สำนักงานสื่อพลเมือง
“นานาชาติและเคลื่อนที่”
จาก: ฅนข่าวเท้าติดดิน
โดย: ภัทรพล สุธาวุฒิไกร
เครื่องมือสำคัญในการผลิตสื่อพลเมืองออนไลน์ บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ที่ใช้งานเป็นหลักอยู่สองชนิดคือ “เว็บบอร์ด” และ “เว็บล็อก” ซึ่งไม่มีค่าใช้จ่ายในการใช้พื้นที่ เพื่อเป็นแนวทางให้กับผู้สนใจจะผลิตสื่อพลเมืองออนไลน์ ได้เรียนรู้ และจัดทำขึ้นด้วยตนเองต่อไป
เว็บบอร์ด (Web Board)
เป็นรูปแบบการทำงานของเว็บไซต์ ที่ใช้สำหรับแลกเปลี่ยนบทสนทนา พูดคุย อภิปราย ภายในสังคมออนไลน์ มีชื่อเรียกอย่างสั้นว่า บอร์ด และมีชื่อเรียกอื่นๆ ด้วย เช่น (ในภาษาไทย) กระดานข่าว, กระดานสนทนา, (ในภาษาอังกฤษ) เว็บฟอรัม (Web Forum), เมสเซจ บอร์ด (Message Board), บุลเลตินบอร์ด (Bulletin Board), ดิสคัชชันบอร์ด (Discussion Board) เป็นต้น
ส่วนเนื้อหาของเรื่องราวที่พูดคุยกันนั้น จะแตกต่างกันออกไป บางแห่งจะแบ่งกลุ่มย่อยออกเป็นหลายหัวข้อ และหลายแห่งจะวางแนวเรื่องในการพูดคุยเป็นการเฉพาะทางด้วย เว็บบอร์ดที่ใหญ่ที่สุดในโลก คือ เว็บบอร์ด ทูแชนแนล ของญี่ปุ่น (www.2ch.net) ส่วนเว็บบอร์ดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คือ พันทิปคาเฟ่ (www.pantip.com/cafe) ในเว็บไซต์พันทิปดอตคอม (www.pantip.com)
ผู้เข้าใช้บริการเว็บบอร์ด มีอยู่ ๔ ประเภท ที่มีสิทธิในการปฏิบัติใดๆ ภายในเว็บบอร์ด ซึ่งต่างระดับกัน ดังต่อไปนี้
๑. ผู้ดูแลสูงสุด (Administrator – Admin.) เป็นบุคคลที่มีสิทธิในการจัดการมากกว่าทุกคน ส่วนมากมักเป็นผู้เปิดใช้งานเว็บบอร์ดเอง
๒. ผู้ดูแลทั่วไป (Moderators – Mod.) เป็นบุคคลที่สามารถจัดการกระทู้ และความคิดเห็นต่างๆ เพื่อให้เป็นระเบียบเรียบร้อย
๓. ผู้ใช้ที่เป็นสมาชิก (Members) เป็นบุคคลที่เข้าใช้บริการ โดยผ่านการลงชื่อผู้ใช้ (User Name) และให้รหัสผ่าน (Password) ก่อน ซึ่งจะมีสิทธิบางอย่าง รองมาจากผู้ดูแล แต่เหนือกว่าผู้ไม่ออกนาม
๔. ผู้ใช้ที่ไม่ออกนาม (Anonymous Users) เป็นบุคคลที่ไม่ประสงค์จะผ่านการลงชื่อผู้ใช้ และให้รหัสผ่าน ซึ่งจะได้รับเพียงสิทธิในการตั้งกระทู้ และแสดงความเห็น โดยไม่มีชื่อผู้ใช้ ส่วนมากจะปรากฏเป็น หมายเลขระบุตำแหน่ง ในระบบเครือข่าย ที่ใช้โปรโตคอล (ไอพีแอดเดรส – Internet Protocol (IP) Address) แทน
ทั้งนี้ ผู้ใช้ที่ไม่ออกนาม สามารถก่อกวนกระทู้ (ภาษาปาก: ปั่นกระทู้) แต่ผู้ดูแลก็สามารถใช้อำนาจ ตามบทลงโทษที่กำหนดขึ้น และแจ้งให้ทราบไว้ในเว็บบอร์ด เพื่อยุติการก่อกวนกระทู้ได้
สำหรับบุคคลที่ต้องการเปิดให้บริการเว็บบอร์ดนั้น มีวิธีการอยู่หลายทาง เช่น เขียนโปรแกรมเพื่อสร้างเว็บบอร์ดขึ้นเอง ภายในพื้นที่เว็บไซต์, แจ้งขอบริการติดตั้งเว็บบอร์ดส่วนตัว จากผู้ให้บริการเว็บไซต์ หรือเว็บบอร์ด และการติดตั้งซอฟท์แวร์เว็บบอร์ดสำเร็จรูป บนเซิร์ฟเวอร์ของตน
ซอฟท์แวร์เว็บบอร์ดสำเร็จรูป เป็นซอฟท์แวร์ระบบจัดการเนื้อหาเว็บ ที่มีความสามารถในการสร้างเว็บบอร์ดได้โดยทันที ไม่ต้องสร้างเว็บไซต์ หรือเขียนโปรแกรมสร้างเว็บบอร์ดเอง นอกจากนี้ ซอฟท์แวร์บางตัว ยังสามารถเปลี่ยนรูปแบบหน้าตา (Theme) และให้ความสามารถพิเศษเพิ่มเติมได้ด้วย
โดยส่วนมากแล้ว ผู้ใช้สามารถดาวน์โหลด และติดตั้งได้ทันที และบางส่วนมิได้สงวนลิขสิทธิ์ (Open Source) ซึ่งสามารถปรับแก้เป็นรูปแบบของตน แล้วติดตั้งไว้ใช้เป็นเว็บบอร์ดส่วนตัว หรือเผยแพร่ให้บุคคลอื่นนำไปใช้งานได้ ส่วนที่มีลิขสิทธิ์นั้น ก็มีทั้งแบบที่เปิดให้ใช้งานฟรี หรือที่ต้องเสียค่าใช้จ่าย[๑]
เว็บล็อก (Web log)
เป็นเว็บไซต์รูปแบบหนึ่ง ที่เขียนขึ้นให้เรียงลำดับข้อมูลที่เขียน โดยจะแสดงข้อมูลใหม่ที่สุด ไว้ในตำแหน่งแรกสุด และสามารถเปิดให้ผู้เข้าอ่านข้อมูล แสดงความคิดเห็นต่อท้าย ข้อความที่เจ้าของบล็อกเขียนไว้ได้ เป็นผลให้ผู้เขียนได้รับผลตอบกลับ (Feedback) โดยทันที
คำว่า “เว็บล็อก” เริ่มใช้โดย จอห์น บาร์เกอร์ (Jorn Barger) เมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ (ค.ศ. ๑๙๙๗) ส่วนชื่อเรียกอย่างสั้นที่ว่า “บล็อก” (Blog) เริ่มใช้โดย ปีเตอร์ เมอร์ฮอลซ์ (Peter Merholz) จากที่เขาเขียนคำว่า Weblog แบบติดตลก ในแถบข้างบล็อกของเขาว่า “We Blog”
จากนั้นไม่นาน อีวาน วิลเลียมส์ แห่งไพราแล็บส์ ใช้คำว่า “บล็อก” เป็นทั้งคำนาม และคำกริยา ที่หมายถึงการเขียนบล็อก นอกจากนี้ ไพราแล็บส์ ยังเชื่อมโยงคำว่า “บล็อกเกอร์” (Blogger) ซึ่งใช้เรียกบุคคลที่เขียนบล็อกเป็นประจำ กับชื่อผลิตภัณฑ์เว็บล็อกของไพราแล็บส์เอง เพื่ออาศัยความนิยมของคำ มาเป็นจุดขายอีกด้วย
องค์ประกอบโดยปกติของบล็อก จะมีทั้งข้อความ ภาพ และส่วนเชื่อมโยง (Link) โดยอาจรวมไปถึงสื่อต่างๆ เช่น เพลง หรือคลิปวิดีโอ ผสมผสานเข้าร่วมกันได้ ทั้งนี้ เจ้าของบล็อกสามารถเขียนเนื้อหาได้อย่างอิสระ โดยอาจใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสาร หรือประกาศข่าวสารถึงบุคคลต่างๆ แสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ เผยแพร่ผลงานได้หลายด้าน เช่น สถานการณ์ปัจจุบัน การเมือง สังคม เทคโนโลยี อาหาร เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีเว็บล็อกที่มีเนื้อหาเป็นเรื่องส่วนตัว ที่ชาวไทยเรียกกันว่า ไดอารีออนไลน์ (Online Diary) ซึ่งถือเป็นส่วนแรกที่เริ่มต้นการใช้งานรูปแบบของเว็บล็อกในทุกวันนี้ และบริษัทเอกชนหลายแห่งยังได้จัดทำเว็บล็อกขึ้น เพื่อโฆษณาสินค้า และบริการแก่ลูกค้าในรูปแบบใหม่ พร้อมทั้งรับความคิดเห็นในการพัฒนาจากลูกค้าโดยตรง และโดยทันที
อนึ่ง ในปัจจุบัน มีเว็บล็อกบนอินเทอร์เน็ต จำนวนมากกว่า ๑๑๒ ล้านแห่ง ตามผลการค้นหาโดย เทคโนราที (www.technorati.com) เว็บไซต์ให้บริการค้นหาเว็บล็อก ปัจจุบัน หลายเว็บไซต์เปิดส่วนให้บริการบล็อกขึ้น เพื่อเชิญชวนผู้เขียนและผู้อ่าน ให้เข้าสู่เว็บไซต์ของตนเพิ่มขึ้น
เว็บล็อกเข้ามามีบทบาทในวงการสื่อสารมวลชนทั่วโลกมากขึ้น เพราะมีระบบแก้ไขเนื้อหาที่เข้าใจง่าย สามารถเขียนเรื่องราวต่างๆ ได้ แม้จะไม่มีความรู้ในการเขียนเว็บไซต์ โดยผู้สื่อข่าวมักนำผลงานข่าวของตน มาลงเผยแพร่ในเว็บล็อก นอกเหนือจากการส่งให้สื่อมวลชนกระแสหลัก เพื่อเผยแพร่ข้อมูล และแนวความคิดส่วนตัว ซึ่งมีข้อดีที่ความรวดเร็วในการนำเสนอ และมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าสื่ออื่น
เจ้าของเว็บล็อก สามารถบริหารและแก้ไขเนื้อหาในเว็บล็อกได้ในเว็บเบราว์เซอร์ เช่นเดียวกับที่อ่านหรือใช้งานเว็บไซต์ทั่วไป โดยผู้ให้บริการแต่ละราย จะกำหนดรูปแบบในการบริหารเว็บล็อกแตกต่างกัน อย่างระบบที่มีผู้ดูแล ผู้เขียนที่ส่งเรื่องขึ้นมา จะต้องผ่านการอนุมัติจากผู้ดูแลเสียก่อน เรื่องนั้นจึงจะแสดงขึ้นบนเว็บล็อกได้ ต่างจากเว็บล็อกส่วนตัว ซึ่งสามารถแสดงผลได้ทันที
สำหรับผู้อ่านบล็อก ก็สามารถเข้าชมได้ เช่นเดียวกับการเข้าอ่านเว็บไซต์โดยทั่วไป และยังสามารถแสดงความคิดเห็น ต่อท้ายเนื้อหาในแต่ละเรื่อง โดยที่ผู้ให้บริการบางแห่งจะระบุว่า ต้องมีการลงทะเบียนเสียก่อน นอกจากนี้ ผู้อ่านเว็บล็อก ยังสามารถอ่านโดยผ่านระบบฟีด (Feed) ที่ให้ผู้ใช้สามารถอ่านเว็บล็อก ด้วยโปรแกรมตัวอื่น โดยไม่จำเป็นต้องเข้ามาที่หน้าเว็บล็อก
อนึ่ง การใช้งานเว็บล็อกโดยผู้เขียน จะมีสองรูปแบบหลักคือ ผ่านเว็บไซต์ของผู้ให้บริการ หรือจะติดตั้งซอฟท์แวร์เป็นส่วนตัวก็ได้ ดังที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้
ซอฟท์แวร์เว็บล็อก เป็นระบบในการจัดการเนื้อหาเว็บ ที่ผู้พัฒนา นำมาเผยแพร่กับผู้ดูแลหรือผู้เขียนเว็บล็อกจึงสามารถใช้งานได้ แม้ไม่มีความรู้พื้นฐาน เกี่ยวกับภาษาเอชทีเอ็มแอล หรือการทำเว็บไซต์ก็ตาม ผู้เขียนเว็บล็อกจึงสามารถใช้เวลาที่เหลืออีกมาก ในการบริหารจัดการและเพิ่มข้อมูลสารสนเทศต่างๆ แทน
นอกจากนี้ ยังสนับสนุนกับระบบ What you see is what you get. (WYSIWYG) ที่เขียนได้ง่าย และอาจเพิ่มเติมเทมเพลต (Template) ให้เลือกใช้ได้หลายแบบได้ด้วย โดยผู้ใช้สามารถดาวน์โหลด และติดตั้งได้ทันที ซึ่งบางส่วนจะไม่ได้สงวนลิขสิทธิ์ (Open Source) ซึ่งผู้พัฒนาสามารถปรับแก้เป็นรูปแบบของตนเอง แล้วติดตั้งไว้เพื่อใช้เป็นเว็บล็อกส่วนตัว และยังเผยแพร่ให้บุคคลอื่นนำไปใช้งานต่อได้ ส่วนที่มีลิขสิทธิ์ อาจมีทั้งที่ต้องเสียค่าใช้จ่าย หรือไม่มีค่าใช้จ่ายก็ได้[๒]
ผู้ให้บริการ และซอฟท์แวร์เว็บบอร์ด และเว็บล็อก
จากคำอธิบายข้างต้นจะทราบว่า การสร้างเว็บบอร์ด หรือเว็บล็อก บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตนั้น สามารถทำได้สองวิธี ในขั้นปกติคือ การรับบริการสำเร็จรูปจากผู้เปิดให้บริการ และในขั้นสูงคือ การติดตั้งซอฟท์แวร์บนเซิร์ฟเวอร์ส่วนตัว ซึ่งในส่วนนี้ จะกล่าวถึงผู้ให้บริการ และชื่อซอฟท์แวร์ ทั้งเว็บบอร์ด และเว็บล็อก ตามลำดับดังนี้
ผู้ให้บริการเว็บบอร์ดที่มีชื่อเสียง ในต่างประเทศ เช่น กูเกิล กรุ๊ปส์ (groups.google.com) ของกูเกิล (www.google.com) เว็บไซต์เครื่องมือค้นหาเว็บ ๒๑๒ คาเฟ่ (www.212cafe.com) และ บีบีซีเน็ต (www.bbznet.com) เป็นต้น ส่วนในประเทศไทยคือ พันทาวน์ดอตคอม (www.pantown.com) ของพันทิปดอตคอม (www.pantip.com)
ซอฟท์แวร์เว็บบอร์ดที่มีชื่อเสียง ได้แก่ phpBB, vBulletin, Invision Power Board (IPB) และ Simple Machines Forum (SMF) ซึ่งใช้ซอฟท์แวร์ต้นแบบ “พีเอชพี/มายเอสคิวแอล” ในการพัฒนา ส่วนซอฟท์แวร์ YaBB จะใช้ซอฟท์แวร์ต้นแบบ “เพิร์ล/แฟลตไฟล์” ในการพัฒนา[๑]
ผู้ให้บริการเว็บล็อกที่มีชื่อเสียง ในต่างประเทศ เช่น บล็อกเกอร์ (www.blogger.com) ของกูเกิล, ไทป์แพด (www.typepad.com), เวิร์ดเพรสส์ (www.wordpress.com), ยาฮู! ๓๖๐° (360.yahoo.com) หรือ ยาฮู! เดย์ส (days.yahoo.com) ของยาฮู! (www.yahoo.com) เว็บไซต์เครื่องมือค้นหาเว็บ, วินโดวส์ไลฟ์ สเปซเซส (spaces.live.com) ของไมโครซอฟท์, มายสเปซ (www.myspace.com), มัลติพลาย (www.multiply.com) เป็นต้น
ส่วนในประเทศไทย จะมีผู้ให้บริการ แบ่งออกตามกลุ่มความสนใจ เช่นวิชาการคือ โกทูโนว์ (www.gotoknow.org) และ เลอร์เนอร์ (www.learners.in.th), เรื่องบันเทิง ได้แก่ เอ็กซ์ทีน (www.exteen.com), บล็อกแก๊ง (www.bloggang.net) เป็นต้น ส่วน บล็อกน็อน (www.blognone.com) เน้นเทคโนโลยี และโอเคเนชั่น (www.oknation.net) ให้ความสำคัญกับข่าว
ซอฟท์แวร์เว็บล็อกที่มีชื่อเสียง ได้แก่ เวิร์ดเพรสส์, ไลฟ์ไทป์, ดรูปาล ที่ใช้ซอฟท์แวร์ต้นแบบ “พีเอชพี/มายเอสคิวแอล” ในการพัฒนา ส่วนซอฟท์แวร์สแลช จะใช้ซอฟท์แวร์ต้นแบบ “เพิร์ล” ในการพัฒนา[๒]
---------------------------------------------------------------------------------------------