วันศุกร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2554

ฅนข่าวเท้าติดดิน: บทนำ


บทที่ ๑
บทนำ

จาก: ปริญญานิพนธ์ โครงการจัดทำหนังสือพกพา เรื่อง “ฅนข่าวเท้าติดดิน”
โดย: นายภัทรพล สุธาวุฒิไกร

หลักการและเหตุผล
กระบวนการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสู่สาธารณชน ที่เรียกขานทั่วไปว่า วารสารศาสตร์ (Journalism) มีวิวัฒนาการจากยุคเริ่มต้นไปอย่างมากมาย เกินกว่าที่ผู้คนในสมัยนั้นจะคาดถึง ซึ่งมักจะเป็นพัฒนาการในการใช้สื่อ เช่น จากหนังสือพิมพ์ สู่นิตยสาร, จากนิตยสาร สู่วิทยุกระจายเสียง, จากวิทยุกระจายเสียง สู่วิทยุโทรทัศน์ และ จากคลื่นวิทยุในอากาศ สู่สัญญาณดาวเทียม เป็นต้น

นับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๙ เป็นต้นมา การใช้อินเทอร์เน็ต (Internet) ในกระบวนการส่งข่าวสารไปถึงประชาชน เริ่มเป็นที่นิยมแพร่หลายในไทย แม้จะมีผู้เข้าถึงได้น้อยในระยะแรก แต่นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ของกระบวนการวารสารศาสตร์ในประเทศ ส่งผลให้ หนังสือพิมพ์ สำนักข่าว และฝ่ายข่าวโทรทัศน์ ต่างก็ปรับปรุงตัวเองให้ทันแก่ยุคสมัย ด้วยการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่แต่ละแห่งผลิตได้ บนหน้าเว็บไซต์ของตน ตลอดจนการเผยแพร่ภาพและเสียงที่ออกอากาศในช่องทางปกติบนอินเทอร์เน็ตด้วย จนกระทั่งกลายเป็นที่นิยมแพร่หลายอย่างสูงสุด ก่อนจะเข้าสู่สหัสวรรษใหม่เสียอีก

ต่อมาไม่นาน อินเทอร์เน็ตก็กลายเป็นเครื่องมือหลัก ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ในวงการวารสารศาสตร์ของโลกอีกครั้ง เมื่อมีเหตุการณ์สำคัญเร่งด่วนร้ายแรง หรือที่ผู้สื่อข่าวอาชีพ ไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่เกิดเหตุได้ การบอกเล่าและเผยแพร่ภาพเหตุการณ์เหล่านั้น จากผู้อยู่ในเหตุการณ์ ผ่านช่องทางต่างๆ ที่คนเหล่านั้นสามารถเข้าถึงได้ กลายเป็นกระบวนการใหม่ทางวารสารศาสตร์ ไปอย่างรวดเร็วโดยปริยาย

วารสารศาสตร์พลเมือง (Citizen Journalism) เป็นคำจำกัดความที่เกิดขึ้น หลังจากที่เกิดกระบวนการดังกล่าวนั้นแล้ว ซึ่งต่อมา กระบวนการลักษณะนี้ มีวิวัฒนาการไปอย่างรวดเร็ว ทั้งลักษณะดั้งเดิม ที่แยกตัวเป็นอิสระ ไม่ขึ้นกับใคร หรือการเผยแพร่ร่วมกันในรูปขององค์กร และการตั้งเป็นองค์กรขึ้นก่อน เพื่อให้สมาชิกรวมตัวกัน ภายใต้วัตถุประสงค์ขององค์กรในภายหลัง ตลอดจนการใช้ภาษาข่าว ในการเขียนเนื้อหา หรือนำคลิปวิดีโอมาประกอบแทนภาพนิ่ง เพื่อเพิ่มความกระจ่างชัดแก่ข่าวเหล่านั้นยิ่งขึ้น

ข่าวสารต่างๆ อันเกิดขึ้นจากกระบวนการของวารสารศาสตร์พลเมือง ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคม อย่างชัดเจนและรุนแรง โดยเฉพาะกับเหตุการณ์ที่เป็นปริศนา มีความคลุมเครือ มีข้อเท็จจริงหลายประเด็น ที่ขัดแย้งกันเอง โดยข้อมูลจากผู้สื่อข่าวพลเมือง ซึ่งนับเป็นประจักษ์พยาน ที่ผลิตปากคำของตน เป็นหลักฐานเอกสาร อาจช่วยให้ความจริงปรากฏขึ้นได้

การนำเสนอโดยใช้รูปแบบหนังสือพกพา (Pocket Book) เนื่องจากสามารถเข้าถึงพลเมืองได้ทุกระดับ เพศ และวัย ทั้งยังสามารถลงรายละเอียด ในเนื้อหาแต่ละเรื่องย่อย ได้อย่างชัดเจนครบถ้วน เพื่อเป็นการแนะนำให้รู้จักวารสารศาสตร์พลเมือง ให้เข้าใจในกระบวนการอย่างลึกซึ้ง สำหรับผู้สนใจการปฏิบัติตน เพื่อเป็นอาสาสมัครผู้สื่อข่าวพลเมือง อย่างถูกต้อง เที่ยงธรรม และสร้างประโยชน์สาธารณะแก่สังคมต่อไป

ความเป็นมา
เนื่องจากผู้เขียนมีความสนใจ และศึกษาค้นคว้า เกี่ยวกับการนิเทศศาสตร์ และการวารสารศาสตร์อยู่เสมอ โดยเฉพาะความรู้ที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ จึงได้พบกับวารสารศาสตร์พลเมือง ในเครือข่ายอินเทอร์เน็ต อันเป็นแหล่งหลักที่มีขนาดใหญ่ที่สุดด้วย เห็นว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจ และอาจเป็นเรื่องราวที่มีผู้ต้องการค้นหาข้อมูลเป็นจำนวนมากในอนาคต ดังนั้น การรวบรวมไว้อย่างละเอียดครบถ้วน จึงนับว่าเป็นประโยชน์อย่างสูงสำหรับผู้สนใจในเรื่องดังกล่าว

วัตถุประสงค์
๑. เพื่อนิยามความหมายของวารสารศาสตร์ภาคพลเมืองอย่างสมบูรณ์ครบถ้วน
๒. เพื่อแสดงลักษณะทั่วไป ที่มีความเฉพาะตัวของสื่อพลเมือง
๓. เพื่อลำดับวิวัฒนาการ ของวารสารศาสตร์พลเมือง
๔. เพื่ออธิบายถึงสื่อพลเมือง ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ทั้งที่ปัจเจก และที่เป็นองค์กร
๕. เพื่อเรียนรู้ทฤษฎี จากประสบการณ์ตรง ของผู้ปฏิบัติงานสื่อพลเมือง
๖. เพื่อวิเคราะห์ถึงแนวโน้ม และทิศทาง ในการก้าวหน้า ของวารสารศาสตร์พลเมืองในอนาคต

ผลที่ได้รับ
๑. เรียนรู้และเข้าใจในขั้นตอนการผลิตหนังสือพกพา (พ็อกเก็ตบุ๊ก)
๒. เรียนรู้และเข้าใจกระบวนการสืบค้นข้อมูลดิบ เพื่อนำมาใช้ผลิตงาน