วันศุกร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2554

ฅนข่าวเท้าติดดิน: บทที่ ๑๐ สื่อพลเมืองปัจเจก ต้นทางวารสารศาสตร์พลเมือง



สื่อพลเมืองปัจเจก :
ต้นทางวารสารศาสตร์พลเมือง

จาก: ฅนข่าวเท้าติดดิน
โดย: ภัทรพล สุธาวุฒิไกร

ก่อนที่จะเกิดสื่อพลเมือง ในรูปองค์กรต่างๆ ดังที่อธิบายไว้ในหลายบทก่อนหน้านี้ ทั้งในต่างประเทศ และในเมืองไทย ต่างก็เริ่มต้นมาจาก การเป็นผู้สื่อข่าวพลเมืองด้วยตนเอง ไม่ได้ขึ้นกับองค์กรใด เปิดเว็บล็อกกับผู้ให้บริการที่ไม่มีอิทธิพลครอบงำ เพื่อเสนอในสิ่งที่ตนต้องการโดยอิสระ

ซึ่งผู้คนต่างๆ เหล่านี้ ยังคงเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง ต่อไปนี้เป็นบุคคลผู้บุกเบิก และมีชื่อเสียงจากกระบวนการผลิตข่าวสารภาคพลเมือง

บ.ก.ลายจุด
สมบัติ บุญงามอนงค์
“หนูหริ่ง” หรือ “บ.ก.ลายจุด” 
เป็นนามแฝงที่ สมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้ก่อตั้ง และประธานมูลนิธิกระจกเงา ผู้ก่อตั้งบ้านนอกทีวี แกนนำกลุ่ม ๑๙ กันยาฯ ต้านรัฐประหาร และแกนนำรุ่นที่ ๒ ของแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) ที่ได้รับการแต่งตั้ง หลังจากที่แกนนำรุ่นแรก เข้ารายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ กรณีเคลื่อนขบวนไปชุมนุม หน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ แล้วถูกจับกุม

สมบัติเริ่มทำงานอาสาสมัคร ตั้งแต่อายุได้ ๒๐ ปีเศษ โดยเป็นสมาชิก อาสาสมัครละครเพื่อการพัฒนาเยาวชน (มะขามป้อม) สังกัดกลุ่มสื่อชาวบ้าน เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๑ มีชื่อเล่นในกลุ่มเพื่อนว่า “หนูหริ่ง”

เมื่อเกิดรัฐประหารโดย คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๔ เขาร่วมกับเพื่อน ๕ คน เคลื่อนไหวทำกิจกรรมทางการเมือง โดยรณรงค์ต่อต้านรัฐประหาร และเรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึก

ต่อมาในปลายปีนั้น เขาและเพื่อนกลุ่มเดิมร่วมกันก่อตั้ง “กลุ่มศิลปวัฒนธรรมกระจกเงา” ซึ่งได้รับอนุญาตให้เข้าเป็นโครงการ ในมูลนิธิโกมลคีมทอง เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๕ และต่อมาจัดตั้งเป็น “มูลนิธิกระจกเงา”[๑] ในระยะแรกทางกลุ่มฯ จัดกิจกรรมการแสดงละครเพื่อสังคม ถึงประมาณ ๑๕๐ รอบต่อปี และจัดกิจกรรมค่ายเยาวชน ในชุมชนและโรงเรียนทั่วประเทศ ปีละกว่า ๓๐ ครั้ง

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ เริ่มมีประชาชนทั่วไปส่วนหนึ่ง มีคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลในครอบครอง และสามารถเข้าถึงการใช้งานได้ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกระบวนการสื่อสาร และระบบข้อมูลข่าวสาร กลุ่มฯกระจกเงาจึงเริ่มศึกษาและพัฒนางาน เชิงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ด้วยการเปิดเว็บไซต์ของเอ็นจีโอสัญชาติไทยแห่งแรกคือ “www.thebangkok.com” (แต่ภายหลังเปลี่ยนเป็น www.bannok.com) ตลอดจนพยายามส่งเสริมให้ปฏิบัติงานพัฒนาสังคม ด้วยการใช้ไอซีที[๒]

จากนั้นในปี พ.ศ. ๒๕๔๓ มูลนิธิกระจกเงาจัดทำโครงการสนับสนุนการผลิตรายการโทรทัศน์ภายในหมู่บ้าน โดยผลิตร่วมกับชาวบ้านในท้องถิ่น เพื่อเข้าร่วมประกวดในงาน “วันนวัตกรรม” (Innovation Day) และได้รับการคัดเลือกให้จัดทำโครงการ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากธนาคารโลก ซึ่งนำมาใช้จัดหาและติดตั้งอุปกรณ์ ตลอดจนจัดการอบรมบุคลากรชุมชนขาวเขา ที่อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย อันเป็นพื้นที่ปฏิบัติงานตามโครงการ ในปีต่อมา (พ.ศ. ๒๕๔๔)

๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ “บ้านนอกทีวี” สถานีโทรทัศน์ชุมชนแห่งแรกในประเทศไทย เริ่มออกอากาศอย่างเป็นทางการ โดยในระยะแรกทำการแพร่ภาพ ทุกวันจันทร์-วันเสาร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๐๐ น. ตามที่ชุมชนเสนอไว้ในการประชุมก่อนหน้านั้น และใช้เครื่องส่งสัญญาณกำลังต่ำขนาด ๕ วัตต์ ในคลื่นความถี่ยูเอชเอฟที่ประกอบขึ้นเอง โดยมีทั้งรายการสดและบันทึกเทป[๓]

“บ้านนอกทีวี เกิดจากการพัฒนาทางเทคโนโลยีดิจิตอล ที่มีผลต่อการผลิตวิดีโอ ทำให้การผลิตรายการโทรทัศน์ง่ายขึ้น เป็นไปได้มากขึ้น แต่อุปสรรคของการผลิตก็ยังมีอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นการคิดรายการ ที่ต้องแข่งขันกับฟรีทีวี เราต้องไม่ลืมว่า ผู้ชมในหมู่บ้านชาวเขาก็มีทางเลือกเหมือนกัน ไม่ใช่มีแต่ช่องที่เราผลิตช่องเดียว อีกทั้งการผลิตรายการสั้นๆ ก็ต้องมีการถ่ายทำ แม้จะอยู่ในพื้นที่ แต่ก็ต้องมีการจัดเตรียมการ รวมถึงการตัดต่อ กว่าออกมาจะเป็นผลงาน” สมบัติเล่าถึงบ้านนอกทีวีโดยสังเขป

“เมื่อโครงการดำเนินไปได้หนึ่งปี ซึ่งก็ตอบคำถามหลักๆ ที่เราอยากรู้ ทั้งด้านกระบวนการเทคนิค การมีส่วนร่วม และเนื้อหาที่เกิดขึ้นของสถานีโทรทัศน์ชุมชน ดังนั้นเมื่อครบกำหนด เราจึงค่อยๆ ลดบทบาทลงในที่สุด ส่วนกรณีที่กรมไปรษณีย์โทรเลขนำหมายมาค้น ไม่เป็นปัจจัยสำคัญที่สุด แต่เพราะทีมงานเห็นว่า ภารกิจในการวิจัยจบสิ้นแล้ว จึงถือโอกาสยุติการถ่ายทอดผ่านคลื่น”

เรื่องราวที่สมบัติกล่าวถึงนั้น เกิดขึ้นในช่วงท้ายของการออกอากาศบ้านนอกทีวี โดยกรมไปรษณีย์โทรเลข ที่เพิ่งแปรรูปเป็นสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ในขณะนั้นขอหมายค้นจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อเข้าตรวจสอบเครื่องส่งโทรทัศน์ของบ้านนอกทีวี ซึ่ง กทช.เห็นว่าขัดต่อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จนถึงกับยึดเครื่องส่งไปเลยทีเดียว

หลังจากนั้น บทบาทที่เกี่ยวข้องกับสื่อพลเมืองของเขาเริ่มขึ้นอีกครั้ง ทันทีที่ พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้า คปค.ทำรัฐประหารเมื่อค่ำวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ (ดูเพิ่มจากเนื้อหาในบทที่ ๐๔) โดยสมบัติจดทะเบียนเปิดเว็บไซต์ www.19sep.net พร้อมทั้งเว็บบอร์ดทันที เพื่อให้พลเมืองเน็ตใช้เป็นช่องทางเผยแพร่ ข้อมูลข่าวสารที่ถูกปิดกั้นทางโทรทัศน์ โดย คปค.ในกลางดึกของคืนนั้นเอง

หน้าแรกของเว็บไซต์ “ศูนย์เฝ้าระวังการรัฐประหารแห่งชาติ”
วันรุ่งขึ้น สมบัติดำเนินการต่อด้วยการก่อตั้ง “เครือข่าย ๑๙ กันยาฯ ต้านรัฐประหาร” ซึ่งนับเป็นองค์กรต่อต้านเผด็จการ คปค.แห่งแรกของเมืองไทย โดยมีแหล่งรวมพลอยู่ภายในเว็บบอร์ด www.19sep.org (ที่เปิดขึ้นใหม่หลังเว็บไซต์เดิมถูกปิดในเช้าวันที่ ๒๐ กันยายน) ต่อจากนั้นเครือข่าย ๑๙ กันยาฯ ก็มีความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ทั้งในโลกไซเบอร์และต่อมาในโลกจริง รวมทั้งยังสร้างปรากฏการณ์ ให้มีผู้ก่อตั้งองค์กรต้านรัฐประหารตามมาอีกมากมาย

ระหว่างนั้น ชื่อของ “บก.ลายจุด” เริ่มปรากฏที่โต๊ะราชดำเนิน “พันทิปคาเฟ่ รวมทั้งใน “ประชาไทเว็บบอร์ด” พร้อมข่าวสารเชิงลึกต่างๆ ทางการเมืองมากมายมาเผยแพร่ นอกจากนี้ เขายังใช้ช่องทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ส่งข่าวให้้สมาชิกที่ลงทะเบียนด้วย เนื่องจากสมบัติอยู่ในเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชน เขาจึงรู้จักผู้คนจำนวนมาก และมักมีความลับต่างๆ มาเปิดเผยอยู่เนืองๆ


หลังจากรัฐบาล พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เครือข่าย ๑๙ กันยาฯ เปลี่ยนชื่อเป็น “ศูนย์เฝ้าระวังการรัฐประหารแห่งชาติ” (www.nocoup.org) โดยกิจกรรมซึ่งเป็นที่จดจำคือ การแจกสติกเกอร์ข้อความ “เบื่อม็อบพันธมิตร” และการออกรณรงค์ให้ประชาชน ลงประชามติไม่รับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ โดยสวมเสื้อสีแดงเป็นสัญลักษณ์ อันเป็นจุดเริ่มต้นของ “กลุ่มคนเสื้อแดง” นั่นเอง

น่าสังเกตว่า การปรากฏตัวขึ้นปราศรัยบนเวทีคนเสื้อแดงหน้าทำเนียบรัฐบาลของเขา เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๒ เวลา ๒๐.๑๕ น. ได้ก่อให้เกิดกระบวนการสื่อพลเมืองอย่างมีนัยสำคัญอีกครั้ง โดยมีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า

“เรามีความเชื่อว่า ประเทศควรให้สิทธิกับพลเมืองทุกคนเท่าเทียมกัน…ทุกประเทศ ทุกสังคม เราพัฒนามาได้เพราะมีพลเมืองที่ดี คือพลังของเมืองที่สร้างเมืองขึ้นมา ไม่ว่าคุณจะเป็นกรรมกร คนขับแท็กซี่ รัฐมนตรี ข้าราชการชั้นผู้น้อยหรือชั้นผู้ใหญ่ เราล้วนแล้วเป็นพลเมือง…เราเป็นผู้สร้างเมือง ผู้หล่อเลี้ยงเมืองให้เคลื่อนไปข้างหน้า”

ปราศรัยกับคนเสื้อแดง
“พี่น้องครับ เราถูกปิดล้อมการสื่อสารสู่มวลชนไปเรียบร้อยแล้ว ด้วยประกาศภาวะฉุกเฉิน ข่าวสารที่ออกเป็นการออกข่าวเพียงด้านเดียว บิดเบือนพวกเรา…ผมขอเสนอวิธีฝ่าวงล้อมข่าวสาร พี่น้องช่วยผมได้ไหมครับ? หยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมา เพื่อส่งข้อความสั้น (เอสเอ็มเอส) พร้อมกันว่า “ด่วน!ทหารเตรียมล้อมปราบประชาชน ส่งต่อ” ถึงคนที่รู้จักเท่าที่จะส่งได้ แล้วให้ผู้รับข้อมูลส่งต่อไปเรื่อยๆ”[๔]

เขาเป็นบุคคลสำคัญอีกคน ที่ขยายการใช้สื่อพลเมืองออกไปในวงกว้าง จนกระชากให้เห็นหมดเปลือก ถึงสิ่งที่ผู้มีอำนาจรัฐกำลังจะใช้กับคนมือเปล่า และในที่สุดก็ไม่สามารถทำในเวลานั้นได้ แต่กลับมาเกิดอีกครั้งในวันรุ่งขึ้น

คนชายขอบ (Fringer)
สฤณี อาชวานันทกุล
เป็นนามแฝงที่ สฤณี อาชวานันทกุล หรือยุ้ย บรรณาธิการเว็บไซต์ โอเพ่นออนไลน์ (www.onopen.com)[๕]  นักเขียนอิสระ นักการเงิน นักวิชาการอิสระ และอาจารย์พิเศษ ใช้เป็นชื่อเว็บไซต์ของตนเอง (www.fringer.org) ที่นำเสนอในรูปแบบเว็บล็อก ซึ่งรวบรวมผลงานเขียนต่างๆ ของเธอไว้

สฤณีจบการศึกษาปริญญาตรีสาขาเศรษฐศาสตร์ และปริญญาโทสาขาบริหารธุรกิจจากสหรัฐอเมริกา ปัจจุบัน เป็นกรรมการบริหาร บริษัทวาณิชธนกิจเล็กๆ เน้นบริการที่ปรึกษาการเงิน แก่บริษัทขนาดกลาง เธอมีผลงานเขียนและแปลหลายเรื่อง โดยมีสำนักพิมพ์โอเพ่นบุ๊กส์ และ สำนักพิมพ์มติชน เป็นผู้รับจัดพิมพ์เกือบทั้งหมด นอกจากนี้ สฤณี ยังเขียนคอลัมน์ประจำ หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ, นิตยสารช่าวมติชนสุดสัปดาห์ และ นิตยสารสารคดี

สฤณีเป็นพลเมืองเน็ตอีกคนหนึ่ง ที่มีความสนใจในการเขียนข่าวลงบล็อก อันเป็นแนวทางหลักของวารสารศาสตร์พลเมือง สะท้อนจากการบรรยายของเธอหลายครั้งในหลายงาน ที่กล่าวถึงเรื่องนี้อย่างละเอียด และมีความรู้ใหม่สอดแทรกไว้ด้วย

bact’
อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล
เป็นนามแฝงที่ อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายพลเมืองเน็ต นักพัฒนาระบบ บริษัท โอเพ่นดรีม จำกัด นักศึกษาปริญญาโท สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ช่วยวิจัย การประมวลผลภาษาธรรมชาติ เน้นการสืบค้นสารสนเทศ และการย่อความอัตโนมัติ ที่สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร ใช้เป็นชื่อเว็บล็อกของตนเอง ส่งผลให้คนรอบตัวหลายคน เรียกเขาตามชื่อออนไลน์ จึงไม่ค่อยมีใครรู้ว่า เขามีชื่อเล่นว่า “อาท”

อาทิตย์ให้ความสนใจกับการจัดการความรู้ ออกแบบสารสนเทศ สร้างภาพจากสารสนเทศ (Information Visualization) เครือข่ายสังคมออนไลน์ และวัฒนธรรมสารสนเทศเสรี นอกจากนี้ เขายังเป็นผู้ร่วมพัฒนาซอฟต์แวร์เสรี อย่างปลาดาวออฟฟิศ, โอเพ่นออฟฟิศ และ โมซิลลาไฟร์ฟอกซ์ รวมถึงเคยเป็นผู้ดูแลวิกิพีเดียไทย ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง ถึงราวกลางปี พ.ศ. ๒๕๔๙[๖]

อาทิตย์เป็นพลเมืองเน็ตอีกคนหนึ่งที่สนใจในวารสารศาสตร์พลเมือง อันเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่เขามีความสนใจอยู่เดิม สังเกตได้จากการเป็นสมาชิกเว็บไซต์หลายแห่ง มีบล็อกส่วนตัว (bact.blogspot.com) และเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ในประชาไทด้วย[๗]

---------------------------------------------------------------------------------------------
[๗] bact’, “We Media” สื่อเรา เราสื่อเองได้, ประชาไท, ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๐