วันศุกร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2554

ฅนข่าวเท้าติดดิน: บทที่ ๐๗ ประชาธรรม สื่อภาคเอ็นจีโอขนานแท้ดั้งเดิม

สื่อภาคเอ็นจีโอขนานแท้ดั้งเดิม

จาก: ฅนข่าวเท้าติดดิน
โดย: ภัทรพล สุธาวุฒิไกร


ในบทที่แล้ว ได้อธิบายถึงความเป็นมาของหนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไทว่า มีที่มาจากกลุ่มองค์กรพัฒนาพัฒนาเอกชนต่างๆ ปรึกษาหารือร่วมกัน ในอันที่จะแสวงหาช่องทางเผยแพร่ข่าวสาร ซึ่งเป็นปัญหาของชุมชนต่างๆ ที่สื่อกระแสหลักมักมองข้าม

และมีแนวคิดหนึ่ง ที่ตอบโจทย์ข้อนี้ได้เป็นอย่างดี นั่นคือการเปิดสื่อขึ้นด้วยตนเอง เพื่อนำเสนอเรื่องราวของชาวบ้านมากขึ้น ซึ่งนอกเหนือจากประชาไทแล้ว ยังมีสำนักข่าวชื่อคล้ายกัน ที่นับว่าเป็น ‘ต้นตำรับ’ ของรูปแบบดังกล่าวด้วย ในบทนี้จะแนะนำให้รู้จักกับ สำนักข่าวประชาธรรม

ก่อนจะเป็นประชาธรรม
เมื่อราวปลายปี พ.ศ. ๒๕๔๒ นักคิด นักพัฒนาเอกชน และนักกิจกรรมในภาคเหนือกลุ่มหนึ่ง มีความคิดเห็นว่า การนำเสนอข่าวสารภาคประชาชน ซึ่งหมายถึง ปัญหาของคนยากจน ชาวบ้านแถบชายแดน และชุมชนท้องถิ่น ไปสู่สังคมนั้น ยังเกิดขึ้นไม่มากพอ เนื่องจากทั้งสื่อมวลชน และประชาชนเอง ต่างก็มีข้อจำกัดของตน รวมไปถึงระบบทุนนิยม  ยังเป็นอิทธิพลให้รัฐ ตลอดจนสังคมเมือง สามารถจัดเส้นทางการสื่อสารทางเดียว ไปสู่ประชาชน และสังคมชนบท

ขณะที่ตั้งแต่ราว พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นต้นมา การพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ (นิกส์) ได้ทำลายปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญในการผลิตต่างๆ อย่างทรัพยากรดิน น้ำ และป่าไม้ ชาวบ้านระดับรากหญ้า จึงเริ่มตระหนัก ต่อการเรียกร้องสิทธิ ในการจัดการทรัพยากรเหล่านั้น ส่งผลให้ประชาชนทุกระดับ สนใจกับการเข้ามามีส่วนร่วมกำหนดนโยบายสาธารณะ ติดตามตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐบาล ตลอดจนการแก้ไขปัญหาต่างๆ เช่นประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน การศึกษา สิ่งแวดล้อม ศิลปวัฒนธรรม ฯลฯ ด้วยการพึ่งพาตนเอง แต่กว่าเรื่องเหล่านี้จะเป็นข่าว ก็อาจมีเพียงรายงานเหตุการณ์เท่านั้น หรืออาจต้องเกิดข้อขัดแย้งขึ้นเสียก่อน

กลุ่มบุคคลดังกล่าว จึงเกิดแนวความคิด ในอันที่จะริเริ่มการนำปัญหาต่างๆ เหล่านั้น มาแปรรูปเป็นข่าวไว้ เพื่อเผยแพร่สู่สื่อกระแสหลัก รวมถึงผู้สนใจ ด้วยมุมมองที่แตกต่างจากคนภายนอก ด้วยการวิเคราะห์เจาะลึก ลงในข้อเท็จจริงต่างๆ อย่างครบถ้วน ตลอดจนภูมิหลังของเหตุการณ์ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ ต่อสาธารณชน โดยหวังว่าจะก่อให้เกิดแรงผลักดันนโยบายสาธารณะ จากความปรารถนาของชาวบ้านที่แท้จริง[๑]

แนวทางสร้างตัวตนคนชายขอบ
ศาสตราจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ประธานกรรมการบริหารคนแรก ของสำนักข่าวประชาธรรม เคยกล่าวถึงต้นธารของแนวทางการก่อตั้ง สำนักข่าวประชาธรรม ไว้อย่างชัดเจนว่า

“การยึดพื้นที่สื่อ และการสร้างสื่อของตนเองขึ้นมา ของภาคประชาชน โดยเฉพาะคนจน จะทำให้มีผลกระทบ ในการสร้างพลังเครือข่ายพันธมิตร ที่ผ่านมา สื่อโดยทั่วไป มักจะนำเสนอภาพของคนจน จากโลกที่เขาคลุกคลีอยู่ เช่นการให้ความช่วยเหลือ แบบสังคมสงเคราะห์ ภาพลักษณ์ของคนจน จึงผิดเพี้ยนไป ความจริง คนจนสร้างทางเลือกที่น่าสนใจมากมาย ไม่ว่าจะเป็น การหาทางออกต่อการแก้ปัญหา การจัดการทรัพยากร การจัดการชีวิตตัวเอง การแก้ปัญหาหนี้สิน ไม่ใช่ฝ่ายที่รอรับ หรือเรียกร้องความช่วยเหลือจากรัฐอยู่ร่ำไป สำนักข่าวที่เป็นของภาคประชาชน จึงน่าจะเป็นยุทธศาสตร์เชิงรุกในยุคนี้ได้ เป็นความหวังที่จะสร้างพลังข่าวสาร และเปลี่ยนทิศทางของข่าวสาร บนหน้าหนังสือพิมพ์ ข่าวสารของคนชั้นล่าง จะได้ไปถึงผู้มีอำนาจตัดสินใจ และกำหนดนโยบาย และทิศทางการพัฒนาในที่สุด”[๑]

ทำข่าวที่ไม่เป็นข่าวให้เป็นข่าว
สัญลักษณ์ของประชาธรรมยุคแรก
ก่อนหน้าที่จะเปิดสำนักข่าวประชาธรรม ทั้งองค์กรพัฒนาเอกชน และองค์กรชุมชน ต่างก็ส่งเรื่องราวปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น แก่สื่อกระแสหลักอยู่เนืองๆ หรือแม้แต่การเจาะจงลงไปปฏิบัติงานด้านสื่อ หรือจัดการทำสื่อเองก็มี อย่างการทำหนังสือเล่ม นิตยสาร จุลสาร เอกสารเผยแพร่ แต่กลับไม่เห็นผลอย่างที่น่าพอใจ เนื่องจากแต่ละองค์กร ต่างก็เผยแพร่กันเอง รวมไปถึงการที่สื่อมวลชนเห็นว่าเป็นข่าวแจก มีลักษณะไม่เป็นกลาง คล้ายเป็นกระบอกเสียงขององค์กรเองมากกว่า จึงมิได้ให้ความสนใจมากนัก

อีกเหตุผลที่สำคัญก็คือ ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชน หรือแม้แต่ความคิดของสังคมโดยรวม ก็ยังมีมุมมองต่อองค์กรต่างๆ เหล่านั้นในเชิงลบ โดยเห็นว่ามักจะขอความช่วยเหลือ หรือแม้แต่กดดันรัฐบาล เพื่อประโยชน์ของกลุ่มตน ในขณะที่เป็นการสร้างปัญหากับสังคมโดยรวม แต่แท้ที่จริงแล้ว การเคลื่อนไหวต่างๆ เกิดขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นผลกระทบที่เกิดจากความผิดพลาดในการพัฒนาต่างๆ รวมถึงเสนอการพัฒนาในรูปแบบใหม่ ที่จะก่อให้เกิดผลดีมากกว่าเดิม

ทว่าสิ่งเหล่านี้ กลับแทบไม่ปรากฏในสื่อมวลชนกระแสหลักเลย ทำให้ผู้บริหารประเทศ ตลอดถึงคนทั่วไป ไม่เคยได้ยิน ‘เสียง’ ขององค์กรประชาชนเหล่านี้เลย เมื่อจะสร้างตัวตนในกระแสข่าว ก็ต้องก่อม็อบ เพื่อให้ผู้มีอำนาจแก้ไขปัญหาได้รับฟัง แต่กลับกลายเป็นผู้สร้างปัญหา ในสายตาของสังคม เนื่องจากสื่อมวลชนต่างก็นำเสนอ เพียงความขัดแย้งกับฝ่ายรัฐบาลด้านเดียว แทบจะไม่ได้สืบสวนเข้าไปถึงต้นตอและสาเหตุ ของความขัดแย้งเหล่านั้นเลย ส่งผลให้ปัญหาต่างๆ ที่องค์กรเหล่านี้เสนอแนะ เข้าไม่ถึงการแก้ไขนโยบายสาธารณะ รวมทั้งความเข้าใจของประชาชนทั่วไปด้วย[๑]

เดินสายขายไอเดียฮับข่าวภาค ปชช.
จุดเริ่มต้นของสำนักข่าวประชาธรรม มาจากการสรุปบทเรียนต่างๆ ของกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน ในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ โดยเฉพาะปัญหาข้างต้น จนกระทั่งได้ข้อสรุป ในการจัดตั้งสำนักข่าวขึ้น เพื่อปฏิบัติงานอย่างจริงจัง และวางระบบยุทธศาสตร์ ในการสื่อสารกับสื่อมวลชน โดยมีวัตถุประสงค์ในอันที่จะ ‘ขยาย’ เสียงของคนเล็กๆ ให้ปรากฏขึ้นต่อสาธารณชน รวมถึงสร้างการมีส่วนร่วม วางนโยบายของสาธารณะ มีสิทธิมีเสียงเทียบเท่าผู้มีอำนาจบริหารประเทศ

โดยในช่วงก่อนจะเปิดประชาธรรม คณะทำงานได้สัญจรเดินสาย เสนอแนวคิดในการจัดตั้ง ไปยังองค์กรภาคประชาชนทั่วประเทศ ด้วยการจัดทำเป็นเอกสารเผยแพร่โครงการ เพื่อหาแนวร่วมในการส่งข่าวสารต่างๆ มายังประชาธรรมเป็นสำคัญ ส่วนเงินทุนเป็นเรื่องรอง พร้อมกับเสนอแนวคิดเหล่านี้ ไปยังสื่อมวลชนส่วนกลาง และเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาชีพสื่อ นักเขียน นักวิชาการ ตลอดจนบุคคลธรรมดาด้วย[๑]

เอ็นจีโอลงขันตั้งสำนักข่าว
หลังจากวางแนวความคิดในการจัดตั้งประชาธรรมแล้ว จึงเกิดการระดมทุนจากผู้ถือหุ้น และสมาชิกที่เป็นสื่อมวลชน องค์กรเครือข่ายภาคประชาชน องค์กรทั่วไป ตลอดจนนักวิชาการต่างๆ ได้ประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ บาท

นอกจากนั้น ยังมีทรัพยากรบุคคล วิทยาการจากองค์กรเครือข่ายต่างๆ โดยในระยะแรกนั้น องค์กรเครือข่ายภาคประชาชน ได้ให้ความช่วยเหลือ แก่สำนักข่าวประชาธรรม ในการส่ง ประเด็นปัญหาที่สำคัญ ตลอดจนข้อมูลดิบ ข้อมูลเชิงลึก และแหล่งข่าว  เป็นอย่างดียิ่ง

นับเป็นภารกิจร่วมกัน ในอันที่จะสนับสนุน สำนักข่าวประชาธรรม ในทุกวิถีทาง เพื่อให้ยังคงเป็นองค์กรสื่อ ซึ่งมีหน้าที่สำคัญ ในการผลิต และเผยแพร่ข่าวภาคประชาชน นำไปถึงเป้าหมายสูงสุด ในการกำหนดนโยบายของสังคมต่อไป[๑]

โครงสร้างประชาธรรม
คณะทำงานที่ก่อตั้งสำนักข่าว ประกอบไปด้วย นักพัฒนาเอกชน นักกิจกรรมสังคม และนักวิชาการ โดยจัดรูปแบบองค์กร เป็นบริษัทจำกัด ที่ไม่แสวงผลกำไร เนื่องจากการเป็นองค์กรทางธุรกิจ จะสามารถตอบสนองต่อการเติบโตได้ในระยะยาว แต่ถ้ามีกำไร ต้องนำไปพัฒนาองค์กรเป็นสำคัญ

จากนั้นวางแผนจัดตั้ง กลไกปฏิบัติงานทั่วประเทศ เพื่อให้มีขอบเขตดำเนินงานในระดับชาติ โดยรับสมัครผู้สื่อข่าว จากองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ แล้วจึงจัดให้มีการอบรม พัฒนาทรัพยากรบุคคล ทั้งทักษะการเขียน และสื่อข่าว วิธีจับประเด็นในภาคประชาชน ในจำนวนดังกล่าวนี้ ส่วนหนึ่งจะเป็นกองบรรณาธิการ ในระดับภูมิภาค

โดยกองบรรณาธิการส่วนกลาง ประกอบด้วย บรรณาธิการสำนักข่าว ผู้สื่อข่าว นักวิชาการ อาสาสมัคร นักกิจกรรมสังคม และนักพัฒนาเอกชน ในจังหวัดเชียงใหม่ จะวิเคราะห์ข่าว และสถานการณ์ ร่วมกันทุกเดือน เพื่อชี้แนะกองบรรณาธิการภาค ให้จับประเด็นข่าวภาคประชาชนอย่างตรงจุด

ส่วนระดับคณะปฏิบัติงาน หรือกองบรรณาธิการ ศูนย์ประสานงานกลาง ในภาคเหนือ จะประชุมข่าว เพื่อกำหนดประเด็น และวิเคราะห์ข่าว ที่น่าสนใจติดตาม ในทุกสัปดาห์ และกองบรรณาธิการ ในส่วนภูมิภาค มีองค์ประกอบคือ อาสาสมัครปฏิบัติงานองค์กรเอกชน และผู้สื่อข่าวจร

ในสองปีแรก สามารถจัดตั้งศูนย์ข่าวได้สามแห่ง ประกอบด้วย ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ แต่เมื่อขึ้นปีที่สาม ประชาธรรมต้องยุบ ศูนย์ข่าวภาคอีสาน และภาคใต้ลง เพราะไม่มีบุคคลประจำการ เพื่อเป็นผู้ประสานงานหลัก จึงยังคงไว้เพียงผู้สื่อข่าวอิสระ โดยเปิดรับสมัครเพิ่มขึ้นทุกปี[๑]

ได้ฤกษ์เผยโฉมโชว์พลัง
เมื่อทุกฝ่ายพร้อมเต็มที่ คณะปฏิบัติงานจึงจัดแถลงข่าวเปิดตัว เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๓ โดยมีความตั้งใจจะระดมทุน และขอความร่วมมือจากประชาชนทั่วไป จากนั้นประชาธรรมก็เริ่มสร้างผลงาน และเปิดรับการสนับสนุนอย่างกว้างขวาง โดยก่อนจะเปิดตัวเป็นทางการ ในช่วงเดือนสิงหาคม-ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ เริ่มทดลองผลิตข่าวเต็มระบบ ตั้งเป้าไว้ที่ ๗ ข่าว และ ๑ บทความ ต่อสัปดาห์

โดยเริ่มประสานงาน ภายในเครือข่ายศูนย์ข่าวภาคเหนือ จากนั้นให้บรรณาธิการส่งข่าว ไปตามกลไกที่วางไว้ แก่สื่อมวลชนส่วนกลางที่เป็นสมาชิก รวมถึงผู้ถือหุ้น ด้วยการบริการแบบให้เปล่า เป็นเวลา ๑ เดือน เพื่อให้เกิดการยอมรับ และเมื่อทดลองจนเกิดความพร้อม สำนักข่าวจึงเริ่มการจำหน่ายข้อมูลข่าวสาร ตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๔๔ จนถึงปัจจุบัน[๑]

คุณค่าข่าวสวนทางกระแสหลัก
หลักปฏิบัติในการคัดเลือกข่าว ของสำนักข่าวประชาธรรม ไม่ได้ให้ความสำคัญ กับทฤษฎีคุณค่าข่าวของสื่อมวลชน หากแต่สนใจแหล่งข่าว ที่เป็นชาวบ้านเล็กๆ มากกว่า

ดังที่ศาสตราจารย์นิธิ ให้แนวหลักเกณฑ์ในการจับประเด็น และคัดเลือกข่าวไว้ว่า อุบัติการณ์ต้องสะท้อนได้ กว้างไปกว่าตัวของอุบัติการณ์นั้น และต้องเชื่อมโยงไปถึง สิ่งที่ใหญ่กว่าอุบัติการณ์นั้น จะช่วยให้เรามองเห็น ความซับซ้อนของปัญหา ซึ่งอาจเป็นที่รับรู้กันทั่วไปแล้ว

เพื่อให้สังเกตเห็นถึงความรู้ใหม่ ที่สังคมอาจไม่เคยทราบมาก่อน โดยอาศัยความสามารถเฉพาะตัว ในการนำเสนอความขัดแย้ง ที่สลับซับซ้อนในระดับท้องถิ่น ซึ่งสื่อกระแสหลักมองข้าม หรือด้วยความที่อยู่วงนอกของปัญหา

ชาวบ้านส่วนมาก มักยอมรับชะตากรรมของตน จนปัญหาของคนเล็กๆ จำนวนมาก ที่เป็นผลมาจากนโยบาย ไม่ได้รับการนำเสนอ การมองปัญหาแบบชนชั้นกลาง มักสวนทางกับความจริง หากมองเรื่องใหญ่ ด้วยมุมของคนรากหญ้า จะได้แนวคิดแก้ปัญหาที่ต่างออกไป ไม่เหมือนความคิดของชนชั้นนำ หรือจะเป็นข้อมูลสถิติ ซึ่งไม่ตรงกับความเข้าใจในภาพรวม ที่สะท้อนวิกฤตที่ไม่มีใครเคยเห็น ส่งผลให้เกิดความเข้าใจใหม่ ซึ่งสะท้อนความเป็นจริงในชุมชน

ข่าวซึ่งไม่มีพื้นที่ในสื่อมวลชน ยังมีมากพอกับ ข่าวในประเทศที่บิดเบือน ดังนั้นการสืบเสาะ เปิดเผยความจริง เจาะประเด็นเชิงลึก จึงถือเป็นหน้าที่สำคัญของประชาธรรม ในอันที่จะตีแผ่ข่าวเล็กๆ ให้เป็นที่รับรู้ ดังที่ สุชาดา จักรพิสุทธิ์ นักวิชาการอิสระ เปรียบเทียบไว้ว่า สื่อมวลชนเหมือนรถใหญ่ ไม่สามารถเข้าซอยได้ แต่สำนักข่าวภาคประชาชน เปรียบเสมือนรถเล็ก ที่ซอกแซกเข้าซอยได้[๑]

ให้ชาวบ้านกำหนดทิศทางสังคม
สิ่งสำคัญในการเจาะประเด็นข่าวเหล่านี้ คือการเสนอมุมมองที่มักถูกมองข้าม ด้วยการเพิ่มเติมรายละเอียด ให้เกิดความหลากหลายในเนื้อหา และสร้างสมดุลกับหน้าหนังสือพิมพ์ โดยศาสตราจารย์นิธิ ให้ความสำคัญกับคนในอุบัติการณ์ต่างๆ โดยตั้งข้อสังเกตว่า ในข่าวเช่นนี้ มักแสดงให้เห็นเพียงนโยบายของรัฐเท่านั้น แต่ไม่มีคนปรากฏอยู่ ทว่าหากเกิดสำนักข่าวภาคประชาชน ก็น่าจะช่วยให้มองเห็นตัวคน ในอุบัติการณ์ต่างๆ ชัดเจนขึ้น

ข้อสังเกตที่น่าคิด อีกประการหนึ่งคือ ข่าวภาคประชาชนไม่มีสีสัน ไม่ทันเหตุการณ์ ไม่เป็นกลาง จะทำอย่างไร ให้ข้อเท็จจริงเหล่านี้ สื่อสารออกไปได้ อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อลองสังเกตว่า การพัฒนาประเทศ มีที่มาจากศูนย์กลาง ไม่มีใครฟังประชาชน ว่าพวกเขาต้องการอะไร ไม่มีแม้กระทั่งโอกาสเลือก เนื่องจากอิทธิพลของสื่อ ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนา จากผู้มีอำนาจสู่ผู้ถูกปกครอง หรือจากบนสู่ล่าง  ผู้กำหนดทิศทางข่าวสาร ก็คือผู้มีโอกาสใช้ และเข้าถึงสื่อนั่นเอง

การสื่อสารจากภาคประชาชน จึงเป็นการผลักดัน ให้พวกเขาได้โอกาสพลิกบทบาท เป็นผู้นำเสนอข่าวสารบ้าง เช่นบอกถึงสิ่งที่ต้องการ หรือไม่ต้องการ มีสิทธิเลือก หรือไม่เลือก แม้จะไม่เชี่ยวชาญ อย่างมืออาชีพ แต่ก็นับเป็นช่องทางหนึ่ง ที่ภาคประชาชน จะได้ผลักดันนโยบายสาธารณะ ตามที่ต้องการอย่างแท้จริง ทั้งเกิดกระบวนการเรียนรู้ ร่วมกันในชุมชน ควบคู่กับการพัฒนา วิธีการสื่อสารด้วย[๑]

---------------------------------------------------------------------------------------------
[๑] สำนักข่าวประชาธรรม, ความเป็นมาของประชาธรรม, จากเอกสาร “สรุปบทเรียน สำนักข่าวประชาธรรม”, ๒๕๔๗