วันศุกร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2554

ฅนข่าวเท้าติดดิน: บทที่ ๐๔ สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ


สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ

จาก: ฅนข่าวเท้าติดดิน
โดย: ภัทรพล สุธาวุฒิไกร


สื่อพลเมือง เป็นช่องทาง (Channels) ที่พลเมืองสามารถใช้เป็นสื่อกลาง (Media) ในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของตนสู่สาธารณชน เช่น อินเทอร์เน็ต (Internet), วิทยุชุมชน (Community Radio), โทรทัศน์ดาวเทียม (Satellite Television), วิดีทัศน์ (Video), ภาพถ่าย (Photograph) เป็นต้น ส่วนพลเมืองที่เป็นผู้ผลิตข้อมูลข่าวสารด้วยตนเองเหล่านั้นเรียกว่า “นักข่าวพลเมือง” (Citizen Reporter)

ทุกวันนี้ มีนักข่าวพลเมืองเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ผ่านสื่อพลเมืองไปสู่ผู้อ่านมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่กลับไม่มีใครทราบว่า ต้นกำเนิดของกระบวนการนี้เริ่มขึ้นเมื่อใด อย่างไรก็ตาม ในหลายปีที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ที่กระตุ้นให้ผู้คนตระหนักถึงกระบวนการสื่อพลเมืองอยู่พอสมควร อาทิ

วินาศกรรมสหรัฐฯ ซึ่งเต็มไปด้วยพลเมือง
ภาพเพลิงไหม้อาคารแฝด เวิร์ลด์ เทรด เซ็นเตอร์ เป็นฉากหลังของ
เทพีเสรีภาพ ซึ่งผู้สื่อข่าวพลเมืองถ่ายจากสวนสาธารณะแห่งชาติ
(National Park)
๐๘.๓๐ น. (เวลาท้องถิ่น) เช้าวันอังคารที่ ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๔ ที่อ่าวแมนฮัตตัน ใจกลางมหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา นักธุรกิจและมนุษย์ทำงาน เดินพาเหรดกันอย่างรวดเร็วและขวักไขว่ เป็นปกติดังเช่นทุกวัน ทุกคนต่างมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่สำนักงานของตน

คนขยันบางส่วน เดินทางถึงสถานที่ทำงาน ของบริษัทน้อยใหญ่ที่กระจายอยู่ในตึกต่างๆ โดยเฉพาะอาคารสำนักงานแฝด ซึ่งยิ่งใหญ่ที่สุดในย่านนี้ อย่าง เวิร์ลด์ เทรด เซ็นเตอร์ (World Trade Centre) ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังระดับนานาชาติ ถึงขนาดที่เคยเป็นชื่อของอดีตศูนย์การค้าในประเทศไทยมาแล้ว

๐๘.๔๕ น. ผู้คนที่เคลื่อนตัวไปตามฝูงชน บนบาทวิถีริมถนน ต่างตกใจเมื่อได้ยินเสียงดังโครมใหญ่จากบนท้องฟ้า และเมื่อแหงนหน้าขึ้นมองไปยังที่มาของเสียงนั้น บ้างกรีดร้องปิดปาก บ้างก็ตะลึงตาค้าง ไม่เชื่อกับสิ่งที่สายตากำลังมองเห็นตรงหน้า ซึ่งเกือบทั้งหมด เห็นเพียงตัวตึกที่กำลังระเบิด แต่หลายคนเงยหน้าขึ้นไปพบเหตุการณ์ก่อนหน้า คือเครื่องบินพาณิชย์ขนาดใหญ่ หายเข้าไปในอาคาร ๑ เวิร์ลด์ เทรด เซ็นเตอร์ ทางทิศเหนือ อันเป็นสาเหตุของการระเบิดที่เกิดขึ้นตามมานั้น
ภาพที่ถ่ายโดย ‘ผู้สื่อข่าวพลเมือง’ ขณะกำลังวิ่งหนี
กลุ่มควันจากการถล่มของอาคาร เวิร์ลด์ เทรด
เซ็นเตอร์ เมื่อช่วงสาย วันที่ ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๔

๐๙.๐๓ น. เกิดเหตุการณ์ราวกับ ฉากในภาพยนตร์แอ็กชั่น ซ้ำขึ้นอีกครั้ง เมื่อเครื่องบินโดยสารอีกลำหนึ่ง พุ่งเข้าหาอาคาร เวิร์ลด์ เทรด เซ็นเตอร์ ๒ ทางทิศใต้ ส่งผลให้ ตึกหลังนี้ยุบตัวลง ในเวลา ๑๐.๐๕ น. และอาคาร ๑ ถล่มลงตามมา ในเวลา ๑๐.๒๘ น. ระหว่างนั้น เครื่องบินอีกลำ ดิ่งลงไปที่อาคารเพนตากอน รูปทรงหกเหลี่ยม อันเป็นที่ทำการของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ในเวลา ๐๙.๓๗ น.

นอกจากนั้น ยังมีเหตุการณ์ข้างเคียงตามมาตลอดทั้งวัน ความเศร้าโศกปกคลุมทั้งประเทศ สถานีโทรทัศน์ทั่วโลก ต่างถ่ายทอดภาพเหตุการณ์ช็อกโลกนี้ จากที่สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น นำเสนอผ่านเครือข่ายโทรทัศน์ของตน ทว่าไม่มีภาพในมุมมองอื่นเลย และที่สำคัญ ไม่มีภาพแรกของเหตุการณ์นี้แม้แต่น้อย

แต่อย่างไรก็ตาม ไม่นานนับจากนั้น ผู้คนที่อยู่ในเหตุการณ์ ต่างก็นำทั้งภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหว ที่สื่อมวลชนต่างๆ ตามหา มาเผยแพร่ในอินเทอร์เน็ต แม้แต่การเขียนเล่าถึง เรื่องราวสะเทือนใจ ที่เกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาของบุคคลเหล่านี้ ในเว็บบอร์ดต่างๆ อันนับเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่นำไปสู่กำเนิดของกระบวนการวารสารศาสตร์พลเมือง อย่างเป็นการเป็นงานในเวลาต่อมา

สื่อพลเมือง กับธรณีพิบัติภัย
เช้าวันอาทิตย์ที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ เกิดแผ่นดินไหวในแนวดิ่งอย่างรุนแรง บริเวณก้นทะเลหัวเกาะสุมาตรา จากรายงานเป็นทางการ ความสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้น วัดได้ถึง ๙.๑ ตามมาตราริกเตอร์ ส่งผลให้พื้นทะเล ขยับยกผืนน้ำให้สูงขึ้นอย่างมาก และรวดเร็วอย่างยิ่ง จนกลายเป็นคลื่นขนาดมหึมา ที่เคลื่อนตัวเข้าสู่ชายฝั่ง ทะเลอันดามันทางตะวันตกของไทย ด้วยเวลาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น กว่าที่กลุ่มคนริมชายฝั่ง จะได้เห็นน้ำทะเลที่ยกตัวขึ้นสูงมาก จนมองไม่เห็นท้องฟ้า ก็ต้องถูกกวาดร่างลงสู่ท้องทะเล โดยที่ยังไม่ทันจะออกวิ่งได้ไกลนัก
ภาพคลื่นสึนามิถล่มชายฝั่งอันดามันของไทย จากผู้สื่อข่าวพลเมือง
แต่ก็มีบางส่วนที่โชคดี สามารถหลบหนีได้พ้น เนื่องจากอยู่ห่างไกลจากฝั่งออกไป พร้อมกับนำกล้องวิดีโอพกพา กล้องถ่ายภาพพกพา หรือกล้องในโทรศัพท์มือถือ ขึ้นถ่ายภาพวินาทีชีวิตนี้ไว้ แล้วส่งให้กับครอบครัว เครือญาติ และเพื่อนฝูง เพื่อเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และนำเผยแพร่ออกไปทางอินเทอร์เน็ต สถานีโทรทัศน์ หรือข้อความมัลติมีเดีย (เอ็มเอ็มเอส) ด้วยโทรศัพท์มือถือ อย่างรวดเร็ว ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าว นับเป็นการเริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรม ของกระบวนการสื่อพลเมือง[๑]

รถไฟใต้ดินลอนดอนระเบิด-สื่อพลเมืองบูม
บรรยากาศในสถานีรถไฟใต้ดินลอนดอน
ที่ผู้สื่อข่าวพลเมืองถ่ายได้
วันที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ เกิดเหตุระเบิดขบวนรถไฟใต้ดิน ที่กำลังจอดรับผู้โดยสารอยู่ภายในสถานีฯ กลางกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร โดยเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจสกอตแลนด์ยาร์ด ห้ามมิให้ผู้ใดเข้าไปภายในสถานีฯ หลังจากเหตุการณ์ ทำให้ไม่มีผู้สื่อข่าวรายใด สามารถสรรหาภาพข่าวเกี่ยวกับเหตุร้ายแรง และมีผู้ติดตามอยู่ทั่วโลกได้เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาพในขณะที่กำลังมีการระเบิดเกิดขึ้น

แต่ในที่สุด สถานีโทรทัศน์แห่งชาติของอังกฤษ อย่างบีบีซี ก็ได้รับภาพข่าว เพื่อเผยแพร่ในรายการข่าวประจำวัน จาก “แหล่งข่าว” สำคัญที่สุด ก็คือชายผู้อยู่ในเหตุการณ์ ซึ่งใช้กล้องในโทรศัพท์มือถือ ถ่ายภาพขณะที่เขากำลังหลบหนี ออกจากขบวนรถไฟฟ้าที่ยังกรุ่นไปด้วยควัน และมีหนุ่มอีกคนหนึ่ง นำชายเสื้อคลุมของตนเอง ปิดจมูกและปาก เพื่อป้องกันการหายใจเอาควันเข้าไป โดยภาพนี้ ได้รับการเผยแพร่ต่อไป ทางสถานีโทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ทั่วโลก นอกจากภาพในกล้องวงจรปิดของสถานีฯ[๒]

พายุใหญ่เข้าสหรัฐฯ-น.ส.พ.เปิดบล็อกให้ชาวบ้านเล่า
หลังเกิดเหตุระเบิดรถไฟใต้ดิน ทางฝั่งยุโรปได้ไม่นาน เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ ฝั่งอเมริกาก็เกิดเหตุตามกันมา ในเวลาใกล้เคียงกัน เมื่อพายุเฮอริเคนแคทรีนา ที่มีอัตราความรุนแรงในระดับ ๕ เคลื่อนตัวเข้าสู่ชายฝั่งรัฐนิวออร์ลีนส์ จนเกิดความเสียหายร้ายแรงไปทั่วทั้งรัฐ และมีผู้เสียชีวิตนับพันคน
ภาพหน้า ๑ หนังสือพิมพ์ “เดอะ ไทม์ส-พิคายูน” ที่จำหน่ายในรัฐนิวออร์ลีนส์ และ
ใกล้เคียง ฉบับวันอังคารที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๔๘ ที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของพิคายูน
ตลอดระยะเวลาที่พายุเฮอริเคน “แคทรินา” เข้าทำลายทั้งชีวิตและทรัพย์สินมหาศาล
ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ และเปิดบล็อกแจ้งเหตุที่เว็บหน้าแรกด้วย
ทันทีที่แคทรีนาขึ้นสู่ฝั่ง กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ นิวออร์ลีนส์ ไทม์ส-พิคายูน (New Orleans Times Picayune) ก็เปิดเว็บล็อกขึ้น (ดูเพิ่มจากเนื้อหาในบทที่ ๐๓) สำหรับรายงานสถานการณ์นี้โดยเฉพาะ ต่อมาอีกไม่นาน ก็ตั้งให้หน้าบล็อกนี้ เป็นหน้าหลักของเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ ซึ่งนอกจากจะเป็นการเชิญชวนให้ชาวบ้านในชุมชน ร่วมกันเล่าถึงสิ่งที่ประสบมา ทั้งยังเป็นส่วนช่วยให้ผู้กำลังติดตามภัยพิบัติครั้งนี้จากทั่วโลก รับทราบถึงสถานการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว จากผู้ประสบเหตุเองโดยตรงอีกด้วย

คปค.ปิดทีวีวิทยุ พลเมืองเปิดสื่อเอง
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
ขณะนั้น ออกประกาศสถานการณ์
ฉุกเฉิน เมื่อเวลาประมาณ ๒๒.๐๐ น.
วันอังคารที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ.
๒๕๔๙ ทางโมเดิร์นไนน์ทีวี
๒๑.๐๐ น. วันอังคารที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง ๕ เป็นแห่งแรกที่ยุติรายการปกติ โดยเปิดมิวสิกวิดีโอเพลงพระราชนิพนธ์ และเพลงเฉลิมพระเกียรติ วนไปมาอย่างต่อเนื่อง ส่วน สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยช่อง ๑๑, สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง ๗, สถานีโทรทัศน์ไอทีวี และไทยทีวีสีช่อง ๓ ก็ทยอยยุติรายการปกติเช่นกัน

เหลือเพียงสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ติดต่อ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท ในเวลานั้น ขอออกอากาศรายการพิเศษ เพื่อประกาศใช้ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั่วประเทศ และแต่งตั้งให้ พลตำรวจเอกชิดชัย วรรณสถิตย์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ พลเอกเรืองโรจน์ มหาศรานนท์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นผู้ปฏิบัติการ ตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ยังไม่ทันประกาศจบ ทหารก็เข้ามาถึง ห้องควบคุมการออกอากาศโมเดิร์นไนน์ทีวี พร้อมตัดสัญญาณโทรศัพท์ทางไกลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ทันที

ขณะเดียวกันนั้น สถานีวิทยุกระจายเสียงต่างๆ ก็ทยอยยุติการออกอากาศไปอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ สาเหตุที่ คปค.เข้ายึดสถานีวิทยุและโทรทัศน์เหล่านั้น เพื่อเผยแพร่ประกาศและข่าวสารของ คปค. จึงทำให้สื่อมวลชนกระแสหลักทุกแห่งที่มีอยู่ในขณะนั้น นำเสนอข่าวสารจาก คปค.เพียงฝ่ายเดียว ชาวกรุงเทพฯ ที่ต้องการรับรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง จึงพากันออกจากบ้าน เพื่อไปดูด้วยตาตนเอง พร้อมทั้งถ่ายภาพไว้จำนวนมาก แม้จะฝ่าฝืนคำสั่งห้ามออกนอกเคหสถานในเวลากลางคืนของ คปค.ก็ตาม

คืนวันอังคารที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ตั้งแต่เวลา ๒๑.๐๐ น.
ขณะที่สถานีโทรทัศน์ และวิทยุทุกแห่ง กำลังรอสัญญาณ
ถ่ายทอดสดแถลงการณ์ผู้นำรัฐบาลหรือผู้นำรัฐประหาร
ด้วยเพลงพระราชนิพนธ์ หรือเพลงเฉลิมพระเกียรตินั้น
ประชาชนทางบ้านบางส่วน ต่างเดินทางไปดูเหตุการณ์
ในกรุงเทพฯ ด้วยตัวเอง พร้อมทั้งรายงานกลับมา
ให้ญาติมิตร และบุคคลอื่นได้รับทราบ
ขณะเดียวกัน พลเมืองเน็ต และบล็อกเกอร์หลายคน รายงานและแสดงภาพเหตุการณ์ ที่เกิดขึ้นบนถนนหนทางในกรุงเทพมหานคร บนเว็บบอร์ดหลายแห่ง และบล็อกของแต่ละคน โดยเฉพาะเว็บไซต์ และบล็อกต่างๆ ที่เปิดขึ้นในคืนนั้น เพื่อใช้เป็นสื่อกลางเฉพาะกิจ เช่น www.19sep.net หรือ 19sep.blogspot.com

โดยเฉพาะการพูดคุยในโปรแกรมสนทนาออนไลน์ (เมสเซนเจอร์) ไม่ว่าจะเป็นของเอ็มเอสเอ็นหรือยาฮู! เริ่มคึกคักขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังที่ผู้ใช้นามปากกา “มารพิณ” เล่าไว้ในบล็อกส่วนตัว (pinn.diaryhub.com) ดังนี้

เพื่อนฝูง ผู้คนที่รู้จัก และเคยเพิ่มชื่อไว้ ทยอยกันปรากฏตัวออนไลน์ขึ้นมา ทีละคนสองคน ภายในครึ่งชั่วโมงเท่านั้น คนเกือบสองร้อย ก็โผล่หน้ากันสลอน พร้อมๆ กับเสียงข้อความสนทนา เข้ามากันระงม หลายคนไม่เห็นออนไลน์มาเป็นปีก็ยังมา

“ได้ข่าวอะไรบ้าง” “ป้ากูโทรมาบอกว่า เห็นทหารหลายคันรถ วิ่งเป็นขบวนเข้าเมืองมาแล้ว” “ปฏิวัติจริงปะ” “เขาว่ามียิงกันแถวลานพระรูปฯ แล้ว” “เว็บไซต์ซีเอ็นเอ็นเข้าไม่ได้แล้วเหรอ” “ลองเข้าไซต์นี้ดูสิ” คำถาม ข่าวลือ ข่าวจริง เรื่องลวง ทุกอย่างมีครบหมดทุกรส ในคำสนทนาออนไลน์วินาทีนั้น พร้อมกับข่าวลือที่ฮิตกันมากสุดในคืนนั้นว่า อินเทอร์เน็ตกำลังจะถูกตัดภายใน ๒ ชั่วโมงข้างหน้า จะทำอะไร จะส่งเมล์ให้รีบทำ สร้างความโกลาหลให้กับผู้คนจำนวนมาก ที่มีธุระจะต้องส่งอีเมล์ หรือส่งงานทางเน็ต
พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้า
คปค.ประกาศฉบับที่ ๑ เมื่อเวลา
๐๙.๐๐ น. วันพุธที่ ๒๐ กันยายน
พ.ศ. ๒๕๔๙ ทางโทรทัศน์รวม
การเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย

ยิ่งไม่มี “สื่อปกติ” ให้ได้อ่านได้ดู สุญญากาศทางข้อมูล ยิ่งระบาดเป็นวงกว้างไกลออกไป หลายคนที่ออนไลน์มาจากเมืองนอก ก็เข้ามาร่วมแจมด้วย กระเซ็นสายข้อมูลของไซต์ข่าวภาษาอังกฤษ ที่เริ่มรายงานข่าวด่วนจากเมืองไทย สู่คนอ่านทั่วโลก คนไทยที่ออนไลน์ รีบตามลิงก์พวกนี้ไป อย่างไม่ขาดสาย มากเสียจนแม้แต่ไซต์ใหญ่ๆ อย่าง ซีเอ็นเอ็น ยังอืดและช้าอย่างรู้สึกได้ชัดเจน อาจเป็นเพราะช่องสัญญาณเน็ต ที่เชื่อมต่อกับเมืองนอก เต็มกำลังส่ง เพราะข้อมูลเรียกเข้าและเรียกออก มันพล่านเกินพิกัดปกติ

ในช่วงหลายชั่วโมงที่ว่านั้น สื่อที่แท้จริง และยังหลงเหลืออยู่ กลายเป็นช่องทาง “ปากต่อปาก” ด้วยการแชทออนไลน์อย่างเอ็มเอสเอ็น ที่คนไทยส่วนใหญ่ใช้กัน หรือไม่ก็เว็บบอร์ดตามไซต์ต่างๆ รวมทั้งเว็บล็อก-เว็บไดอารี ทั้งที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ในขณะที่สื่อเก่าตายสนิท ทั้งเนื่องจากถูกสแตนด์บายให้ออกอากาศเพลงปลุกใจ และสื่ออย่างหนังสือพิมพ์กระดาษก็ไม่ไวพอ ต้องรอจนเช้าถึงจะวางแผง

สื่อแบบเก่ามีข้อจำกัดมากไป ทั้งในแง่ระเบียบกฎหมาย และช่องทางการนำเสนอ ล้าหลังเกินไปในแง่เทคโนโลยี ช้าเกินไปในแง่การวางตลาด และมีพื้นที่น้อยเกินไป สำหรับข่าว และความเห็นที่หลากหลาย ในขณะเดียวกัน สังคมไทยก็เรียกร้องความหลากหลายมากขึ้น จากสื่อสารมวลชนแบบเดิม [๓]

ชาวบ้านอาสาเล่าเรื่องหมอกควันพิษ ๗ จังหวัดเหนือ
ช่วงเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ เกิดไฟป่าขึ้น บนเทือกเขาในภาคเหนือหลายจังหวัด ส่งผลให้บรรยากาศในตัวเมือง ของจังหวัดต่างๆ เหล่านั้น ซึ่งตั้งอยู่ท่ามกลางหุบเขา เกิดภาวะขมุกขมัวตลอดทั้งวัน เนื่องจากไม่สามารถระบายควันจากไฟป่าออกไปจากหุบเขาได้

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ก็มีบล็อกเกอร์ ซึ่งเป็นชาวบ้านในพื้นที่ รายงานเหตุการณ์ และ/หรือ ส่งภาพมาบรรยายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นใน “โอเคเนชั่น” ตามคำเชิญชวนของ สุทธิชัย หยุ่น บรรณาธิการอำนวยการเครือเนชั่น ตามที่เขาเขียนเล่าไว้ในบล็อกส่วนตัวที่โอเคเนชั่นว่า

ท่านหนึ่งเขียนเข้ามาบอกว่า “ผมทำงานที่เขื่อนสิริกิติ์ ที่อุตรดิตถ์ ท้องฟ้าสลัว เป็นแบบนี้มาหลายวันมาก เพราะมีการเผาทุ่งเผาป่า มีการรณรงค์มาหลายปีแล้ว แต่ก็เป็นอย่างนี้ทุกปี ปีนี้รู้สึกจะหนักที่สุด ฝ่ายทุกๆ ฝ่ายดูแลแล้วครับ…”

อีกท่านหนึ่งเขียนว่า “ตอนนี้อยู่เจียงฮาย อากาศของเจียงฮายตอนนี้เหมือนฤดูหนาวเลย มีหมอกควันปกคลุมหนาแน่น แต่หายใจไม่ค่อยออก กินข้าวไม่ค่อยอร่อย ไม่ค่อยมีตังค์ กระเป๋าแบนแฟนก็ทิ้ง เวลาขับขี่รถจักรยานยนต์ออกนอกบ้าน ต้องน้ำตาไหล เพราะแสบตาเหลือเกินกับหมอกควัน จนร้านขายยา ขายน้ำยาล้างตาจนรวยเลย โดยเฉพาะอำเภอที่ติดกับชายแดนพม่าและลาว มีควันปกคลุมอย่างหนาแน่นกว่าทุกอำเภอ เนื่องจากได้ข่าวว่าเกิดไฟป่าในประเทศลาวและพม่าอยู่ตลอดเวลา…”

บล็อกเกอร์จากเชียงใหม่ รายงานเข้ามาในบล็อกว่า “บ้านพักข้าราชการ กรมไปรษณีย์โทรเลขเชียงใหม่ เผาขยะเป็นประจำ ทั้งกองใหญ่ กองเล็ก อยู่บ่อยๆ…มาดูได้ที่ สามแยกโลตัส หางดง ตอนนี้ก็เอาเศษใบไม้มากอง เตรียมเผาอีกแล้ว บ้านนี้อยู่ในพื้นที่ของ อบต.คนหนึ่ง ใครเป็นผู้ดูแล ขอให้แจ้งผู้ใต้บังคับบัญชาด้วยครับ…เป็นข้าราชการ เผาในสถานที่ราชการ ควรจะมีความคิดมากกว่านี้ หรือไม่ก็น่าจะโดนทำโทษทางวินัยด้วย…”

อีกท่านหนึ่งกรุณาส่ง “แผนปฏิบัติการฝนหลวงที่เชียงใหม่ประจำวันที่ ๒๐๐๗-๐๓-๑๒” พร้อมแผนที่ที่มีรายละเอียดครบถ้วน ซึ่งทำหน้าที่ได้รอบด้านมากกว่านักข่าวธรรมดาด้วยซ้ำไป 

บล็อกเกอร์ที่ใช้ชื่อ “ลูกสาวเมืองเลย” เขียนเข้ามาบอกว่า “ดิฉันเป็นลูกสาวชาวสวนโดยตรง เลยรู้เรื่องนี้ดี…ช่วงกุมภาพันธ์-เมษายน เป็นช่วงที่ชาวไร่ชาวนาจุดไฟเผาไร่กัน เพื่อกำจัดวัชพืชก่อนไถพรวน…ไม่รู้จะแก้อย่างไรดี…ทุกปีเป็นแบบนี้ตลอด อากาศปิดเลย เสื้อผ้าที่ตากไว้ก็จะเต็มไปด้วยมลพิษ  ชาวบ้านเขามองว่า เป็นวิธีที่ประหยัดและง่ายสำหรับเขาแล้ว เพราะกว่าจะกำจัดวัชพืชเหล่านี้ก่อนไถพรวน มันหมดงบประมาณเยอะ และใช้แรงงานหนัก ถ้าใครมีแนวคิดดีๆ ที่พอจะช่วยให้คำแนะนำเขาบ้าง ก็แนะนำมาเลยค่ะ…” [๔]

นศ.ส่งภาพในเหตุยิงเพื่อนที่เวอร์จิเนียเทค
๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๐ โช ซุงฮุย นักศึกษาชาวเกาหลี ของมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียเทค ก่อเหตุยิงเพื่อนนักศึกษา จำนวน ๓๒ คน ภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งจากเหตุการณ์นี้ มีนักศึกษาหลายคน สามารถลักลอบถ่ายภาพเหตุการณ์ไว้ได้ พร้อมทั้งเล่าถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น และส่งภาพที่ถ่ายไว้ ออกไปสู่บุคคลภายนอก ที่ติดตามเหตุการณ์อยู่ทั่วโลก สุทธิชัย หยุ่น ในฐานะนักวิเคราะห์ข่าวต่างประเทศชื่อดัง เขียนไว้ในบล็อกส่วนตัวของเขาว่า

เฉพาะซีเอ็นเอ็นเองบอกว่า มีคนที่ถ่ายรูปเหตุการณ์ด้วยตัวเอง ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาเอง ที่ส่งมาร่วมรายงานข่าวอย่างคึกคักยิ่ง

ที่น่าสนใจคือ ภาพและวิดีโอ รวมทั้งเสียงรายงานสด จากนักศึกษาที่เห็นเหตุการณ์นั้น ได้ออกอากาศไม่น้อยไปกว่านักข่าวอาชีพเลย
โช ซุงฮุย ใช้ปืนจ่อศีรษะตนเอง ในวิดีโอที่เขาส่งก่อนตาย

วิดีโอชุดหนึ่ง ที่นักศึกษาคนหนึ่ง ส่งมาขึ้นเว็บไซต์ซีเอ็นเอ็น มีเสียงปืนดังขึ้นเป็นระยะๆ ให้เห็นและได้ยินกันสดๆ และมีคนเข้ามาดูถึง ๑๒๐,๐๐๐ ครั้งในช่วงเพียงวันเดียว

ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ ซีเอ็นเอ็นเอง ไม่มีนักข่าวของตัวเอง อยู่ในที่เกิดเหตุเลยแม้แต่คนเดียว ตลอดระยะ ๒๔ ชั่วโมงแรก หลังเกิดเหตุการณ์ ดังนั้น จึงต้องอาศัยภาพ, วิดีโอ และเสียง ที่รายงานโดยนักศึกษา หรือ ซิติเซน รีพอร์ตเตอร์ นี่แหละ

อีกปรากฏการณ์หนึ่ง ที่น่าสนใจมากก็คือ นักศึกษาจำนวนไม่น้อย ได้เขียนบล็อก เล่ารายละเอียดของเหตุการณ์ จากในรั้วมหาวิทยาลัยนั้นเองตลอดเวลา แม้แต่เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยเอง ก็อัปเดตข่าวเรื่องนี้ อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา

โศกนาฏกรรมครั้งนี้ ตอกย้ำว่า เหตุการณ์เลวร้ายเช่นนี้ ไม่ควรจะเกิดขึ้น แต่เมื่อมันเกิดขึ้น จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามที บทบาทของ “ผู้อยู่ในเหตุการณ์ และเห็นเหตุการณ์” จะทำหน้าที่รายงานข่าว, ภาพ และเสียงได้ใกล้ชิด, รวดเร็ว และมีสีสัน มากกว่านักข่าวอาชีพด้วยซ้ำ [๕]

โดยแม้แต่ตัวของโชเอง ก็ยังส่งคลิปวิดีโอ การวางแผนสังหารเพื่อนร่วมมหาวิทยาลัย ที่บันทึกไว้ในแผ่นซีดีให้กับซีเอ็นเอ็นทางไปรษณีย์ เพื่อเผยแพร่ทางโทรทัศน์ หลังจากที่เขาฆ่าตัวตายเมื่อก่อเหตุแล้ว นับเป็นนักข่าวพลเมือง ที่ล่วงลับไปแล้ว และยังเป็นผู้ก่อเหตุเองด้วย

ภาพทหารพม่าฆ่าม็อบพระสะพัดทั่วโลก
วันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ เกิดการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยขึ้น ในประเทศสหภาพเมียนมาร์ ซึ่งมีนักบวชอย่างพระสงฆ์ และแม่ชี เป็นหลักในการชุมนุม แต่ต่อมากลับปรากฏว่า รัฐบาลทหารพม่า สั่งการให้ทหาร เข้าปราบปรามผู้ชุมนุมอย่างเด็ดขาด รวมทั้งพระสงฆ์ และนักบวชต่างๆ ด้วย โดยการเปิดเผยจากภาพข่าว ที่ผู้สื่อข่าวพลเมืองหลายคน เป็นผู้บันทึกไว้ได้

รุ่งอรุณแห่งการสังหาร-สงกรานต์เลือด
ประเทศไทย นับเป็นแหล่งท่องเที่ยวในเทศกาลสงกรานต์ ที่ชาวต่างชาติให้ความสนใจมากที่สุด แต่เช้าวันที่ ๑๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๒ อาจเปลี่ยนความคิดของนักท่องเที่ยวที่อยู่ในเมืองไทย ณ เวลานั้นไปตลอดกาล

ระหว่างที่ผู้ชุมนุมกลุ่มเสื้อแดง ที่มีคนขับแท็กซี่เป็นผู้นำ กำลังพักผ่อนอยู่กลางถนนบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง ที่พวกเขากำลังปิดการจราจร เพื่อเรียกร้องให้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เวลา ๐๔.๓๐ น. กองกำลังทหารจำนวนมาก พร้อมอาวุธปืนครบมือ ปรากฏตัวขึ้นบนท้องถนน เคลื่อนตัวเป็นแนวหน้ากระดานเข้าหากลุ่มผู้ชุมนุม ทันใดนั้น เกิดเสียงลั่นกระสุนออกจากอาวุธปืน เอ็ม-๑๖ ของทหารเหล่านั้น ดังระงมไปทั่วบริเวณ

ตั้งแต่เวลา ๐๖.๐๐ น. มีคนขับแท็กซี่ และผู้ชุมนุมหลายคน สลับกันขึ้นเวทีใหญ่หน้าทำเนียบรัฐบาล ที่ถ่ายทอดสดทางสถานีประชาธิปไตย (ดี-สเตชั่น) พวกเขารายงานไปสู่ผู้ชมทั่วประเทศว่า กองกำลังทหาร ที่ได้รับคำสั่งจากรัฐบาลเหล่านั้น “เล่นสงกรานต์” กับพวกเขา ด้วยการ “สาด” กระสุนปืน ใส่ประชาชนมือเปล่า ผู้ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย จนถึงกับเสียชีวิตไปหลายคน

ในจำนวนนั้น มีพระสงฆ์รูปหนึ่งกล่าวว่า พระสงฆ์อีกรูปหนึ่ง ถูกทหารยิงจนมรณภาพ แม้หลายคนจะพยายามยื้อแย่งศพกับทหารแนวหลัง ซึ่งทำหน้าที่ “เก็บงาน” จากท้องถนนขึ้นสู่รถบรรทุก เพื่อนำออกไปจากบริเวณ พร้อมฉีดน้ำล้างเลือดที่นองพื้นออกไป แต่ไม่มีใครแย่งได้สำเร็จ มีเพียงเสื้อหรือกางเกงของผู้วายชนม์เท่านั้น ที่พอจะได้กลับมาบ้าง


ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่า มีประชาชนเสียชีวิตจากการสลายการชุมนุม ตามปากคำของ “ผู้เห็นเหตุการณ์” ซึ่งถือเป็นผู้สื่อข่าวพลเมือง ตามหลักวารสารศาสตร์พลเมืองหรือไม่ แต่ข้อมูลอีกด้านหนึ่ง ก็น่าเชื่อว่ามีความเชื่อมโยงกัน เมื่อสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) เปิดรับแจ้งข้อมูลบุคคลสูญหาย จากการสลายการชุมนุมดังกล่าว พบว่ามีผู้มาแจ้งถึงกว่า ๖๐ รายด้วยกัน สิ่งที่ควรตั้งคำถาม และค้นหาคำตอบต่อไปเป็นอย่างยิ่งคือ ผู้สูญหายเหล่านั้นไปอยู่ที่ไหน?

หลังเหตุการณ์ผ่านไป สื่อพลเมืองหลายแห่ง เช่นประชาไท หรือไทยอีนิวส์ แม้แต่สื่อมวลชนกระแสหลัก อย่างหนังสือพิมพ์โลกวันนี้รายวัน ต่างก็ตั้งข้อสงสัยกับเรื่องราวต่างๆ ในเหตุร้ายนั้น ทั้งประเด็นของผู้สูญหาย, การเสียชีวิตอย่างผิดปกติ ทั้งการ์ดเสื้อแดงสองคน ที่ถูกจับมัดแล้วนำไปทิ้งลงแม่น้ำเจ้าพระยา และพลทหารอภินพ เครือสุข ซึ่งทำหน้าที่รับใช้ ภายในบ้านพักแม่ทัพภาคที่ ๑ พลโทคณิต สาพิทักษ์ เซฟเฮ้าส์ของนายอภิสิทธิ์ ในช่วงสงกรานต์ ที่สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง อ้างว่าเกิดอุบัติเหตุลื่นล้มในห้องน้ำ

หรือจะเป็นหลากหลายคลิปวิดีโอจากผู้สื่อข่าวพลเมือง ที่หนึ่งในจำนวนนั้น นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ส.ส.จังหวัดแพร่ พรรคเพื่อไทย นำมาฉายให้ที่ประชุมรัฐสภารับชม พร้อมกับประชาชนทางบ้านทั่วประเทศ แสดงให้เห็นความโหดร้ายป่าเถื่อนของกำลังทหาร ที่รุมทำร้ายผู้ชุมนุมมือเปล่า หรือแม้แต่ภาพข่าวจากสื่อมวลชนต่างประเทศ ที่แสดงให้เห็นทั้งการเล็งปากกระบอกปืนไปยังฝูงชน และหลากชนิดของอาวุธปืนในมือทหาร ที่มีข้อมูลว่าใช้ได้เฉพาะกับกระสุนจริงเท่านั้น เหล่านี้เป็นคำถาม ที่รัฐบาลต้องตอบกับประชาชน และคณะกรรมาธิการพิเศษ ซึ่งมีสมาชิกของทั้งสองสภาฯ ร่วมกัน เพื่อตรวจสอบเหตุการณ์นี้ต่อไป

กล่าวโดยสรุปคือ ทุกเหตุการณ์สำคัญทั่วโลก อย่างภัยธรรมชาติ อาชญากรรม หรือกรณีต่างๆ ที่มีความพยายามปิดบังความจริงจากผู้มีอำนาจ เป็นปัจจัยสำคัญ ที่ผลักดันให้ผู้สื่อข่าวพลเมืองลงไปอยู่ในเหตุการณ์เหล่านั้น แล้วถ่ายทอดความจริงอย่างรวดเร็ว ไปสู่พลเมืองในประเทศ และในโลก ผ่านการเขียนข่าวโดยพลเมือง และภาพข่าวที่ถ่ายขึ้นเอง เพื่อให้โลกรู้เท่าทันเรา

---------------------------------------------------------------------------------------------
[๑] Bact’, “We Media” สื่อเรา เราสื่อเองได้, นักข่าวพเนจร ประชาไท, ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๐
[๒] มานะ ตรีรยาภิวัฒน์, “Citizen Journalism วารสารศาสตร์พลเมือง (๒)”,
นิตยสาร Thaicoon ฉบับเมษายน ๒๕๕๑
[๓] มารพิณ, เอ็มเอสเอ็นในคืนรัฐประหาร: ยามที่สื่อกระแสหลักสงบนิ่ง ความคึกคักกลับอยู่ที่โลกออนไลน์, ใน รายงานประจำปี ๒๕๔๙-๒๕๕๐ ชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศฯ (กรุงเทพมหานคร: ห.จ.ก.ชอบและทำ, ๒๕๔๙)
[๔] สุทธิชัย หยุ่น, Blog…สื่อมวลชน โดยมวลชน เพื่อมวลชน, เว็บล็อก กาแฟดำ โอเคเนชั่น, ๑๗ เมษายน ๒๕๕๐
[๕] สุทธิชัย หยุ่น, รายงานข่าวเหตุสยองล่าสุด ตอกย้ำการโตขึ้นของ Citizen Reporting, เว็บล็อก กาแฟดำ (เรื่องเดียวกัน), ๑๖ มีนาคม ๒๕๕๐