วันศุกร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2554

ฅนข่าวเท้าติดดิน: บทที่ ๐๑ เมื่อพลเมืองลุกขึ้นทำข่าว


เมื่อพลเมืองลุกขึ้นทำข่าว

จาก: ฅนข่าวเท้าติดดิน
โดย: ภัทรพล สุธาวุฒิไกร

ปัจจุบัน ความตื่นตัวต่อการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร (Information) แผ่ขยายออกไปในหมู่ชาวโลกทั้งมวล ทั้งยังทวีขึ้นเป็นลำดับ จนกระทั่งก้าวไปถึงจุดที่ผู้อ่านมองเห็นศักยภาพของตน พร้อมกับความปรารถนา ในอันที่จะผลิตข่าวสารขึ้นเอง จากเหตุการณ์ที่คนเดินดินธรรมดาๆ ได้ประสบมาด้วยตาตัวเอง

แต่กลับยังไม่พบช่องทาง (Channel) ที่จะตอบสนองคนเหล่านั้นได้ครบถ้วน ตรงตามที่เขาต้องการ แต่แล้ว เครือข่ายใยพิภพอย่างอินเทอร์เน็ต (Internet) ก็สามารถเนรมิตที่ว่างสุดลูกหูลูกตา ให้กับพลเมืองทั่วไป ด้วยการเข้าถึงที่ไม่ยากมากนัก รวมถึงมีค่าใช้จ่ายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ก่อนหน้านั้น องค์กรภาคประชาชน ตลอดกระทั่งพลเมืองผู้สนใจ ต่างพยายามทุกวิถีทาง ในอันที่จะเรียกร้องให้ได้มา ซึ่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น อันเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่พึงมี แม้จะต้องต่อสู้กับผู้มีอำนาจในสังคมอย่างโชกโชนก็ตาม

เนื่องจากคนเหล่านั้น ซึ่งมักเป็นฝ่ายรัฐ จะพยายามปิดกั้นไม่ให้คนเล็กๆ สามารถมีตัวตนในพื้นที่สื่อ ซึ่งเป็นของพวกตนได้อย่างอิสระ แต่แล้วเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต ก็เข้ามามีบทบาทอย่างสำคัญ ที่ช่วยให้อำนาจการนำเสนอข่าว เข้าถึงประชาชนทุกคนได้อย่างเท่าเทียมกัน

อย่างไรก็ดี วิจารณญาณของพลเมืองเอง ตลอดจนองค์กรพัฒนาเอกชนเหล่านี้ ในการนำเสนอข้อมูลเรื่องราวต่างๆ ยังล่อแหลมต่อการมีอคติส่วนตัว แอบแฝงในเรื่องราวที่นำเสนอได้มาก ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้รับสารเชื่อและเข้าใจคล้อยตามได้ไม่ยาก และหากเป็นข้อมูลผิด ยิ่งทำให้เกิดอันตรายแก่สังคมโดยรวมอีกด้วย

ดังนั้น คุณสมบัติที่ผู้บริโภคข่าวสารในยุคนี้ จำเป็นต้องมีก็คือ เข้าถึงการรับข่าวสารจากสื่อหลายแหล่ง เพื่อถ่วงดุลข้อมูล ทำให้ตัดสินความจริงได้ด้วยตนเอง ตลอดจนความรู้เท่าทันสื่อ ทั้งสื่อมวลชน และสื่อบุคคล ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้รับสารเกิดความเข้มแข็ง ไม่ถูกชวนเชื่อหรือล่อลวงให้หลงเชื่อไปได้

นักวิชาการสื่อและวารสารศาสตร์ทั่วโลก ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ พยายามค้นหาคำตอบ ถึงกระบวนการผลิต และเผยแพร่ข่าว ในกลุ่มมวลชนด้วยกันเอง โดยไม่ต้องผ่านสื่อสารมวลชน เริ่มจากการให้นิยามความหมายของความเป็น “วารสารศาสตร์พลเมือง” ซึ่งมีอยู่หลายท่าน ดังจะได้อธิบายต่อจากนี้

มาร์ค เกลเซอร์ (Mark Glaser) นักเขียน และนักวิชาการสื่อ กล่าวไว้ว่า “…วารสารศาสตร์พลเมือง คือประชาชนทั่วๆ ไป ที่ไม่ได้ผ่านการฝึกฝนให้เป็นนักข่าวมืออาชีพ แต่สามารถใช้เครื่องมืออุปกรณ์ เทคโนโลยีอันทันสมัย รวมถึงการใช้อินเทอร์เน็ต ในการสร้างสรรค์ โต้แย้ง หรือตรวจสอบข้อมูลของสื่อด้วยตัวเอง…”[๑]

เนเดอร์ (Nader) ให้ความจำกัดความ สื่อภาคประชาชน อย่างกว้างๆ โดยเปรียบเทียบว่า “อะไรก็ตามที่ไม่ใช่สื่อกระแสหลัก ที่มีเจ้าของเป็นบริษัทห้างร้าน ก็ถือว่าเป็นสื่อภาคประชาชน”[๒]

เซียมโบ-โฟกล์ (Ziembo-Vogl) ให้คำจำกัดความแนวคิดหนังสือพิมพ์ภาคประชาชน โดยเปรียบเทียบกับแนวคิด ตำรวจชุมชน (Community Policing) โดยสรุปว่า “หนังสือพิมพ์ภาคประชาชน มีลักษณะยากที่จะให้คำจำกัดความ และยังไม่มีคำจำกัดความ ซึ่งเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง ต้องได้รับความร่วมมือ และการมีส่วนร่วมจากประชาชน ต้องมีการพยายามแก้ปัญหาในระยะยาว เน้นที่การทำให้ภาคประชาชนเข้มแข็ง ผ่านการถูกต่อต้าน จากผู้ที่ไม่เห็นด้วย เป็นการนำเอาแนวปฏิบัติแบบเก่าๆ ที่มีอยู่แล้ว มาปัดฝุ่นใหม่ เป็นแนวที่แตกต่าง เสมือนเหล้าเก่าในขวดใหม่ มีความเชื่อว่า หนังสือพิมพ์แบบดั้งเดิม ต้องถูกแทนที่ ต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม ขององค์กรที่รับผิดชอบก่อน จึงจะเกิดสื่อภาคประชาชน ประชาชนจะเป็นผู้กำหนดความสำคัญของปัญหาต่างๆ หลังจากที่รับรู้ปัญหาแล้ว กระตุ้นส่งเสริม ให้ประชาชนมีส่วนร่วม ในกิจกรรมต่างๆ เพื่อลดความเฉื่อยชา และความเห็นแก่ตัวของคน”[๓]

โคลแมน (Coleman) ศึกษาพื้นฐานทางปรัชญา ของหนังสือพิมพ์ภาคประชาชน และชี้ว่า “ในจุดเริ่มต้น หนังสือพิมพ์ภาคประชาชน เป็นภาคปฏิบัติ มากกว่าจะสนใจให้คำจำกัดความ และจากหลายการศึกษา ที่อ้างถึง Coleman พบหลายคำที่ใช้เรียกหนังสือพิมพ์ภาคประชาชน อาทิ วารสารศาสตร์สาธารณะ (Public Journalism) ซึ่งมีที่มาจากแนวคิดของ Dewey เรื่อง มหาชนและปัญหาสาธารณะ (Public and its problems) บ้างใช้คำว่า สื่อพลเมือง (Civic Media) เพื่ออธิบายโดยนัย ถึงกิจกรรมที่หนังสือพิมพ์ชนิดนี้ยึดปฏิบัติ นอกจากนั้น ยังมีคนใช้ชื่อเรียกต่างๆ กันอีก เช่น วารสารศาสตร์ชุมชนใหม่ (The New Community Journalism) หรือ วารสารศาสตร์ภาคบริการสาธารณะ (Public Service Journalism) และ วารสารศาสตร์เพื่อชุมชน (Communitarian Journalism)”[๔]

เจย์ โรเซน (Jay Rosen) ซึ่งเป็นบุคคลที่ได้รับการขนานนามว่า เป็นผู้ริเริ่ม ศึกษา และพยายามจำกัดความหมาย ของหนังสือพิมพ์ภาคประชาชนอย่างต่อเนื่อง โรเซนได้ให้คำนิยามเชิงปฏิบัติการ เพื่อให้พัฒนาทฤษฎีหนังสือพิมพ์ภาคประชาชน (Public Journalism Theory) อย่างเป็นไปได้ (แม้เขาจะตระหนักดีว่า หนังสือพิมพ์ภาคประชาชนยังไม่มีความหมายร่วม) โดยนิยามว่า “การหนังสือพิมพ์ สามารถ และควรจะสวมบทบาทหลัก ในการทำให้ภาคประชาชนเข้มแข็งขึ้น ส่งเสริมการถกแถลง และอภิปรายในระดับสาธารณะ และท้ายที่สุด ทำหน้าที่ชุบชีวิตความเป็นประชาชน โดยหนังสือพิมพ์ภาคประชาชนจะเป็นกระบวนการที่สร้างขึ้น เพื่อทำหน้าที่รายงานประเด็นต่างๆ ที่ผู้อ่านเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ มากกว่าจะรายงานข่าวตามที่ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลาย เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ ประเด็นต่อมา หนังสือพิมพ์ภาคประชาชนทำหน้าที่ส่งเสริม การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของสาธารณะ ในเรื่องใดก็ตาม ซึ่งท้ายที่สุด จะนำมาซึ่ง การทำงานเป็นกลุ่ม พร้อมทั้งแก้ปัญหาที่พบได้ ประเด็นที่สามคือ เป้าหมายหลักของหนังสือพิมพ์ภาคประชาชน คือการสร้างความเข้มแข็งให้กับพลเมือง พัฒนาคุณภาพของการถกเถียง อภิปรายความเห็นในระดับสาธารณะ และทำให้สาธารณชนมีความกระตือรือร้นมากขึ้น”

รองศาสตราจารย์ พิรงรอง รามสูต รณะนันทน์ หัวหน้าสาขาวิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวไว้ว่า “สื่อภาคประชาชน เป็นสื่อที่มีความหมายคาบเกี่ยวกับ สื่อทางเลือก และ สื่อชุมชน วัตถุประสงค์สำคัญในการก่อตั้ง ไม่ใช่เพื่อเป็นช่องทางแสวงกำไรสูงสุด แต่เพื่อผล
ประโยชน์สูงสุดของประชาชน หรือชุมชนที่เกี่ยวข้อง มีความเป็นอิสระ ปราศจากการถูกควบคุม จากภาครัฐ และเอกชน ทั้งทางด้านการดำเนินงาน และทิศทางของเนื้อหาที่นำเสนอ”[๕]

ดังนั้น “วารสารศาสตร์พลเมือง” (Citizen (Civic) Journalism) จึงหมายถึง หลักทางวิชาการ เกี่ยวกับกระบวนการผลิตสื่อ ของพลเมือง โดยพลเมือง เพื่อพลเมืองด้วยกันเอง ซึ่งประกอบด้วย “สื่อพลเมือง” (Citizen Media) เป็นช่องทางที่พลเมืองใช้ในการสื่อสารสู่สาธารณชน มีรูปแบบใดก็ได้ ตามแต่ความสามารถที่จะคิดสร้างสรรค์ขึ้น และสามารถดำเนินการได้จริง ส่วนมากจะเป็นช่องทางที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ เช่น อินเทอร์เน็ต (เว็บบอร์ด และเว็บล็อก) หรือเสียค่าใช้จ่ายน้อย เช่น สิ่งพิมพ์ (ใบปลิว แผ่นพับ โปสเตอร์ ฯลฯ) โดยเกิดขึ้นเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน ของประชาชน หรือชุมชนใกล้เคียง[๗]

“ผู้สื่อข่าวพลเมือง” (Citizen Reporter) เป็นพลเมืองปัจเจก หรือเป็นพลเมืองกลุ่มย่อย ที่ทำงานอาสาสมัคร หรือเป็นองค์กรขนาดเล็ก ในการรายงานเรื่องราวที่เกิดขึ้นรอบตัว หรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆ[๘]

“สารจากพลเมือง” (Citizen Messages) เป็นเนื้อหาที่พลเมืองนำเสนอผ่านสื่อพลเมือง มักเป็นเรื่องราวที่ใกล้ตัวของพลเมืองผู้ผลิตสื่อนั้น และมักเป็นกรณีที่สร้างผลกระทบ กับสังคมวงแคบโดยตรง แต่อาจส่งผลกระทบกับสังคมวงกว้างในทางอ้อมหรือไม่ก็ได้ หรืออาจเป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล ในเรื่องราวต่างๆ นับแต่ระดับประเทศ จนถึงระดับบุคคล ก็ได้เช่นกัน

ดังนั้น เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ จึงมีขอบเขตอยู่ภายใต้นิยามโดยสรุป ของคำว่า วารสารศาสตร์พลเมือง, สื่อพลเมือง, ผู้สื่อข่าวพลเมือง และ สารจากพลเมือง ดังที่บรรยายไว้ข้างต้น

--------------------------------------------------------------------------------------------------
[๑] มานะ ตรีรยาภิวัฒน์, “Citizen Journalism วารสารศาสตร์พลเมือง (๑)”, ใน Thaicoon ฉบับเมษายน ๒๕๕๑
[๒] Nader, “To promote democracy, bring pressure on the media”, USA Today Magazine, Vol.120 No.2562 (1992), 89, อ้างถึงใน พิรงรอง รามสูต รณะนันทน์, “รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์เรื่องสื่อภาคประชาชน,” (๒๕๔๗), ๑๑
[๓] Ziembo-Vogl, “The function of the media in community policing”, Unpublished dissertation for Doctor of Philosophy degree. Michigan State University. East Lansing, MI., (1998), อ้างถึงใน พิรงรอง รามสูต รณะนันทน์, “รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์เรื่องสื่อภาคประชาชน,” (๒๕๔๗), ๑๒
[๔] Coleman, “The intellectual antecedents of public journalism”, Journal of Communication Inquiry, Vol.21 No.1 (1997), 60, อ้างถึงใน พิรงรอง รามสูต รณะนันทน์, “รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์เรื่องสื่อภาคประชาชน,” (๒๕๔๗), ๑๒
[๕] พิรงรอง รามสูต รณะนันทน์, (๒๕๔๗) “รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์เรื่องสื่อภาคประชาชน”, หน้า viii