วันศุกร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2554

ฅนข่าวเท้าติดดิน: บทที่ ๐๕ สื่อพลเมืองรอบโลก


สื่อพลเมืองรอบโลก


จาก: ฅนข่าวเท้าติดดิน
โดย: ภัทรพล สุธาวุฒิไกร


ดังที่อธิบายถึงกำเนิดของสื่อพลเมืองไปแล้ว ในบทที่ผ่านมา แต่ยังมิได้กล่าวถึง ตัวของสื่อพลเมืองแต่ละแห่ง ที่เกิดขึ้นในช่วง รอยต่อของสหัสวรรษที่ ๒ และ ๓ อย่างมากมายและรวดเร็ว ราวกับดอกเห็ด กระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลก ก่อนที่จะได้กล่าวถึงสื่อพลเมือง และนักข่าวพลเมืองของไทยอย่างละเอียด ในบทต่อๆ ไป

โอมายนิวส์: www.ohmynews.com
โอมายนิวส์ นับเป็นผู้นำวารสารศาสตร์พลเมืองแห่งโลก ก่อตั้งเมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๓ (ค.ศ. ๒๐๐๐) โดย โอ ยอน โฮ (Oh Yeon Ho) อดีตผู้สื่อข่าวประจำนิตยสารข่าวทางเลือกฉบับหนึ่ง ปัจจุบันเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของโอมายนิวส์ ภายใต้คำขวัญว่า “ประชากรทุกคนเป็นผู้สื่อข่าว” (Every Citizen is a Reporter)

จุดเด่นที่สำคัญยิ่งของโอมายนิวส์ก็คือ ข้อมูลข่าวสารในเว็บไซต์นี้เกือบทั้งหมด จัดทำโดยผู้สื่อข่าวพลเมือง โดยเริ่มจากเว็บหลัก ในรูปแบบภาษาเกาหลีก่อน จากนั้นจึงเปิดหน้าเว็บในรูปแบบภาษาอังกฤษ (ยังดำเนินการอยู่) และภาษาญี่ปุ่น (ปิดตัวไปเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๑) ตามมา ซึ่งในแต่ละวัน จะมีข่าวสาร บทความ และข้อเขียนต่างๆ เข้ามาเป็นหลายร้อยชิ้น

ปัจจุบัน โอมายนิวส์ มีกองบรรณาธิการประจำประมาณ ๑๐๐ คน ที่คอยสนับสนุนทางเทคนิค และตรวจสอบขัดเกลาภาษาข่าว ให้กับผู้สื่อข่าวพลเมืองในสังกัด ที่มีกว่า ๖๐,๐๐๐ คน เฉพาะรูปแบบ โอมายนิวส์ อินเตอร์เนชั่นแนล ก็มีจำนวนถึง ๖,๐๐๐ คน ในกว่า ๑๑๐ ประเทศทั่วโลก (ข้อมูล พ.ศ. ๒๕๕๒)

การกำหนดจรรยาบรรณร่วมกัน โดยบรรดาผู้สื่อข่าวพลเมืองด้วยกันเอง อย่างเข้มข้น และชัดเจน นับเป็นเอกลักษณ์อีกอย่างของ โอมายนิวส์ นอกจากนี้ การลงทะเบียนเป็นผู้สื่อข่าวพลเมือง ยังต้องใช้เลขประจำตัวประชาชน เพื่อยืนยันตัวตน และตรวจสอบได้ ในกรณีที่เกิดปัญหากับข้อเขียนของบุคคลนั้นๆ ด้วย

ทั้งนี้ รายได้ของโอมายนิวส์ส่วนมาก มาจากการเปิดพื้นที่โฆษณาในหน้าเว็บ อีกส่วนหนึ่งมาจากการจำหน่ายเนื้อหาข่าว ให้แก่สำนักข่าวทั่วโลก และยังได้รับบริจาคอีกเป็นส่วนน้อย โดยระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๔๓-๒๕๔๕ โอมายนิวส์ยังคงขาดทุน เนื่องจากยังไม่เกิดผลตอบรับที่ดีนัก แต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๖ เป็นต้นมา เริ่มมีกำไรเพิ่มขึ้น จึงสามารถเปิดเว็บเป็นภาษาอื่น หรือการผลิตนิตยสารฉบับพิมพ์ เป็นต้น โดยในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ มีรายได้ ๗๐,๐๐๐ เหรียญสหรัฐฯ

เมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๐ (ค.ศ. ๒๐๐๗) มีการเปิดโรงเรียนผู้สื่อข่าวพลเมืองแห่งแรกของโลก จากความคิดของโอ อีกครั้ง ในชื่อว่า “โรงเรียนวารสารศาสตร์โอมายนิวส์” (The OhMyNews Journalism School) ในหมู่บ้านเล็กๆ ใกล้กับกรุงโซล เมืองหลวงของเกาหลีใต้ทางทิศใต้

โดยเปิดหลักสูตรการทำข่าวแบบมืออาชีพ เช่นการหาข่าว การสัมภาษณ์ การเขียนข่าว การใช้กล้องถ่ายภาพ และกล้องวิดีโอดิจิตอล เป็นต้น ให้แก่บุคคลผู้สนใจ ทั้งนี้ ทางโรงเรียนยังมีห้องพักรับรอง สำหรับนักเรียนได้ประมาณ ๑๐๐ คนด้วย

อินดี้มีเดีย: www.indymedia.org
อินดิเพนเดนท์ มีเดีย เซ็นเตอร์ (อินดี้มีเดีย) ก่อตั้งเมื่อ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๒ เป็นสื่อทางเลือกอีกแห่ง ที่เปิดรับข่าวสารจากผู้สื่อข่าวพลเมือง นอกจากผู้สื่อข่าวอาสาสมัคร โดยมีกำเนิดมาจาก กลุ่มนักเคลื่อนไหวภาคประชาสังคม จากองค์กรพัฒนาเอกชน (Non-Government Organization – NGOs) ทั่วโลกมารวมตัวกัน เพื่อสื่อสารขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมผ่านสื่ออินเทอร์เน็ต ซึ่งมีความเป็นสากล ส่งผลให้เกิดการเจรจากับรัฐบาล ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ที่เป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างมาก โดยให้ความสำคัญกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน โดยชาวบ้านในชุมชนเอง, การต่อต้านกลุ่มทุนข้ามชาติ ที่มีผลกระทบในทางลบแก่ชุมชน ตลอดจนส่งเสริมให้คนชายขอบ เรียนรู้ในเรื่องสิทธิมนุษยชน เป็นต้น

วิกิข่าว: www.wikinews.org
วิกิข่าว เป็นเว็บไซต์ข่าวที่มีแนวคิดในการเปิดกว้าง ให้กับบุคคลทั่วไป สามารถเขียนข่าวได้เองอย่างอิสระ โดยใช้ชื่อลงทะเบียนหรือไม่ก็ได้ เช่นเดียวกับวิกิพีเดีย ที่จัดทำโดย มูลนิธิวิกิมีเดีย เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ โครงการทั้งหมดของวิกิมีเดีย ก่อตั้งโดย จิมมี เวลส์ (Jimmy Wales) ผู้ประกอบการเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตชาวอเมริกัน

นอกจากนี้ ยังมีเว็บไซต์ข่าวทั่วโลกอีกหลายแห่ง ที่เปิดรับผลงานจากผู้สื่อข่าวพลเมือง เช่น เกอร์ริลล่า นิวส์ เน็ตเวิร์ค (Guerrilla News Network – ก่อตั้งเมื่อ ค.ศ. ๒๐๐๐), เดอะ เรียล นิวส์ (The Real News – ก่อตั้งเมื่อ ค.ศ. ๒๐๐๗), อเมริกัน นิวส์ โปรเจ็กท์ (American News Project – ก่อตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๒๐๐๘) เป็นต้น