ก่อนจะมีสื่อพลเมือง
จาก: ฅนข่าวเท้าติดดิน
โดย: ภัทรพล สุธาวุฒิไกร
ก่อนที่จะมีสื่อต่างๆ ที่ขับเคลื่อนโดยพลเมืองทั่วไป ในลักษณะปัจเจกชนเต็มรูปแบบ ดังเช่นทุกวันนี้ ตัวตนในบทบาทผู้สื่อข่าวของพลเมืองทั้งหลาย เริ่มขึ้นอย่างจริงจังจากการเปิดพื้นที่ โดยสื่อมวลชนกระแสหลัก ในช่องทางต่างๆ ดังที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้
ในอดีต องค์กรพัฒนาเอกชน และนักเคลื่อนไหวเพื่อสังคม มักใช้วิธีการจัดทำสื่อสิ่งพิมพ์ เช่น ใบปลิว แผ่นพับ โปสเตอร์ และหนังสือ เป็นต้น ขึ้นด้วยตนเอง เพื่อถ่วงดุลข้อมูลข่าวสารจากภาครัฐและเอกชน ที่เรียกว่า “สื่อทางเลือก” (Alternative Medias) แต่วิธีดังกล่าวนี้ คงเป็นเรื่องใหญ่โตซับซ้อน เกินกำลังที่พลเมืองจะทำได้โดยลำพัง
การแจ้งเบาะแสข่าวแก่สื่อมวลชนกระแสหลัก
ในยุคแรกของการผลิตหนังสือพิมพ์ กองบรรณาธิการจะเป็นฝ่ายสืบค้นข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนเบาะแสของข่าวต่างๆ ด้วยตนเอง รวมถึงนำเสนอเนื้อหาที่ตนหามาได้ ลงในพื้นที่ของหนังสือพิมพ์เอง ส่วนผู้อ่านเป็นเพียงลูกค้าผู้ซื้อหนังสือพิมพ์แต่เพียงเท่านั้น
ต่อมา เริ่มมีผู้อ่านที่ได้เบาะแสของข่าวใดข่าวหนึ่ง หรือทราบเรื่องราวต่างๆ ที่เขาคิดว่าน่าสนใจ จึงรวบรวมข้อมูลเหล่านั้นมาเสนอกับกองบรรณาธิการ ด้วยการส่งเป็นจดหมายไปยังสำนักงานหนังสือพิมพ์ ซึ่งนับเป็นการเริ่มกระบวนการใหม่ สวนทางจากผู้รับสารไปยังสื่อมวลชน
จากนั้น กองบรรณาธิการก็จะนำข้อมูลที่ผู้อ่านส่งมา เข้าสู่ที่ประชุมเพื่อปรึกษาหารือกัน เช่นเดียวกับข้อมูลที่ได้มาจากกระบวนการสืบค้นข้อมูลข่าวสาร โดยผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์เอง ส่วนจะได้รับการพิจารณาหรือไม่ อยู่ที่กองบรรณาธิการจะเห็นว่า ข้อมูลเหล่านั้นมีคุณค่าข่าวเพียงพอจะนำลงตีพิมพ์หรือไม่
จดหมายถึงบรรณาธิการ
หลังจากมีผู้อ่านจำนวนหนึ่ง เสนอข้อมูลที่ตนทราบมา กับหนังสือพิมพ์โดยตรง ทั้งยังมีผู้ส่งเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากมองเห็นช่องทางที่ข้อมูล หรือปัญหาของตน จะได้รับการนำเสนอผ่านสื่อมวลชนกระแสหลัก ที่เป็นส่วนช่วยให้พวกเขามีความหวังว่า ปัญหาของเขาจะได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง รวมถึงการที่กองบรรณาธิการในบางฉบับ มีค่าตอบแทนให้กับผู้ส่งข้อมูล ที่ได้รับพิจารณาให้ลงตีพิมพ์ในหน้าหนังสือพิมพ์ แม้จะเป็นจำนวนไม่มากนัก แต่ก็สร้างความสนใจให้กับผู้อ่านบางส่วนทีเดียว
จดหมายถึงบรรณาธิการ
หลังจากมีผู้อ่านจำนวนหนึ่ง เสนอข้อมูลที่ตนทราบมา กับหนังสือพิมพ์โดยตรง ทั้งยังมีผู้ส่งเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากมองเห็นช่องทางที่ข้อมูล หรือปัญหาของตน จะได้รับการนำเสนอผ่านสื่อมวลชนกระแสหลัก ที่เป็นส่วนช่วยให้พวกเขามีความหวังว่า ปัญหาของเขาจะได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง รวมถึงการที่กองบรรณาธิการในบางฉบับ มีค่าตอบแทนให้กับผู้ส่งข้อมูล ที่ได้รับพิจารณาให้ลงตีพิมพ์ในหน้าหนังสือพิมพ์ แม้จะเป็นจำนวนไม่มากนัก แต่ก็สร้างความสนใจให้กับผู้อ่านบางส่วนทีเดียว
จากจุดนี้ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์บางฉบับ จึงมีดำริในการเปิด “กล่องรับจดหมายส่วนตัว” ให้ผู้อ่านที่ต้องการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ตลอดจนเพื่อเสนอข้อมูลต่างๆ ที่ตนมีอยู่ เช่นที่เคยส่งไปในยุคก่อนหน้านี้ โดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาจากกองบรรณาธิการเสียก่อน แต่เปลี่ยนรูปแบบเป็นการนำเสนอในรูปของคอลัมน์ “จดหมายถึงบรรณาธิการ” (Letter to The Editor) ซึ่งเนื้อหาจะเป็นการนำจดหมายมาลงตีพิมพ์ทีละฉบับ ต่อด้วยคำตอบจากบรรณาธิการ หรือบุคคลอื่นที่บรรณาธิการมอบหมาย ซึ่งมักเป็นกองบรรณาธิการ
นับเป็นช่องทางใหม่ที่วิวัฒนาการขึ้นมาอีกขั้น สำหรับพื้นที่ของพลเมืองในสื่อกระแสหลัก ทั้งนี้ ปรากฏการณ์ดังกล่าวเริ่มเกิดขึ้นในต่างประเทศก่อน แล้วจึงแพร่หลายมายังประเทศไทย ในระยะต่อมา
ข่าวที่ไม่เป็นข่าว
นับจากนั้น ความสัมพันธ์ระหว่าง สื่อมวลชนกระแสหลัก กับพลเมือง ก็ดำเนินไปเช่นนั้นเป็นเวลานาน จนกระทั่ง มหาวิทยาลัยโซโนมา สหรัฐอเมริกา ได้ริเริ่ม โครงการ Project Censored ซึ่งทำการจัดอันดับข่าวที่มีผลกระทบกับคนส่วนใหญ่ในสังคม แต่กลับถูกเซ็นเซอร์จากสื่อมวลชนกระแสหลัก
ข่าวที่ไม่เป็นข่าว
นับจากนั้น ความสัมพันธ์ระหว่าง สื่อมวลชนกระแสหลัก กับพลเมือง ก็ดำเนินไปเช่นนั้นเป็นเวลานาน จนกระทั่ง มหาวิทยาลัยโซโนมา สหรัฐอเมริกา ได้ริเริ่ม โครงการ Project Censored ซึ่งทำการจัดอันดับข่าวที่มีผลกระทบกับคนส่วนใหญ่ในสังคม แต่กลับถูกเซ็นเซอร์จากสื่อมวลชนกระแสหลัก
การเซ็นเซอร์ข่าว หรือการทำให้ข่าวไม่เป็นข่าว มีสาเหตุจากหลายปัจจัย เช่น อิทธิพลทางการเมือง นโยบายของรัฐ อำนาจทุนในกระบวนการโฆษณาเชิงธุรกิจ ค่านิยมของสังคม หรือแม้แต่ตัวสื่อมวลชนเอง ดังนั้น หากมีการรวบรวมข่าวเหล่านี้เผยแพร่สู่สาธารณชน ก็นับเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันทางความรู้ ให้เท่าทันสื่อมวลชน พร้อมกระตุ้นเตือนให้ตระหนักว่า การนำเสนอข่าวสารที่ถูกต้องครบถ้วน และเป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมนั้น มีความสำคัญอย่างไร
ด้วยความมุ่งหวังจะผลักดันให้พัฒนากระบวนการนำเสนอ ข่าวสารภาคประชาชน ที่ให้แง่คิดมุมมองใหม่ๆ มากกว่าที่นำเสนออยู่ ในสื่อมวลชนกระแสหลักทุกวันนี้ กลุ่มบุคลากรจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ โครงการสื่อสันติภาพ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ศูนย์ข่าวสารสันติภาพ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, คณะกรรมการเผยแพร่ และส่งเสริมงานพัฒนา (ผสพ.), นิตยสารปาจารยสาร, กลุ่มผู้บริโภคสื่อ, สถาบันพัฒนาการเมือง ได้รวมตัวกันปรึกษาหารือที่สวนเงินมีมา เมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๕๔๒
ผลจากการสนทนาในครั้งนั้น ส่งผลให้เกิดการก่อตัวของ โครงการข่าวที่ไม่เป็นข่าว โดยมี ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ (อาจารย์ย่า) เป็นประธานโครงการ พร้อมทั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จากหลากหลายสาขาวิชา เช่น ศาสตราจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์, รองศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม, ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, นายชยันต์ วรรธนะภูติ, นางผุสดี ตามไท, นางสาวสนิทสุดา เอกชัย, นายสุรสีห์ โกศลนาวิน เป็นต้น ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ จะทำหน้าที่ในการพิจารณา คัดสรร และจัดอันดับข่าวที่ไม่เป็นข่าว เพื่อสรุปนำเสนอต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก ในราวเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔
เมื่อได้ผลสรุป จึงมีการนำเสนอประเด็น “ข่าวที่ไม่เป็นข่าว” ออกมาจำนวน ๑๐ ประเด็น ได้แก่ ประเด็นผงชูรส, เขื่อนราษีไศล, เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์, เหมืองแร่คลิตี้, การจัดสรรงบประมาณเพื่อผู้หญิง, ผู้เจ็บป่วยจากการทำงาน, พม่า, การเป็นเจ้าของสื่อ, พืชตัดต่อพันธุกรรม (GMOs) และประเด็นทางพลังงาน
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากข้อจำกัดหลายประการ จึงมีข่าวที่เสร็จสมบูรณ์เพียง ๖ เรื่อง คือ ผงชูรส กับกระบวนการสร้างความลวงในสังคมไทย, เขื่อนราษีไศล: ราคาที่ต้องจ่าย เพื่อความ “เป็นข่าว”, เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์: ความเดือดร้อนต้องห้าม, พม่า: รากอันหยั่งลึกของการไม่เป็นข่าว, การเป็นเจ้าของสื่อ: ข่าวที่ไม่เป็นข่าว โดยความสมัครใจของเจ้าของสื่อ และ ชะตากรรมร่วมของคนค้านท่อ และสังคมไทยในความเป็น และไม่เป็นข่าว: กรณีโครงการท่อส่งก๊าซไทย-มาเลเซีย[๑]
โครงการดังกล่าว นับเป็นจุดเริ่มต้นอย่างจริงจัง ในการเปิดพื้นที่สื่อมวลชนกระแสหลัก เพิ่มเติมให้กับการเสนอข่าวสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าวข้างต้น
---------------------------------------------------------------------------------------------
[๑] ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการ, “ข่าวที่ไม่เป็นข่าว”, พิมพ์ครั้งที่ ๑ (กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์เดือนตุลา, ๒๕๔๔)