วันศุกร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2554

ฅนข่าวเท้าติดดิน: บทที่ ๐๖ ประชาไท ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ใจถึง พึ่งได้!!


ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ใจถึง พึ่งได้!!

จาก: ฅนข่าวเท้าติดดิน
โดย: ภัทรพล สุธาวุฒิไกร


หลังจากวันนักข่าว (๕ มีนาคม) ของปี พ.ศ. ๒๕๕๒ เพียงวันเดียว ก็มีข่าวทางสื่อกระแสหลักหลายแขนงว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจค้นสำนักงาน รวมถึงจับกุมผู้อำนวยการเว็บไซต์ข่าวประชาไท นับเป็นครั้งแรกที่ชื่อนี้ได้รับการเผยแพร่อย่างเกรียวกราวต่อสาธารณชน

แต่บางคนก็คุ้นเคยกับประชาไทมาบ้าง ในบทนี้จะได้อธิบายว่า ประชาไทมีที่มาที่ไปอย่างไร รวมถึงคำเฉลยว่า การตรวจค้นจับกุมดังกล่าวข้างต้น มีสาเหตุจากอะไร

กว่าจะเป็นประชาไท
ประชาไท มีสถานะเป็นหนังสือพิมพ์ออนไลน์ หรือเว็บไซต์ข่าว เกิดขึ้นจากคณะบุคคลจากหลายสาขาคือ นักกิจกรรมทางสังคม, นักวิชาการสาขาสื่อสารมวลชน, และสื่อมวลชน จากดำริของ จอน อึ๊งภากรณ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา

“ผมสนใจว่า จะทำสื่อหนังสือพิมพ์บนอินเตอร์เน็ต มีแนวคิดไว้อยู่แล้ว จนกระทั่งประมาณเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๖ เดินทางไปประชุมที่ฟิลิปปินส์ แล้วไปเห็น ‘มินดานิวส์’ สื่ออิสระของเมืองมินดาเนา จึงเกิดแรงบันดาลใจที่จะทำอย่างจริงจัง” จอนกล่าวถึงความคิดริเริ่มในช่วงเวลานั้น

เมื่อกลับมาถึงประเทศไทย จอนก็เริ่มติดต่อทาบทามบุคคลต่างๆ เพื่อประชุมหารือกันทันที เพื่อวางแผนงาน หาแนวทางที่ชัดเจน วางตัวบรรณาธิการ และกองบรรณาธิการ รวมถึงหาทุน เพื่อดำเนินงาน

จอนกับกลุ่มที่ประชุมร่วมกัน จดทะเบียนจัดตั้ง “คณะบุคคลร่วมดำเนินโครงการ วารสารข่าวทางอินเทอร์เน็ตเพื่อการศึกษา และสุขภาวะของชุมชน” เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ เพื่อจัดทำเว็บไซต์วารสารข่าว และสาระ สำหรับประชาชนทั่วไป มีเนื้อหาและมุมมองที่รอบด้าน สำหรับติดตามข่าวสาร ตลอดจนเพื่อเป็นช่องทางสื่อสาร กับประชาชนทุกระดับ โดยไม่แสวงผลกำไร และเริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการ ในอีกหนึ่งเดือนถัดมา (๑ มิถุนายน)

ในระยะสามเดือนแรก ระหว่างเดือน มิถุนายน-สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ เป็นช่วงเวลาที่กองบรรณาธิการ ซึ่งนำโดย สมเกียรติ จันทรสีมา ที่เป็นบรรณาธิการบริหารในยุคเริ่มก่อตั้ง (ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ ขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย) พร้อมด้วยนักข่าวที่มีประสบการณ์ ๒ คน, นักข่าวมือใหม่ ๓ คน และยังมีนักข่าวอาสาสมัครอีก ๑ คน จะได้เตรียมความพร้อม และฝึกฝนการทำข่าว ที่จะนำเสนอบนเว็บไซต์ แบบรายวันต่อไป

จนกระทั่ง เมื่อวันที่ ๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๗ กองบรรณาธิการจึงสามารถเริ่มดำเนินการได้จริง เนื่องจากคณะบุคคลฯ ได้จดทะเบียนเว็บไซต์ ๒ ชื่อ คือ www.prachatai.com และ www.prachathai.com และดำเนินการอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ต่อมา เมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙ คณะบุคคลฯ จึงแปรรูปองค์กร ด้วยการจดทะเบียนก่อตั้ง “มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน” ที่ดำเนินกิจกรรมสาธารณประโยชน์ ไม่แสวงผลกำไร ตามทะเบียนเลขที่ กท ๑๔๐๙[๑]

เผยชื่อทีมงานประชาไทออนไลน์
หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท แบ่งการทำงานออกเป็นสองส่วนย่อย คือคณะปฏิบัติงาน และกองบรรณาธิการ

ปัจจุบันประชาไท มีคณะปฏิบัติงาน ประกอบด้วย จีรนุช เปรมชัยพร เป็นผู้อำนวยการ, สุภาพรรณ พลังศักดิ์ เป็นผู้จัดการ และผู้ประสานงานชุมชน, วิภาพร วงษ์ประเสริฐ เป็นผู้รับผิดชอบทำธุรการและการเงิน และ ปกป้อง พงศาสนองกุล เป็นผู้ออกแบบเว็บไซต์ และดูแลในเชิงเทคนิค

ส่วนกองบรรณาธิการ ประกอบด้วย ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข เป็นบรรณาธิการ, พิณผกา งามสม เป็นผู้ช่วยบรรณาธิการ และมีผู้สื่อข่าว ๔ คนคือ จิรนันท์ หาญธำรงวิทย์, มุทิตา เชื้อชั่ง, ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง และ พงศ์พันธ์ ชุ่มใจ

เสนอความจริง-ไม่ให้ใครแทรกแซง
คณะผู้ก่อตั้งประชาไท มีแนวคิดในการนำเสนอ ข้อมูลข่าวสารอย่างตรงไปตรงมา เพื่อประโยชน์ของสังคมส่วนรวม คือเปิดโอกาสให้ประชาชน หรือชุมชนต่างๆ มีโอกาสได้รับรู้ และเท่าทันสถานการณ์ทางสังคมในเรื่องต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาสุขภาวะ วิถีชีวิต รวมถึงคุณภาพชีวิตของประชาชน การพัฒนาสถาบันครอบครัวและชุมชน รวมถึงการขยายขอบเขต การมีส่วนร่วมของประชาชน ในการพัฒนาประเทศ ตามเจตนารมณ์ของระบอบประชาธิปไตย และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

หนังสือพิมพ์ประชาไท วางนโยบายกับตนเองไว้ว่า จะพยายามนำเสนอข่าวสารข้อมูล ตามความจริงที่พบเห็น หรือค้นพบ โดยจะไม่ยอมให้ผู้ใดเข้าแทรกแซงได้ และจะให้น้ำหนักกับข้อมูลข่าวสาร ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาวิถีชีวิต และความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วไป รวมทั้งกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในสังคม และส่วนที่มีประโยชน์กับการสร้างสังคมประชาธิปไตย มีความเป็นธรรม รวมถึงส่วนที่ช่วยให้สิทธิ และผลประโยชน์ของประชาชน ได้รับความเคารพอย่างทั่วถึง

นอกจากนั้น ยังยึดมั่นในจรรยาบรรณสื่อมวลชน และพยายามให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับข่าวใดๆ และจะตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข้อมูล ก่อนจะนำเสนอเป็นข่าว รวมถึงยินดีให้ผู้อ่านตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์ ไม่แสวงผลประโยชน์ส่วนตัวให้ผู้เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้  ประชาไทยังส่งเสริมให้ผู้อ่านมีส่วนร่วมกับเว็บไซต์ได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากสำคัญว่า ผู้อ่านเป็นเจ้าของที่แท้จริง จึงสามารถส่งข่าว ข้อมูล ข้อเขียน บทความ ตลอดจนแสดงความเห็น แลกเปลี่ยนทรรศนะ ในเรื่องต่างๆ เข้ามาที่ประชาไทได้อย่างเสรี และสร้างสรรค์ ภายใต้กฎหมาย และเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน

ประชาไท มีการประสานงานลักษณะเครือข่ายอย่างใกล้ชิด กับสื่อทางเลือก, สื่อประชาชนอื่น, องค์กรชุมชน และภาคประชาสังคม ทั่วประเทศด้วย[๑]

บุกถิ่นประชาไท-๓ วันก่อนรวบ ผอ.
เมื่อวันอังคารที่ ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ ผู้เขียนเดินทางไปยัง สำนักงานหนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท ย่านถนนรัชดาภิเษก เพื่อไปสัมภาษณ์ บ.ก.ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข ตามที่นัดหมายไว้

ที่น่าประหลาดใจก็คือ ให้หลังจากวันนั้นเพียงสามวัน ตำรวจกองปราบ ก็บุกไปยังที่แห่งเดียวกัน เพื่อเข้าจับกุม ผอ.จีรนุช เปรมชัยพร จนกระทั่งผู้เขียนยังกังวลว่า กอง บ.ก.อาจเข้าใจผิดว่า ผู้เขียนเป็นสายตำรวจ มาล้วงความลับจากพวกเขา ก่อนเข้าไปจับกุมก็ได้ แม้ชูวัสยืนยันภายหลังว่า ไม่ได้คิดเช่นนั้นก็ตาม

สถานที่ทำงานของกอง บ.ก.ประชาไท ตั้งอยู่ที่อาคาร มอส. ซึ่งย่อมาจาก มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม ย่านรัชดาภิเษก เป็นที่รวมสำนักงานองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) หลายแห่ง ผู้เขียนจึงรู้สึกว่า ดูเหมือนบ้านหลังใหญ่ ที่มีหลายครอบครัวอาศัยอยู่ร่วมกันเสียมากกว่า

ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข
บรรณาธิการ ประชา
ไท
สำนักงานประชาไท อยู่ที่ชั้น ๑ เมื่อเข้าประตูมา ก็เป็นห้องทางซ้ายมือนั้นเอง มีกองบรรณาธิการและผู้ปฏิบัติงานประมาณ ๔-๕ คน กำลังทำงานกันอยู่บนโต๊ะเล็กๆ หลายตัว และโต๊ะประชุมยาว ที่ตั้งขนานกับหน้าต่างด้านหน้าอาคาร ส่วนปลายโต๊ะประชุมด้านตรงข้ามประตู เป็นโต๊ะทำงานตัวใหญ่ ซึ่งผู้ที่ผมมาขอพบกำลังนั่งทำงานอยู่ ด้านข้างมีโต๊ะแบบเดียวกันอีกชุด คงเป็นของจีรนุชนั่นเอง

ชูวัสเริ่มอธิบายถึงการแบ่งส่วนงานที่เขาทำอยู่ “เพื่อให้เห็นภาพชัดก่อนคือ ประชาไทแบ่งเป็นสามส่วนหลัก ส่วนแรกคือ ส่วนที่เป็นข่าวของกองบรรณาธิการทำ ส่วนที่สองคือประชาไทเว็บบอร์ด อีกส่วนหนึ่งก็คือส่วนภาษาอังกฤษ ทั้งสามส่วนนี้ แยกออกจากกันโดยสิ้นเชิง ไม่เกี่ยวกัน”

“ในส่วนของข่าว เราเลือกข่าวจากอะไร บางทีเราก็มอนิเตอร์มาจากเพื่อนบ้าน สำนักข่าวหลักบ้าง แต่การเลือกของเรามีนัยสำคัญด้วย สิ่งที่เราเลือก ก็มาจากปรัชญาการก่อตั้งของเราก็คือ มีนัยสำคัญต่อผู้คน เราก็เลือกข่าวนั้นขึ้นมา”

แม้อาจมองได้ว่า เป็นการคัดลอกข่าว แต่เขาก็ให้เหตุผลอย่างน่าสนใจว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อบ่งบอกกับผู้อ่านว่า ข่าวชิ้นนั้นมีนัยสำคัญอย่างไร ซึ่งเขาบอกว่า เป็นรูปแบบนำเสนอข่าวของสื่อยุคใหม่ “เหมือนส่งอีเมลตามเมลลิ่งลิสต์ (รายชื่ออีเมลที่บันทึกไว้) ประชาไทก็ใช้หลักการนั้นมาตีพิมพ์ซ้ำ เพื่อจะเติมนัยของมันไปว่า เราต้องการเน้นนัยนี้”

เขาเล่าต่อไป ถึงการเปลี่ยนแปลงส่วนบทความทรรศนะ ที่รวมไว้ในส่วนย่อย บล็อกกาซีน (Blogazine) ซึ่งกลายเป็นหน่วยหนึ่งในหน้าข่าว “เดิมมันตั้งหลักขึ้นมาจากว่า ตั้งใจจะให้เป็นคอลัมน์ ที่เป็นตัวแทนชุมชนในแต่ละเรื่องๆ เช่น ชุมชนเอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อม ด้านพลังงาน ด้านศิลปะ เป็นต้น ซึ่งก็จะเป็นแต่ละคอลัมน์ไป เหมือนกับหนังสือพิมพ์ทั่วไป เพียงแต่เราอยู่บนฐานของชุมชน คอลัมน์เราไม่ได้เลือกมาจาก เขาเด่นดังในด้านไหนๆ เขาทำงานเครือข่ายของเขาด้วย แล้วก็มาเขียนคอลัมน์ให้เรา คือประชาไทเริ่มจากตรงนั้นก่อน ทำให้มีผู้อ่านจำนวนหนึ่ง ติดตามมาดูข่าวหลัก”

เมื่อถามถึงเว็บบอร์ด ซึ่งมักจะเป็นปัญหารบกวนจิตใจของกอง บ.ก.อยู่หลายครั้ง แม้ในอีกสามวันหลังจากนั้นด้วย “เว็บบอร์ดเนี่ย ความตั้งใจแรกเดิมเลย ตั้งใจให้มันเป็นพื้นที่โล่งๆ ที่ทุกคนจะมาพูดมาอะไรได้หมด แล้วก็ด่ากันเอง ควบคุมกันเองเป็นชุมชน คือเราเป็นแค่ลานหน้าบ้านน่ะ ถ้าไม่มีที่พูด ก็มาพูดตรงนี้ เราไม่ยุ่งด้วย แต่กฎหมายไม่อนุญาตให้ทำอย่างนั้นได้อย่างเต็มที่ มันจึงมีกระบวนการเซ็นเซอร์บ้าง คัดกรองบ้าง โดยเฉพาะเรื่องที่ผิดกฎหมาย อย่างหมิ่นประมาทสถาบันเบื้องสูง หรือหมิ่นประมาทบุคคล อะไรก็ว่าไป”

ชูวัสขยายความถึงกลไกในการดูแลว่า กอง บ.ก. จะคัดเลือกจากสมาชิกเว็บบอร์ด ที่อาสาสมัครเข้ามา โดยเข้าร่วมแลกเปลี่ยนทัศนคติกับคนเหล่านั้น เพื่อตรวจสอบว่า มีคุณสมบัติในการเฝ้าดูแลชุมชนแห่งนี้ได้หรือไม่ เพื่อให้ทำหน้าที่ควบคุมกันเอง ในลักษณะคณะกรรมการชุมชนเว็บบอร์ด ทั้งนี้ เขายังจำกัดอำนาจในการคัดกรอง ไว้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น

“เราก็ตั้งเกณฑ์ไว้ว่า ต้องไม่ละเมิด ไม่ปิดกั้นความคิดเห็นที่ไม่ควรปิดกั้น ฉะนั้น แม้เขาจะมีอำนาจเซ็นเซอร์ แต่เราจะเข้าไปตรวจสอบอีกชั้นหนึ่งว่า สิ่งที่เขาเซ็นเซอร์นั้นสมควรหรือไม่ เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นโดยเสรี ด้วยเจตนาที่ดีหรือไม่ ถ้าใช่ เราก็จะเปิดกลับมา แต่ถ้าเป็นเรื่องที่สมควรเซ็นเซอร์แล้ว เราก็จะปล่อยตามนั้น”

ทุกวันนี้ มีอาสาสมัครของชุมชนแห่งนี้อยู่ประมาณ ๔๐-๕๐ คน จากจำนวนผู้เข้าใช้เว็บบอร์ด ถึงประมาณ ๒-๓ หมื่นคน

“ส่วนใหญ่ การถกเถียงก็เป็นเรื่องการเมืองทั่วๆ ไป ซึ่งไม่ค่อยมีปัญหาอะไร มีไม่กี่รายที่บางทีอาจจะมีอารมณ์มา แล้วก็โพสต์หมิ่นประมาทบ้าง ซึ่งก็มีกระบวนการคัดกรองอยู่แล้ว”

จากนั้น ผู้เขียนถามถึงส่วนที่เรียกว่า ‘นักข่าวพเนจร’ ที่ประชาไททำไว้ ชูวัสเล่าถึงเรื่องนี้ว่า

“เราพยายามทำให้เขา (นักข่าวพเนจร) เขียนข่าว ขึ้นข่าว และแก้ไขเอง เราพยายามเปิดช่องทางตรงนั้น แต่ก็ไม่สำเร็จนะ เราเลยเปลี่ยนแผนใหม่ คือมาฝึกปฏิบัติมากขึ้น เป็น ๒.๐ ไม่ได้ ก็ลดเหลือ ๑.๕ ก็แล้วกัน คือ ๑.๐ ก็เป็นเว็บข่าวทั่วไป ที่กองบรรณาธิการดูเองทั้งหมด ๒.๐ ก็คือ คนอ่านดูเองทั้งหมด ประชาไทลองทำแล้วทั้งสองอย่าง ก็คิดว่าไม่ได้ เราก็มาเหลือ ๑.๕ ประมาณนั้น”

เขาอธิบายความสัมพันธ์ และความสัมพัทธ์ ระหว่างความเป็นอิสระ กับเงินทุนที่ต้องต่ำลง และนักข่าวพเนจร ก็เป็นคำตอบที่ลงตัว เพราะไม่ต้องมีค่าจ้าง “ประชาไทเป็นอิสระได้ ต้นทุนต้องต่ำ เพราะถ้าต้นทุนสูง จ้างนักข่าวเยอะ เราก็ต้องหารายได้มาเยอะ ขอเงินเยอะ หรือค้าขาย ทำธุรกิจ เพื่อให้มีเงินมาหล่อเลี้ยงกองบรรณาธิการ คือจ้างคนน่ะ เวลาขอทุนใคร หรือขอสปอนเซอร์ใคร เราก็ด่าสปอนเซอร์นั้นไม่ได้ มันก็จะมีผลต่ออิสระ ต่อเสรีภาพของเรา”

“ฉะนั้น ทุนจึงต้องต่ำ คือนักข่าวพลเมืองเนี่ย ไม่มีต้นทุน เพราะเป็นเจ้าของร่วม คือเป็นอาสาสมัคร เขียนข่าวส่งมาเอง ไม่ต้องใช้ต้นทุนในการบริหารองค์กรหรือธุรกิจ นักข่าวพลเมือง จึงสัมพัทธ์กับเสรีภาพขององค์กร ถ้าเราเป็นเว็บไซต์ ที่เป็นนักข่าวพลเมืองเต็มร้อยเนี่ย อาจไม่ต้องจ้างคนเลย ไม่ต้องมีค่าออฟฟิศ อาจไม่ต้องมีอะไรเลย คือมันมีข่าวขึ้นมา จากอาสาสมัครทั่วสารทิศ ก็จะทำให้เรามีเสรีภาพเต็มที่ ใครจะเขียนวิจารณ์ใครก็ได้”

“ดังนั้น เสรีภาพของการนำเสนอข่าว และการแสดงความคิดเห็น ยิ่งต้นทุนน้อย เสรีภาพก็จะเพิ่มขึ้น” ทั้งหมดนั้น คือข้อมูลจากปากของบุคคล ที่กำกับดูแลประชาไท เกี่ยวกับตัวหน่วยงานเอง ก่อนที่อีก ๓ วัน จะเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น

ตร.บุกค้น‘ประชาไท’-จับ ผอ.จีรนุช
เมื่อเวลา ๑๕.๐๐ น. วันศุกร์ที่ ๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ พล.ต.ต.วรศักดิ์ นพสิทธิพร รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และ พ.ต.อ.สาธิต ต.ชยภพ รองผู้บังคับการกองปราบปราม พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปราม นำหมายค้นของศาลอาญา เลขที่ ๑๘๓/๒๕๕๒ ลงวันที่ ๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ เข้าตรวจค้นภายในสำนักงาน เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ประชาไทออนไลน์ เลขที่ ๔๐๙ ชั้น ๑ อาคารมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) ซอยประชาราษฎร์บำเพ็ญ ๕ แขวงและเขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร

โดย พล.ต.ต.วรศักดิ์ ให้เหตุผลในการตรวจค้นครั้งนี้ว่า ได้รับการร้องเรียน จากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ว่าเว็บไซต์ดังกล่าว มีการเผยแพร่ข้อความ ในลักษณะดูหมิ่นสถาบันเบื้องสูง จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พุทธศักราช ๒๕๕๐ ถือเป็นครั้งแรกที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ เข้าจับกุมเว็บไซต์ข่าวออนไลน์

จีรนุช เปรมชัยพร
ผู้อำนวยการ ประชาไท
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจยึดคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กของ นางสาวจีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการประชาไท ไว้เพื่อตรวจสอบ พร้อมเชิญตัวนางสาวจีรนุช เข้าให้ปากคำที่กองปราบปราม ซึ่งผู้ต้องหาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยกล่าวว่า ข้อความดังกล่าวเป็นของผู้เข้ามาอ่านข่าวสาร และนำลงไว้ในเว็บบอร์ดสาธารณะของเว็บไซต์ ซึ่งภายหลังเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลเว็บไซต์ตรวจพบ จึงลบข้อความที่มีเนื้อหาเชิงหมิ่นสถาบันเบื้องสูงทั้งหมดแล้ว จากนั้น ช่วงเย็นวันเดียวกัน นางสาวจีรนุชได้รับการประกันตัว โดยนางฉันทนา หวันแก้ว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใช้ตำแหน่งเป็นประกัน

ทั้งนี้ ในมาตรา ๑๕ ของพระราชบัญญัติฉบับนี้ ระบุว่า ผู้ให้บริการผู้ใด จงใจสนับสนุน หรือยินยอมให้มีการกระทำความผิด ตามมาตรา ๑๔ ในระบบคอมพิวเตอร์ ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษ เช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดตามมา

และมาตรา ๑๔ บัญญัติว่า ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

(๑) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม ไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย แก่ผู้อื่นหรือประชาชน

(๒) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ   โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย ต่อความมั่นคงของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน

(๓) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา

(๔) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามก และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้น ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้

(๕) เผยแพร่หรือส่งต่อ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยรู้อยู่แล้วว่า เป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ ตาม (๑) (๒) (๓) หรือ (๔)[๒]

เปิดใจจีรนุชหลังถูกจับ
หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว นางสาวจีรนุชให้สัมภาษณ์พิเศษกับ ศูนย์เฝ้าระวังการคุกคามสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยมีใจความดังต่อไปนี้

เมื่อเวลาประมาณบ่ายโมงเศษ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ๔ นาย เดินทางมายังสำนักงานประชาไท พร้อมกับหมายค้นและหมายจับ พร้อมชี้แจงถึงการขอเข้าตรวจค้น ตนจึงโทรศัพท์ปรึกษาเพื่อนที่เป็นทนายความว่า ควรจะดำเนินการอย่างไร ควรลงชื่อรับทราบหมายค้นที่เจ้าหน้าที่ตำรวจนำมาหรือไม่ แต่อาจเป็นเพราะตนไม่ทันอ่านรายละเอียดให้ชัดเจน จึงไม่ทราบว่าในหมายค้นนั้น มีการออกหมายจับด้วย ซึ่งขณะที่ตนกำลังลงชื่อรับทราบหมายค้น เจ้าหน้าที่ตำรวจก็แจ้งว่า ต้องไปที่กองปราบฯ ตนจึงทราบว่ามีหมายจับด้วย

นางสาวจีรนุชกล่าวอีกว่า ฐานความผิดซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ แจ้งข้อหากับตนคือ “ผู้ให้บริการ จงใจสนับสนุน หรือยินยอมให้มีการกระทำผิด นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมฯ นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ในระบบคอมพิวเตอร์ ที่อยู่ในความควบคุมของตน ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๑๔ (๑), (๓), (๕) และมาตรา ๑๕”

โดยระหว่างที่ทราบชัดเจน ว่ามีหมายจับนั้น ตนแจ้งกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขอติดต่อทนายก่อน และจะไม่ดำเนินการใดๆ จนกว่าทนายจะมา ระหว่างนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจเริ่มเข้ามามากขึ้น ประมาณ ๑๐ คน ทั้งหมดมาถ่ายรูป และเดินอยู่ภายในออฟฟิศ โดยไม่ได้ตรวจค้นแต่อย่างใด ซึ่งการตรวจค้นครั้งนี้ ทำให้เพื่อนๆ หลายองค์กร ที่ทำงานในตึก มอส. ทยอยลงมาร่วมสังเกตการณ์ พร้อมทั้งแจ้งข่าวให้เพื่อนทราบ และเมื่อทนายความของเรามาถึง ตำรวจจึงเชิญตัวไปที่กองปราบฯ

“ระหว่างนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจขอคัดลอกข้อมูลในคอมพิวเตอร์ โดยทำสำเนาฮาร์ดดิสก์ไว้อีกชุด ซึ่งตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หากเจ้าหน้าที่ตำรวจ จะคัดลอกข้อมูลจากคอมพิวเตอร์ของเรา ต้องมีคำสั่งศาล เราก็สอบถามว่า มีเอกสารส่วนนี้หรือไม่ ซึ่งในขณะนั้นเขาไม่มี แต่หลังจากนั้น ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจขอเอกสารย้อนหลังไปในวันเดียวกัน ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบ จากเจ้าหน้าที่ของกระทรวงไอซีที ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ”

“โดยกรณีของเรา ได้รับการปฏิบัติตามขั้นตอนอย่างถูกต้อง เป็นพิเศษ เจ้าหน้าที่ผู้จับกุม ก็ให้เกียรติเรา จึงอยากให้การเข้าจับกุมในแต่ละครั้ง มีขั้นตอนที่ถูกต้องแบบนี้” ผู้อำนวยการเว็บไซต์ข่าวประชาไทกล่าว

นางสาวจีรนุชเปิดเผยต่อไปว่า ยุคนี้ คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล กลายเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ กรณีของเราเหมือนถูกรุกล้ำ โดยไม่รู้ว่าข้อมูลซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจทำสำเนาไปนั้น จะนำไปใช้รูปแบบใด เขามีสิทธิตรวจสอบข้อมูล แต่ไม่มีสิทธินำข้อมูลของเราไปใช้ ดังนั้น เราจึงให้เจ้าหน้าที่ทำสำเนาข้อมูลไป ๒ ชุด และให้เก็บไว้ที่กองพิสูจน์หลักฐาน ในลักษณะปิดผนึก เพื่อสามารถนำข้อมูลมาเทียบกันว่า ไม่ได้นำข้อมูลของเรามาใช้เพิ่มเติม เพราะข้อมูลบางส่วนในคอมพิวเตอร์ของตน ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคดี

“ในฐานะที่พวกเราเป็นสื่อทางเลือก หวังว่าในอนาคตควรมีความชัดเจน ในการเข้าจับกุม น่าจะแจ้งเตือน และออกหมายเรียก ก่อนจะออกหมายจับ เพราะวันนั้น ข้อกังวลใจของหลายๆ คนคือ การทำเรื่องประกันตัวไม่ทัน กรณีของตนยังโชคดีที่ อาจารย์ฉันทนา หวันแก้ว ท่านมาประกันตัวให้ แต่หากเกิดกับบุคคลอื่นทั่วไป ดิฉันก็ไม่ทราบว่า เขาจะได้รับการปฏิบัติเช่นไร”

“ขอยืนยันว่า กระทู้ปัญหานั้นเราปิดไปแล้ว และเจ้าหน้าที่ตำรวจก็จับกุม คนโพสต์ข้อความนั้นไปแล้วด้วย แต่ทำไมถึงต้องมาด่วนจับกุมเรา พวกเราจึงเกิดคำถามว่า ทำไมจึงเป็นประชาไท? อย่างไรก็ตาม สำหรับความคืบหน้าของคดี คงต้องรอเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งมาอีกครั้ง เพราะตอนนี้เราอยู่ในสถานะถูกปล่อยตัวชั่วคราว” ผู้อำนวยการเว็บไซต์ข่าวประชาไท กล่าวในที่สุด[๒]

ตร.ฟันเพิ่มอีก ๙ กระทง
ความคืบหน้าเกี่ยวกับกรณีนี้ มีขึ้นอีกครั้ง ในวันที่ ๗ เมษายน ปีเดียวกัน เมื่อพนักงานสอบสวน พบมูลความผิดตามที่ปรากฏอีก ๙ กระทู้ ในเว็บบอร์ดแห่งเดียวกัน ที่มีการเผยแพร่ในช่วงเดือนเมษายน-สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ จึงแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มอีก ๙ กระทง ส่วนกระทู้ต้นเหตุ ปรากฏขึ้นในเว็บบอร์ด เมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๑[๓]

ให้ประกันตัวชั้นอัยการ
จากนั้น พนักงานสอบสวนรวบรวมหลักฐานทั้งหมด เพื่อทำสำนวนคดีดังกล่าว โดยมี พ.ต.ท.บุญเลิศ กัลยาณมิตร พนักงานสอบสวน กองบังคับการ กองปราบปราม เป็นผู้แทนเข้ายื่นกับอัยการพิเศษ ฝ่ายคดีอาญา ๘ โดยรับเรื่องไว้ ที่สำนักงานอัยการสูงสุด เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ปีเดียวกัน พร้อมให้นางสาวจีรนุชประกันตัวในชั้นอัยการแล้ว โดยพนักงานอัยการนัดสั่งคดีในวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๒[๓]

---------------------------------------------------------------------------------------------
[๑] กองบรรณาธิการประชาไท,  เกี่ยวกับประชาไท, เว็บไซต์ข่าวประชาไท
[๒] จดหมายข่าว ศูนย์เฝ้าระวังการคุกคามสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, (๑๐ มีนาคม ๒๕๕๒), เว็บไซต์สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
[๓] กองบรรณาธิการประชาไท, ตำรวจส่งสำนวนคดี พ.ร.บ.คอมฯ ‘ผอ.ประชาไท’ อัยการนัดสั่งคดี ๒๖ มิ.ย., เว็บไซต์ข่าวประชาไท