วันศุกร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2554

ฅนข่าวเท้าติดดิน: เบื้องหลังการทำงาน



บทที่ ๓
เบื้องหลังการทำงาน


จาก: ปริญญานิพนธ์ โครงการจัดทำหนังสือพกพา เรื่อง “ฅนข่าวเท้าติดดิน”
โดย: นายภัทรพล สุธาวุฒิไกร

รายละเอียดในการทำงาน
กระบวนการปฏิบัติงานผลิตหนังสือพกพาเล่มนี้ เริ่มขึ้นเมื่อประมาณ ปลายเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๒ โดยผู้เขียนเสนอแนวคิดเรื่องวารสารศาสตร์พลเมืองต่อ นายสมเกียรติ รุ่งเรืองวิริยะ อาจารย์ที่ปรึกษาปริญญานิพนธ์ ซึ่งก็ได้รับความเห็นชอบในหัวข้อนี้

หลังจากอนุมัติแล้ว ผู้จัดทำจึงเริ่มนัดหมายกับบุคคลต่างๆ ผู้ปฏิบัติงาน หรือมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง กับวารสารศาสตร์พลเมืองทันที เพื่อสัมภาษณ์ในช่วงต้นเดือนมีนาคม จำนวน ๔ ท่าน และอีก ๒ กลุ่ม ดังต่อไปนี้

นายสมบัติ บุญงามอนงค์ ประธานกรรมการบริหาร มูลนิธิกระจกเงา ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้ง บ้านนอกทีวี สถานีโทรทัศน์ชุมชนผ่านดาวเทียมแห่งแรกของประเทศไทย และผู้สื่อข่าวพลเมืองออนไลน์ ในห้องราชดำเนิน พันทิปคาเฟ่ กับเว็บบอร์ดประชาไท, นายชูวัส ฤกษ์ศิริสุข บรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท สื่อพลเมืองในรูปองค์กรสาธารณะ และอดีตบรรณาธิการข่าว นิตยสารอะเดย์ วีกลีย์, นายชาลี วาระดี บรรณาธิการ เว็บไซต์โอเคเนชั่น ผู้ให้บริการเว็บล็อกข่าวแห่งแรกของประเทศไทย และอดีตบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ, นายอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายพลเมืองเน็ต องค์กรที่เคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต และนักพัฒนาระบบ บริษัท โอเพ่นดรีม จำกัด, คณะทำงานผู้สื่อข่าวอาสาสมัครของ เว็บล็อกข่าวไทยอีนิวส์ โดยพลเมืองแนวร่วมประชาธิปไตย และ สำนักข่าวประชาธรรม โดยองค์กรพัฒนาเอกชนในจังหวัดภาคเหนือ

โดยนายสมบัติ นัดหมายผู้จัดทำเพื่อไปสัมภาษณ์เป็นคนแรก ในวันอังคารที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ เวลา ๑๔.๐๐ น. ที่สำนักงานมูลนิธิกระจกเงา บนชั้น ๙ ของอาคารเลิศปัญญา ในซอย ๑๒ ถนนศรีอยุธยา ซึ่งเป็นตรอกเล็กๆ ที่รถยนต์เข้าออกได้ทางเดียว นายชูวัสเป็นคนถัดมา ที่นัดหมายให้ผู้จัดทำเข้าสัมภาษณ์ ในวันอังคารที่ ๓ มีนาคม เวลา ๑๕.๐๐ น. ที่สำนักงานประชาไท ชั้น ๑ ของอาคารมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) ซอยรัชดาภิเษก ๑๔ (โรหิตสุข) ถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ ซึ่งมีเส้นทางสลับซับซ้อน ไม่มีป้ายชื่อซอย

ส่วนนายชาลี นัดหมายให้ผู้จัดทำเข้าสัมภาษณ์เป็นคนที่สาม ในวันพฤหัสบดีที่ ๑๒ มีนาคม เวลา ๑๔.๐๐ น. ที่ทำการสถานีโทรทัศน์เนชั่นแชนแนล บนชั้น ๑๒ เอ ของอาคารเนชั่น ทาวเวอร์ ถนนบางนา-ตราด ซึ่งเป็นระยะทางที่ไกลจากบ้านของผู้จัดทำคนละมุมเมือง และนายอาทิตย์แจ้งว่า พร้อมที่จะให้สัมภาษณ์ทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์มากกว่า จึงได้จัดส่งคำถามที่ต้องการข้อมูลไปให้ และได้รับคำตอบกลับมาหลังจากนั้น เช่นเดียวกับคณะทำงานผู้สื่อข่าวพลเมืองของ เว็บล็อกข่าวไทยอีนิวส์ และสำนักข่าวประชาธรรม ซึ่งมีลักษณะเป็นอาสาสมัคร จึงไม่สะดวกที่จะเปิดเผยตัวตน แต่ทั้งสองแห่งก็ยินดีให้ข้อมูลผ่านจดหมายอิเล็กทรอนิกส์

ประกอบกับการค้นคว้าโดยผู้จัดทำ จากแหล่งข้อมูลหลักคือ เว็บต่างๆ ในเครือข่ายอินเทอร์เน็ต จำนวน ๑๖ แห่ง ซึ่งประกอบไปด้วย หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท (www.prachatai.com), สำนักข่าวประชาธรรม (www.newspnn.com), เว็บล็อกข่าวทางเลือกไทยอีนิวส์ (thaienews.blogspot.com), เว็บไซต์โอเคเนชั่น (www.oknation.net), เว็บไซต์คนชายขอบ (www.fringer.org), เว็บล็อก bact’ (bact.blogspot.com), เว็บเพจนักข่าวพลเมือง ทีวีไทย (citizen.thaipbs.or.th), เว็บไซต์กลุ่มสื่อประชาชน (www.thaifreenews.org), เว็บไซต์สื่อประชาชนพิทักษ์ไทย (www.pitakthai.com), เว็บไซต์บ้านนอกทีวี (www.bannoktv.com), เว็บไซต์มูลนิธิกระจกเงา (www.mirror.or.th), เว็บไซต์สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (www.tja.or.th), เว็บไซต์สารานุกรมวิกิพีเดียภาษาไทย (th.wikipedia.org), เว็บล็อก ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ (mana.bloggang.com), ข่าวจากเว็บไซต์หนังสือพิมพ์คมชัดลึก (www.komchadluek.com) และ ข่าวจากเว็บไซต์เดโมเครซีออนไลน์ (www.demo-crazy.com)

รวมถึงหนังสือ งานวิจัย และบทความอีกจำนวนหนึ่ง เป็นแหล่งข้อมูลเสริมอีก ๖ ชิ้น ดังต่อไปนี้ :- หนังสือพกพา “Citizen Reporter นักข่าวพันธุ์ใหม่” เขียนโดยปิรันย่า สำนักพิมพ์เนชั่นบุ๊กส์, หนังสือพกพา “ข่าวที่ไม่เป็นข่าว” บรรณาธิกรโดย ธนาพล อิ๋วสกุล ของสถาบันพัฒนาการเมือง, หนังสือพกพา “คู่มือวิทยุชุมชน” เขียนโดย คอลิน เฟรเซอร์ และ โซเนีย เอสตราดา รองศาสตราจารย์ จุมพล รอดคำดี เป็นผู้แปล และยูเนสโก สนับสนุนการจัดพิมพ์ฉบับภาษาไทย, บทความ “Blog Power อนาคตสื่อทรงพลัง” เขียนโดย กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์บิสิเนสไทย ตีพิมพ์ครั้งแรกเป็นเรื่องจากปกของบิสิเนสไทย ฉบับประจำสัปดาห์วันที่ ๑๕-๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๐ พิมพ์ซ้ำในคู่มือการเขียนข่าวไอที ของชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, บทความ “เอ็มเอสเอ็นในคืนรัฐประหาร: ยามที่สื่อกระแสหลักสงบนิ่ง ความคึกคักกลับอยู่ที่โลกออนไลน์” เขียนโดย มารพิณ ในหนังสือรายงานประจำปี ๒๕๔๙-๒๕๕๐ ชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศฯ และ รายงานการวิจัยเรื่อง “สื่อภาคประชาชน” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.พิรงรอง รามสูต รณะนันทน์ หัวหน้าสาขาวิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เมื่อผู้จัดทำรวบรวมข้อมูลอย่างเต็มความสามารถแล้ว จึงเริ่มต้นเขียนเนื้อหาของหนังสือพกพา ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนเป็นต้นมา โดยวางกระบวนการปฏิบัติงานไว้อย่างเป็นระบบ เริ่มจากการอ่านข้อมูลทั้งหมดที่ค้นคว้ามา พร้อมทั้งใช้ความคิด เพื่อทำความเข้าใจกับเรื่องราวในภาพรวม จากนั้นจึงเขียนออกมาเป็นสำนวนภาษาของผู้จัดทำเอง ระหว่างนั้น ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ก็เริ่มจัดทำเนื้อหาปริญญานิพนธ์ควบคู่ไปด้วย กระทั่งมีเนื้อหาในแต่ละหัวข้อของหนังสือพกพาครบถ้วน ในราวสิ้นเดือนพฤษภาคม

ผู้จัดทำจึงนำเนื้อหาในหนังสือพกพา ซึ่งผู้จัดทำเองเรียบเรียงเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว เสนอต่ออาจารย์ที่ปรึกษาปริญญานิพนธ์ เพื่อขอรับข้อเสนอแนะ ในอันที่จะปรับปรุงแก้ไขงานในส่วนต่างๆ ให้ผ่านความเห็นชอบจากอาจารย์ที่ปรึกษาฯ โดยตลอดเดือนมิถุนายน ก่อนจะสอบโครงร่างปริญญานิพนธ์ ในวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๒

ปัญหาและอุปสรรค
ทั้งนี้ ในระหว่างการปฏิบัติงานดังกล่าว ก็มีปัญหาและอุปสรรคต่างๆ เกิดขึ้นตามปกติของการทำงานโดยทั่วไป อาทิเช่น ข้อมูลที่ทำการค้นคว้ามาได้ แม้จะมีจำนวนหนึ่ง ซึ่งมากเพียงพอ สำหรับการเขียนหนังสือพกพาแล้วก็ตาม ทว่าในบางส่วนของเนื้อหา กลับไม่มีครบถ้วนเท่าที่ควรนัก เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ ในรูปข้อมูลส่วนเล็กๆ ที่กระจายอยู่ในแหล่งต่างๆ ซึ่งยังไม่มีการรวบรวมกันอย่างจริงจังมาก่อน ทำให้การรวบรวมของผู้จัดทำครั้งนี้ เป็นไปด้วยความยากลำบาก และโดยปกติแล้ว จะมีผู้ปฏิบัติงานเป็นหมู่คณะ เพื่อแบ่งสายงานไปตามที่แต่ละคนมีความถนัด แต่ผู้จัดทำต้องดำเนินงานต่างๆ โดยลำพัง ตามหลักเกณฑ์ในการผลิตปริญญานิพนธ์ อันอาจเป็นข้อจำกัดในการทำงานอยู่บ้าง

นอกจากนี้ ระหว่างขั้นตอนการเขียนเนื้อหาหนังสือพกพา ผู้จัดทำต้องดำเนินตามกระบวนการ อันประกอบด้วย การอ่านทำความเข้าใจกับเนื้อหาข้อมูลต่างๆ พร้อมทั้งจัดหมวดหมู่เรื่องราวที่ใกล้เคียง เพื่อนำมาเขียนร่วมกัน แล้วนำมาประมวลผล จากนั้นจึงเริ่มต้นเขียน และเรียบเรียงเนื้อหา ให้เป็นไปในทำนองเดียวกัน สุดท้ายจึงแทรกเชิงอรรถ เพื่ออ้างอิงถึงข้อมูลเอกสารที่ค้นคว้ามาอีกครั้ง จึงจะเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยกำลังความคิดอย่างสูง รวมถึงระยะเวลาจำกัด อันเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดความเครียด และความเหนื่อยล้าของสมอง ส่งผลให้ระยะเวลาในการผลิตปริญญานิพนธ์ชิ้นนี้ ไม่เป็นไปตามที่คาดหมายไว้