โอเคเนชั่น ‘ทุกคน’ เป็นนักข่าว (เนชั่น) ได้?
จาก: ฅนข่าวเท้าติดดิน
โดย: ภัทรพล สุธาวุฒิไกร
หากจะกล่าวถึงเว็บไซต์ที่รวมเว็บล็อก ว่าด้วยข่าวสารบ้านเมืองสัญชาติไทยแล้ว คงต้องให้เครดิตกับ “โอเคเนชั่น” ว่าเป็นแห่งแรก และแห่งเดียวจนถึงขณะนี้ ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด ในการให้ความสำคัญกับประเด็นนี้เป็นหลัก เนื้อหาในบทนี้ จะช่วยให้คุณรู้ลึกรู้จริง เกี่ยวกับบริการเว็บล็อกของเครือเนชั่นแห่งนี้
สามหมอตำแย ทำคลอดโอเคเนชั่น
จากแนวคิดของ อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ บรรณาธิการข่าว เนชั่นแชนแนล ที่มองเห็นสถานการณ์บนโลกออนไลน์ ตั้งแต่ก่อนการรัฐประหาร ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ แล้วสรุปว่าค่อนข้างน่าห่วง โดยให้เหตุผลว่าในปัจจุบัน บรรยากาศของการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเชิงสร้างสรรค์ ในเว็บบอร์ดหลายแห่ง เช่น “ราชดำเนิน พันทิปคาเฟ่” ซึ่งนับว่าเป็นเวทีเสรีประชาธิปไตย ที่มีชื่อเสียงบนออนไลน์ และมักมีบทบาทในการวัดกระแสพลเมือง ต่อปัญหาต่างๆ ในสังคม
แต่เขาเห็นว่า ชุมชนออนไลน์เหล่านี้ เริ่มไม่เป็นสถานที่สาธารณะ ในการแสดงความเห็นอีกต่อไป รวมถึงบรรยากาศของการถกเถียงอย่างสร้างสรรค์ บนพื้นฐานของการเคารพความคิดเห็นที่แตกต่าง ได้กลายเป็นอดีตไปเสียแล้ว ทั้งในโลกเสมือนจริงและโลกความจริง เขารู้สึกเสียดายที่ความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งเกิดขึ้นในยุคที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ทำลายรากฐานทางประชาธิปไตยลงอย่างสิ้นเชิง (แต่ไม่ยักตั้งคำถามว่า ใครกันที่ทำให้กลายเป็นเช่นนี้ไปได้ หากตอบถูกต้องแล้ว ก็จะทราบเองว่า ผู้นั้นเองเป็นผู้ทำลาย)
อดิศักดิ์จึงเสนอกับ สุทธิชัย หยุ่น บรรณาธิการอำนวยการ เครือเนชั่น ถึงความหวังในการสร้างเว็บไซต์รูปแบบใหม่ บนแนวคิดของความเป็นบล็อก ซึ่งผสมผสานกับแนวทางของผู้สื่อข่าวพลเมือง คือทุกคนเป็นนักข่าวได้ อย่างลงตัว
“ก็ลองเอาไอเดียสองอย่าง บล็อกกับผู้สื่อข่าวพลเมืองมารวมกัน แต่ตอนนั้นยังไม่ตกผลึก ว่าจะออกมาแบบไหน มาตกผลึกก็เรื่องการเมือง จากกระแสเว็บบอร์ด ที่ทำให้ประชาธิปไตยออนไลน์หายไป มีการถล่มกันเลอะเทอะ จากที่สังคมบนออนไลน์เคยเป็นตัววัดกระแสสังคม ถึงขนาดเคยทำให้หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ต้องออกมาขอโทษ กรณีเอารูปส่วนตัวที่โพสต์ไปตีพิมพ์ เว็บบอร์ดช่วยตรวจสอบสังคม จนสื่อหลักก็เริ่มยอมรับ”
เมื่อโครงการเป็นรูปร่างแล้ว อดิศักดิ์จึงลองส่งอีเมลต้นร่างโครงการนี้ ไปยังบุคลากรในเครือเนชั่นเองก่อน ซึ่งผู้ที่ตอบรับเรื่องนี้เป็นคนแรกก็คือ ชาลี วาระดี บรรณาธิการข่าวต่างประเทศ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจในขณะนั้น[๑]
“ผมเคยทำงานที่กรุงเทพธุรกิจนะ เป็นบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ ก็จำเป็นต้องอ่านข่าวสาร เกี่ยวกับเทคโนโลยีในต่างประเทศอยู่แล้ว ก็เลยเกิดความสนใจในสื่อใหม่ คือสื่อภาคประชาชน ก็สนใจมานานแล้วล่ะ อยากจะทำ พอดีคุณอดิศักดิ์ มีไอเดียจะทำบล็อกที่เป็นสื่อพลเมือง เลยเสนอตัวมาทำ ก็พอมีประสบการณ์ จากหนังสือพิมพ์นี่แหละ มาช่วยในการเป็นบรรณาธิการ” ชาลีจึงเข้ารับตำแหน่ง บรรณาธิการสื่อใหม่ (นิว มีเดีย) ของเครือเนชั่น จึงนับได้ว่า เขาเป็นผู้ร่วมบุกเบิก “โอเคเนชั่น” มาตั้งแต่ต้น
สองปีครึ่ง-ห้าหมื่นสมาชิก
พ็อกเก็ตบุ๊ก “Citizen Reporter นักข่าวพันธุ์ใหม่” |
จากนั้น เครือเนชั่นก็ทดลองเปิดเว็บไซต์ www.oknation.net เพื่อให้ทุกคนเข้ามาสร้าง “บ้านส่วนตัว” รวมกันเป็นชุมชนออนไลน์ รูปแบบใหม่และแห่งใหม่ ที่ให้อิสระในการเขียน ตลอดจนตกแต่งหน้าบล็อก บนพื้นฐานของการเคารพสิทธิส่วนบุคคล และเคารพความเห็นที่แตกต่างของผู้อื่น
เครือเนชั่น เปิดบริการเว็บล็อกแบบไม่เสียค่าใช้จ่าย ในเว็บไซต์นามว่า “โอเคเนชั่น” เป็นครั้งแรก ในลักษณะทดลองระบบ เมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ ก่อนจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ หรืออีกสามเดือนถัดมา โดยมีสุทธิชัย ลงมาเป็น “พรีเซ็นเตอร์” ให้ด้วยตนเอง โดยเริ่มต้นเปิดบล็อก และเขียนข่าวเป็นกลุ่มแรกๆ ตลอดจนโฆษณาสร้างกระแส ให้วารสารศาสตร์พลเมืองเติบโตในเมืองไทยอีกด้วย
ปัจจุบัน (นับถึงพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๒) “โอเคเนชั่น” มีอายุประมาณสองปีครึ่ง ยอดจำนวนสมาชิกทะลุหลัก ๕๐,๐๐๐ คนไปแล้ว ส่วนเรื่องราวต่างๆ ที่ลงในแต่ละเว็บล็อก มีถึงประมาณ ๓๕๐,๐๐๐ เรื่อง และเพื่อให้ได้ข้อมูลเบื้องลึกเบื้องหลังมากขึ้น ผู้เขียนจึงนัดสัมภาษณ์กับชาลี ที่อาคารเนชั่น ถนนบางนา-ตราด และต่อไปนี้เป็นสาระสำคัญทั้งหมด ของการสัมภาษณ์ในครั้งนั้น
ความเป็นมาของโอเคเนชั่น
โอเคเนชั่นเกิดขึ้น เพราะมีความพร้อมในสองมิติ หนึ่งคือ การแสดงความคิดเห็นของภาคประชาชน ในระยะหลังนี้จะสังเกตได้ว่า ประชาชนอยากแสดงความคิดเห็นในเรื่องปรากฏการณ์ทางสังคม แม้กระทั่งเรื่องการเมืองและสิ่งแวดล้อม แต่ไม่มีพื้นที่ดำเนินการ สองคือ เทคโนโลยีเข้ามารองรับการทำงาน หรือกลไกของสื่อภาคประชาชน เมื่อทั้งสองตัวรวมกัน ทำให้เกิดเว็บไซต์ที่สื่อภาคประชาชน หมายถึงคนทั่วไปที่สนใจข่าวสารบ้านเมือง หรือสนใจทำงานนักข่าวอาสา หรือนักข่าวภาคพลเมือง มีที่ทางให้เข้าใช้บริการได้
ซึ่งทางเนชั่นมองเห็นปรากฏการณ์ ความเคลื่อนไหวของทั้งสองอย่าง ทั้งการแสดงความคิดเห็นของภาคประชาชน ที่ต้องการเข้ามามีบทบาทในการรณรงค์ หรือการขับเคลื่อนสังคมต่างๆ แล้วก็เทคโนโลยีของสื่อ ซึ่งเทคโนโลยีที่สื่อนำมาใช้ประโยชน์ ทำให้เกิดเป็นบล็อกขึ้นมา หมายถึงใช้บล็อก ใช้เว็บไซต์ เป็นเครื่องมือในการทำงาน ของสื่อภาคประชาชน
อันนี้เราก็มีประสบการณ์ หรือเคยศึกษางานจากเว็บไซต์โอมายนิวส์ (ดูเพิ่มจากเนื้อหาในบทที่ ๐๕) ที่เป็นเว็บไซต์นักข่าวพลเมืองของทางเกาหลีใต้ อันนี้ไม่ได้เป็นบล็อก คนที่เขียนเรื่องส่งไป เขาต้องมีกฎปฏิบัติ มีกติกาอยู่เหมือนกัน เรียกว่าจริยธรรมนักข่าวพลเมือง ว่าเรื่องที่ส่งเข้ามาต้องเป็นเรื่องจริงนะ ไม่ได้คัดลอกใครเขามา เป็นเรื่องจากพื้นที่ อะไรอย่างนี้ แล้วเขาก็พิจารณาเรื่องต่างๆ ไปนำเสนอในเว็บไซต์เขา
แต่โอเคเนชั่นเนี่ย เราพิจารณาเรื่องจากที่บล็อกเกอร์เข้ามาเขียน ของเราจะเป็นบล็อก ในประเทศไทยนี่ก็มีบล็อกอยู่เยอะ มีของบล็อกแก๊ง เอ็กซ์ทีน แล้วก็ – ไฮไฟฟ์ก็เป็นบล็อก แต่ของเราเป็นบล็อกข่าว ฉะนั้นเมื่อเขามาเขียนบล็อก เราก็พิจารณาจากเรื่องที่เขาเขียนว่า เรื่องนี้น่าสนใจ เราก็จะมีพื้นที่ของกองบรรณาธิการ ที่จะนำเสนอเรื่องตรงนี้
ลักษณะเฉพาะตัวของโอเคเนชั่น
ก็คือสโลแกน “ทุกคนเป็นนักข่าวได้” สมาชิกทุกคนเข้ามาเขียนได้ มีพื้นที่เสรีให้ใช้ คือคำว่าบล็อกเกอร์ กับนักข่าวพลเมือง มันต่างกันนะ เพราะนักข่าวพลเมืองนี่ อาจจะเป็นบล็อกเกอร์ก็ได้ คือใช้พื้นที่ของบล็อก มานำเสนอข่าวของตัวเอง ก็เรียกว่าบล็อกเกอร์ แต่บล็อกเกอร์บางคน ไปเขียนเรื่องไดอารี ซึ่งไม่ใช่นักข่าวพลเมือง ฉะนั้นเราเปิดกว้าง ให้ความหลากหลาย แต่เราจะสนใจ และให้ความสำคัญกับบล็อก ที่เป็นนักข่าวพลเมือง
ทำไมต้องใช้เว็บไซต์ ก็เป็นการแสดงตัวตนไง พอได้ข่าวได้ภาพมา ก็อยากลงภาพเป็นส่วนของตัวเองใช่ไหม เมื่อก่อนนี้ไม่มีพื้นที่ให้ แต่ตอนนี้มันมี คือคุณไม่ได้เป็นเจ้าของทีวีนี่ ถ้าส่งภาพไป แน่ใจว่าเขาจะลงให้ไหม ก็ไม่ได้เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์นี่ แต่ถ้ามีเว็บไซต์ก็เอาลงไป แล้วก็ส่งไปให้สื่อ หรือผมในฐานะบรรณาธิการ ดูแล้วน่าสนใจ มีประโยชน์กับสาธารณะ ก็นำเสนอให้กับสื่อต่างๆ เอาไปเล่น ก็ไปต่อยอดได้
แล้วผมคิดว่า มีความสำคัญค่อนข้างมากนะ เนื่องจากเร็วและสดกว่าทีวีกับหนังสือพิมพ์เยอะมาก ผลกระทบและอิทธิพลก็ต่างกันแล้ว ผมว่าในอนาคต อยากให้สื่อมวลชนไทยให้ความสนใจ กับสื่อภาคประชาชนให้มากขึ้น ที่ผ่านมาผมคิดว่าน้อยนะ ยกเว้นเครือเนชั่นเรา แล้วก็ผู้จัดการที่มีบล็อก ส่วนที่อื่นยังให้ความสำคัญ กับความคิดเห็นจากนักข่าวพลเมืองน้อยมาก น้อยเกินไปด้วยซ้ำ
การควบคุมเนื้อหาของแต่ละบล็อก
ผมจะเป็นคนรีไรท์ ทุกเรื่องในบล็อกเนี่ย จะผ่านตาผมเกือบหมดแหละ ผมก็จะต้องอ่านว่า พาดหัวโอเคไหม “ไอ้ตู่” (นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำคนเสื้อแดง) อย่างนี้ ที่หนังสือพิมพ์ผู้จัดการเขาพาดหัวนี่ ในโอเคเนชั่นไม่อนุญาต ผมคิดว่ามันไม่เหมาะสม แม้เขาจะคัดลอกข่าวของผู้จัดการมาลง แต่ผมก็ไม่อนุญาต มันผิดจรรยาบรรณของผู้สื่อข่าว เขาก็ถามว่าทำไมผู้จัดการลงได้ – คุณก็ไปเขียนกับผู้จัดการสิ ที่นี่เนชั่น เรามีจรรยาบรรณค่อนข้างจะเข้มงวดกว่า
เพราะฉะนั้นในบล็อกโอเคเนชั่น ก็จะค่อนข้างมีคุณภาพ แล้วก็มีวุฒิภาวะ เพราะผมจะค่อนข้างเข้มงวด ตั้งแต่แรกที่เปิดมาเนี่ย ผมไม่เคยปล่อยให้มีการด่ากันหยาบคายนะ คือมันต้องมีศิลปะในการเขียนวิพากษ์วิจารณ์ ถ้าไปเขียนที่ไฮไฟฟ์ ที่เสรีไทย ที่พันทิปราชดำเนิน แล้วจะมาเขียนที่โอเคเนชั่นด้วยภาษาเดียวกันไม่ได้ จะต่างกันที่จรรยาบรรณนี่แหละ ฉะนั้นพอผมเข้มงวด ยอมเหนื่อยตั้งแต่แรก พอเริ่มปักหลักได้แล้วเนี่ย ก็จะเริ่มมีคนเจริญรอยตามแบบอย่างของวุฒิภาวะ แล้วก็จะเป็นสังคมที่คุยกันรู้เรื่อง
นอกจากมีกฎระเบียบแล้วนี่ เขาก็ต้องเรียนรู้จากสังคม และต้องดูแลตัวเองด้วย เพราะฉะนั้นถ้าอยากอยู่ในสังคมที่สร้างสรรค์ ประการแรกเลย ต้องทำตัวเองให้สร้างสรรค์ก่อน อยากอยู่ในสังคมที่มีวุฒิภาวะ ตัวเองก็ต้องเป็นผู้มีวุฒิภาวะให้กับคนอื่น จึงจะได้วุฒิภาวะกลับมา
ชาลี วาระดี บรรณาธิการ “โอเคเนชั่น” |
ตัวอย่างเว็บล็อกสื่อพลเมืองในโอเคเนชั่น
อย่างเช่น “โอเคเนเจอร์” มีเนื้อหาเกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ ต่อต้านการเซ้งอุทยานแห่งชาติ เขาก็จะนัดสัมภาษณ์หัวหน้าอุทยานแห่งชาติตะรุเตา ที่เป็นคนฟ้องรีสอร์ตซึ่งบุกรุกพื้นที่ของเกาะอาดัง เพื่อไปสร้างรีสอร์ต ๘๐ ล้าน อะไรอย่างนี้ เสร็จก็มาเขียนเป็นประเด็นข่าวเลย และนอกจากเวอร์ชั่นที่เขียนเป็นข่าวเรียบร้อย มีพาดหัว มีเขียนโปรย มีสรุปประเด็น มีถอดเทปออกมาแล้ว ยังมีเป็นคลิปวิดีโอให้ดูอีก แล้วเขายังระมัดระวังเรื่องการใช้ภาษาไม่ให้ถูกฟ้องร้องอีก ฉะนั้นก็จะเกิดการพัฒนาต่อไป
สื่อกระแสหลักบางฉบับ ผมว่าไม่สนใจที่จะไปสัมภาษณ์แล้วก็ทำเรื่องนี้ด้วยซ้ำไป เขาลงพื้นที่ไปเกาะตะรุเตา ไปดูพื้นที่จริง ไปถ่ายรูปรีสอร์ตซึ่งล่วงล้ำพื้นที่อุทยานแห่งชาตินี่ ไปถ่ายรูปปะการังที่ได้รับความเสียหาย เขาก็ปรึกษาผมว่าจะเล่นประเด็นอะไร จะมีกี่เรื่อง ได้เรื่องอะไรมาบ้าง เอาเรื่องมากองกัน เรามีภาพ เรามีวิดีโอ เราก็จะเล่นประเด็นนี้ๆ ก็มีกระบวนการกองบรรณาธิการเกิดขึ้น
บล็อกเกอร์รู้สึกว่าตนเองอยู่ร่วมสถาบันเนชั่น
ก็เป็นไปได้ว่าจะมีแฟนคลับของเครีอเนชั่นมาเขียนเยอะ แต่ผมคิดว่ามีแฟนคลับผู้จัดการมาเขียนมากกว่า คงมีแฟนคลับผู้จัดการกับเนชั่นอยู่พอๆ กัน
ความเกี่ยวข้องระหว่างโอเคเนชั่น กับนักข่าวชุมชนของคมชัดลึก (โดยลุงแจ่ม)
ก็เป็นลักษณะของคอลัมนิสต์ ที่เปิดให้ผู้อ่านส่งจดหมายเข้ามาร้องทุกข์ที่คมชัดลึก แล้วก็สอบถามกับผู้เกี่ยวข้อง ได้คำตอบก็ลงในคมชัดลึก แต่ถ้าเป็นบล็อก ก็สามารถส่งเข้ามาทางบล็อกได้ มันขึ้นอยู่กับว่า ประชาชนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตหรือเปล่า หรือรู้จักไหม หากประชาชนนั้นเป็นบล็อกเกอร์ ก็สามารถเขียนปัญหานั้นลงบล็อกได้เอง
ก่อนหน้านี้ ลุงแจ่มก็มีบล็อกนะ พอเวลาชาวบ้านมีเรื่องอะไร ก็เอามาลงบล็อก แต่ก็ขาดการติดต่อเชื่อมโยง อาจเพราะคนดำเนินการมีน้อย เขาก็เลยไม่ได้มาตอบ ระยะหลังเลยไม่ได้อัพบล็อก ก็เลยเงียบไป มีเฉพาะในหนังสือพิมพ์อย่างเดียว แต่ผมคิดว่าน่าสนใจ เพราะวิธีการง่ายกว่า เร็วกว่า ถ้าลุงแจ่มมีบล็อก หรือมีเว็บไซต์ ผมคิดว่าคนที่มีอินเทอร์เน็ตจะส่งมาทางนี้มากกว่า ทุกคนที่มีความเดือดร้อน เขาอยากได้เร็วๆ ทั้งนั้นแหละ
ความหมายของผู้สื่อข่าวพลเมือง
ผู้สื่อข่าวพลเมืองก็คือ ประชาชนที่สนใจข่าวสารบ้านเมือง เช่นว่าเมื่อมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น ก็สามารถรายงานเหตุการณ์นั้น เข้ามาในเว็บไซต์ของเรา ผ่านอุปกรณ์และเทคโนโลยีส่วนตัวทุกอย่างที่มี ถ้ามีกล้องดิจิตอลหรือกล้องมือถือ ก็เอาภาพนิ่งมาลงในบล็อก
ส่วนเนื้อหา ต้องเป็นประโยชน์กับสาธารณะและสร้างสรรค์ สามารถเกิดการแสดงความคิดเห็นที่หลากหลายได้ อย่างเช่นกรณีต่อต้านการขยายถนน และการวางผังเมืองเชียงใหม่ เวลามีการประชุมกัน คนในพื้นที่ก็จะเข้าไปทำข่าว แล้วเอามารายงานในบล็อกของเขา นี่คือธรรมชาติของนักข่าวพลเมือง คือเริ่มจากนำเสนอเรื่องที่สนใจ
แต่ไม่ใช่ว่าผมในฐานะบรรณาธิการมอบหมายให้ไปทำ อย่างนี้ไม่ใช่วารสารศาสตร์พลเมือง มันเกิดจากธรรมชาติที่มีคนส่งข้อมูลมาให้ แต่เราสามารถให้คำปรึกษาเกี่ยวกับวิธีการส่ง รูปแบบการนำเสนอ พาดหัว การเขียนโปรยข่าว การเขียนเนื้อเรื่องควรเป็นอย่างไร แต่ไม่ใช่บอกให้ทำเรื่องนั้นเรื่องนี้
ยังมีอีกหลายช่องทาง โทรศัพท์เข้าไปรายงานวิทยุ รายงานทีวี หรือให้สัมภาษณ์นักข่าว แล้วก็เอาไปออกทีวี ลงหนังสือพิมพ์ ก็เป็นนักข่าวพลเมือง แต่ไม่สามารถแสดงตัวตน ว่าเป็นนักข่าวพลเมือง แล้วก็ต้องทำงานจริงจังนะ ไม่ใช่ว่าเป็นนักข่าวพลเมือง แล้วก็ – คือมีกติกาการเป็นนักข่าวพลเมืองอยู่ แล้วถ้าเกิดคนจะทำงานด้านนี้ ก็ต้องมีที่ทางให้นำเสนอผลงานของตนเอง ถ้าไม่เอาข้อมูลไปใส่ในเว็บไซต์หรือในบล็อก แล้วตัวตนคืออะไรล่ะ มีไหม ก็ไม่เจอ หาไม่เจอน่ะ ไม่ใช่เจ้าของสื่อนี่ ที่จะมีคอลัมนิสต์ประจำ ฉะนั้นกลไกของอินเทอร์เน็ตเลยเปิดกว้างในเรื่องนี้มากกว่า เพราะทุกคนก็สามารถเข้าไปใช้อินเทอร์เน็ตได้
ก่อนหน้านี้ผมก็จะมีจัดอบรม เรื่องการเป็นนักข่าวพลเมืองว่าคืออะไร มีกลไกอะไรบ้าง มันควรจะเป็นอย่างไรบ้าง อะไรเขียนได้เขียนไม่ได้ เรามีทำประจำล่ะครับ อันนี้คือในส่วนที่เป็นเนื้อหานะ ส่วนของการนำเสนอ ทั้งรูปแบบการเขียน การถ่ายภาพ ถ่ายวิดีโอ ก็เป็นเรื่องเทคนิคในการผลิต ก็มีกระบวนการสอนในเรื่องนี้ด้วย
สื่อพลเมืองเหมาะกับสังคมไทยแค่ไหน
ก็เหมาะนะครับ ถ้าไม่เหมาะคงไม่เกิด เพราะเป็นช่องทางที่ประชาชน สามารถแสดงความคิดเห็นได้ทันที และต้องอย่างมีวุฒิภาวะด้วยนะ เพราะสื่อกระแสหลัก ไม่สามารถตอบสนองความต้องการ ของภาคประชาชนได้หมด ประชาชนสามารถคิดอ่าน บางครั้งยังเสนอแนะ ให้แง่คิดดีๆ กับสังคมได้มากกว่าสื่อกระแสหลักด้วยซ้ำไป
อย่างถ้าผู้สื่อข่าวต้องไปทำเรื่องเกี่ยวกับ การรักษาหรือการวินิจฉัยโรค ก็ทำได้แค่ตั้งคำถามกับแพทย์ แต่ถ้าเปลี่ยนเป็น แพทย์คนนั้นเรียนเขียนข่าวแล้วมาเขียนข่าวเองล่ะ จะเขียนได้ลึกกว่าหรือเปล่า และจำเป็นต้องมีนักข่าวอีกไหม เรื่องนี้ก็เป็นการตอบโจทย์ คือคนเขียนมีความน่าเชื่อถือ และมีคุณภาพที่ไม่ด้อยไปกว่าสื่อกระแสหลัก
---------------------------------------------------------------------------------------------
“ความเป็นสื่ออาชีพ เป็นโทษต่อนักข่าวพลเมือง”
ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข
“(การเปิดให้บริการบล็อก) นั่นเป็นวิธีการที่เขาจะปรับตัวเข้าหา เขาก็จะรองรับกับการเป็นนักข่าวพลเมืองเหล่านั้น ในขณะเดียวกัน ความเป็นสถาบันของเนชั่น ก็ไปกดนักข่าวพลเมืองเหล่านี้ คือเขาก็บอกว่า “เราเป็นสื่ออาชีพ” อยู่ตลอดเวลา ขายความเป็นสื่อมืออาชีพอยู่ตลอดเวลา ในขณะเดียวกัน เขาก็ขายความเป็นนักข่าวพลเมืองด้วย มันก็ขัดแย้งกันในตัว คุณบอกว่าเป็นสื่ออาชีพ ความเป็นสื่ออาชีพเนี่ย มัน Blame (เป็นโทษต่อ) นักข่าวพลเมืองในตัว คือพูดง่ายๆ ว่า สำนักข่าวเขาก็ Blame โอเคเนชั่นไปในตัวน่ะ อันนี้แหละเป็นจุดอ่อนของเขา”
“เพราะฉะนั้น อย่างสื่อกระแสหลักเองก็ต้องลดความเป็นอาชีพลง โอเค คุณจะทำข่าวน่าเชื่อถือ รับผิดชอบ เพื่อเป็นตัวแบบให้กับนักข่าวพลเมือง ก็ควรจะไปทางนั้น ควรจะเป็นฐานของนักข่าวพลเมือง แต่เนื่องจากเขามีข้อจำกัด ตรงที่ว่าเขาเป็นธุรกิจ อย่างไรก็ตาม เขาก็ต้องใช้ความเป็นวิชาชีพของเขา มาเป็นจุดแข็งในการทำธุรกิจสื่อมวลชนต่อไป โอเคเนชั่นจึงกลายเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับพลเมือง แบบหวังผลทางธุรกิจ มากกว่าจะเปิดพื้นที่ เพื่อให้มีนัยสำคัญทางสังคมจริงๆ”
---------------------------------------------------------------------------------------------
[๒] อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ, ประชาธิปไตยบนออนไลน์-หายไปไหน? ร่วมสร้างชุมชนใหม่, โอเคเนชั่น, ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐
[๓] ชาลี วาระดี, “คำนำสำนักพิมพ์” ใน Citizen Reporter นักข่าวพันธุ์ใหม่, ปิรันย่า, (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์เนชั่นบุ๊กส์, ตุลาคม ๒๕๕๐), หน้า ๕
[๔] คมชัดลึกออนไลน์, เครือเนชั่นลุยเปิดตัวโอเคเนชั่นดอทเน็ท, ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๐