตนี่มันมากับโลกยุคโพสต์-โมเดิร์นจริงๆ คือมันถอดรื้ออะไรที่คิดว่ามันน่าเชื่อถือ อะไรที่คิดว่าใช่แล้วดีงามแล้ว มติชน-เนชั่นประทับตราว่าสิ่งนี้ดีเนี่ย มันจะถูกท้าทายโดยสื่อพลเมืองทั้งหมด
สมบัติ บุญงามอนงค์
ผมเชื่อว่าสื่อภาคพลเมือง จะเกาะกระแสเรื่องอินเทอร์เน็ต ประกอบกับการควบรวมของสื่อประเภทต่างๆ ที่มีอยู่ แล้วเชื่อมโยงผ่านอินเทอร์เน็ต ผมคิดว่าภายใน ๑๐-๒๐ ปีข้างหน้า บทบาทของสื่อภาคพลเมืองจะสำคัญมาก และอาจหมายถึงการเชื่อมโยงสื่อมวลชนอื่นๆ ด้วย
ผมคิดว่ารายการโทรทัศน์บางรายการ อาจต้องเชื่อมโยงกับเนื้อหาหรือกลุ่มต่างๆ ที่อยู่ในภาคพลเมือง อย่างเช่นถ้าเราสัมภาษณ์สดทางโทรศัพท์ ก็อาจจะมีจอเป็นหน้าตาเข้ามาเลย หรือถ้าชำนาญมากๆ เราก็อาจจะควบคุมเนื้อหาได้เอง โดยไม่ต้องรอให้ทางรายการตัดภาพอินเสิร์ตเข้ามาให้
อย่างตอนนี้ก็มีโปรแกรมที่ใช้กับเว็บแคม ตอนที่กำลังสนทนากันอยู่ ก็สามารถดึงภาพจากวิดีโอ งานนำเสนอ หรือแสดงภาพหน้าจอมาแทนที่ภาพจากเว็บแคมได้ ผมคิดว่าจากแนวคิดเดียวกันนี้ แต่มันจะไม่ใช่จอเล็กเพราะความเร็วในการรับส่งสูงขึ้น ก็สามารถส่งภาพที่มีคุณภาพสูงไปออกรายการโทรทัศน์ได้เลย อะไรอย่างนี้เป็นต้น