วันศุกร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2554

ฅนข่าวเท้าติดดิน: บทที่ ๑๒ นานาทรรศนะว่าด้วยวารสารศาสตร์พลเมือง


‘นานาทรรศนะ’ ว่าด้วย วารสารศาสตร์พลเมือง

จาก: ฅนข่าวเท้าติดดิน
โดย: ภัทรพล สุธาวุฒิไกร

จากการที่ผู้เขียน มีโอกาสได้สนทนากับนักวารสารศาสตร์พลเมือง และผู้สื่อข่าวพลเมืองระดับแนวหน้าของเมืองไทยหลายคน โดยมีคำถามที่เกี่ยวกับความรู้ และมุมมองเกี่ยวกับวารสารศาสตร์พลเมือง ในหลายประเด็นด้วยกัน ซึ่งจะได้รวบรวมนำเสนอไว้ในบทนี้

จุดกำเนิดและพัฒนาการของสื่อพลเมือง
ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข บ.ก.ประชาไท: เดิมในประวัติศาสตร์มนุษยชาติเนี่ย มันมีสื่อภาคพลเมืองอยู่อย่างเดียว คือการกระจายข่าวสารแบบซุบซิบนินทานั่นแหละ ซึ่งใช้ได้ผลมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว นอกนั้นใบปลิวก็เคยมี แต่ก็ไม่ได้กระจายกว้างขวาง พลังของใบปลิวเนี่ยมันอาจจะพอๆ กับซุบซิบนินทา แล้วก็ต้องใช้ทุนสูงด้วย

ที่จริงความต้องการสื่อของพลเมืองเนี่ยมันมีมานานแล้ว เริ่มมาตั้งแต่อยากจะมีทีวีเสรี แล้วก็มีเกิดขึ้นเป็นไอทีวี แต่ปรากฏว่าเนื่องจากต้นทุนสูง ต้องลงทุนก็เลยไปให้สัมปทานเอกชน เลยกลายเป็นทีวีของเอกชนไปซะ ซึ่งผิดจากเจตนารมณ์แล้ว ทีนี้พอมีรัฐธรรมนูญ’๔๐ ที่ประชาชนทั้งประเทศยกร่างกันเนี่ย ก็มีความคิดว่าจะต้องมีสื่อภาคพลเมืองให้ได้ ก็พยายามจะทำเรื่องปฏิรูปสื่อ ทำเรื่องเอาคลื่นมาเป็นของสาธารณะ อะไรอย่างนี้ก็ทำไม่สำเร็จ จนกระทั่งมีรัฐประหาร’๔๙ ก็ผ่านไป ๑๐ ปี

สมบัติ บุญงามอนงค์ (บ.ก.ลายจุด, หนูหริ่ง): สื่อพลเมือง เป็นความพยายามของประชาชนที่จะมีพื้นที่สื่อสารในกลุ่มตัวเอง ที่มีช่องว่างเพราะไม่สามารถเข้าถึงคลื่นความถี่ซึ่งรัฐถือครองอยู่ และไม่สามารถผลิตสื่อแบบธุรกิจได้เพราะมีต้นทุนสูง ส่วนพลเมืองก็จะไม่มีเงินแต่มีประเด็น ปัจจุบันผมคิดว่าสื่อพลเมือง มีบทบาทสำคัญอยู่สองชนิด คือวิทยุชุมชนและอินเทอร์เน็ต

ชาลี วาระดี บรรณาธิการโอเคเนชั่น:  ที่จริงมันก็เกิดขึ้นอย่างไม่เป็นรูปธรรมนะ อย่างเช่นเวลามีข้อมูล การทุจริตคอรัปชั่นของใครคนใดคนหนึ่ง แล้วก็ส่งไปให้สื่อมวลชน ก็ถือว่าเป็นการให้ข้อมูลกับสื่อ หรือมีข้อเขียนส่งไปให้สื่อมวลชนพิจารณา อันนี้ก็เป็นรูปแบบการทำงานของนักข่าวพลเมือง เพียงแต่ว่าที่มันก้าวมาถึงจุดนี้เนี่ย เพราะเขาสามารถมีพื้นที่เขียนเอง พอมีเว็บไซต์เขาก็เอาข้อมูลตรงนั้นมาเขียน

แต่ถ้าถามถึงจุดเริ่มต้น ถ้าจะเอาอย่างจริงๆ จังๆ นะ ที่สัมผัสได้ก็จะมีเหตุการณ์ระเบิดรถไฟใต้ดิน ในลอนดอน ที่อังกฤษ อันนี้เป็นปรากฏการณ์ที่วงการสื่อเขาหยิบเป็นกรณีศึกษา ก็คือคนที่อยู่ในรถไฟเนี่ย ซึ่งเป็นผู้ประสบเหตุเอง เขาก็ใช้โทรศัพท์มือถือ ซึ่งเทคโนโลยีมันให้ล่ะ แล้วก็ถ่ายรูปเหตุการณ์ไว้ พอดีจังหวะที่สถานีข่าวบีบีซีเขาก็เปิดรับรูปจากมือถือ ภาพเหตุการณ์ข้างในก็มีคนส่งเข้าไปทางเว็บไซต์เขาแล้วก็เอาไปออกทีวี

มันก็กลายเป็นปรากฏการณ์นักข่าวพลเมือง ซึ่งทำให้สื่อกระแสหลักสนใจเข้าไปสัมผัสตรงนั้น เพราะประเด็นของประโยคที่ว่า นักข่าวไม่สามารถอยู่ในทุกพื้นที่ และทุกคนเป็นนักข่าวได้ ทุกคนสามารถช่วยกันสื่อสารออกไปได้ นั่นเป็นจุดหนึ่ง และมีกรณีเกิดเรื่องปรากฏการณ์สึนามิของไทยเราซึ่งมีคนเข้าไปเขียนเรื่องมากมาย อะไรอย่างนี้ เรื่องพายุนาร์กีสที่พม่า คนก็ส่งภาพถ่ายเข้าไปสู่บล็อก สู่เว็บไซต์ สู่ยูทูบ ก็ทำให้นักข่าวพลเมืองกระเพื่อมขึ้นมาค่อนข้างรุนแรง


อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล (Bact’): ไม่รู้แฮะ กำเนิดที่แท้จริงคิดว่ามันคงไม่มีวันเกิดแบบที่ระบุได้ หรือกระทั่งมาจากที่ไหน คิดว่ามันก็เป็นกระแสโลก เกิดขึ้นพร้อมกันในหลายๆ ที่ คงเกิดก่อนจะมีคำเรียกว่าวารสารศาสตร์พลเมืองแน่ ถ้าพูดถึงกระแสความสนใจในวงกว้าง โดยเฉพาะความเข้าใจอย่างปัจจุบัน ในคำเรียกว่าวารสารศาสตร์พลเมืองหรือวารสารศาสตร์รากหญ้า (Grassroot Journalism) นี่ก็คงจะประมาณ ๕ ปีได้

ก่อนหน้านี้ก็มีแนวคิดเรื่องสื่อชุมชนมาก่อนแล้ว ซึ่งก็ค่อยๆ มาสู่สื่อพลเมือง โดยทั้งหมดนี่ แนวคิดหลักๆ ก็คือ ทำอย่างไรให้คนทั่วไปมีส่วนร่วมกับการผลิตสื่อได้มากขึ้น สื่อชุมชนนี่คนทำอาจยังเป็นพวกมืออาชีพ แต่ระยะห่างก็ย่นเข้ามาใกล้กับคนทั่วไปมากขึ้น ส่วนสื่อพลเมืองนี่ก็เอ้า!ทำเองเลยแล้วกัน ทุกคนเป็นนักข่าวได้ ไม่รู้จะระบุลงไปว่ามันเกิดตั้งแต่เมื่อไหร่น่ะ


วิทยุชุมชน
ชูวัส: รัฐธรรมนูญ’๔๐ บัญญัติให้คลื่นเป็นของสาธารณะ จึงทำให้วิทยุคลื่นสั้นซึ่งเคยเป็นของรัฐ ชาวบ้านทำเองได้หมด วิทยุชุมชนเนี่ยเป็นสื่อภาคพลเมืองอันหนึ่ง ซึ่งเราอาจจะมองข้ามเพราะเราอยู่ในเมือง แต่ที่อยู่ในเมืองก็มีนะ วิทยุชุมชนจะเป็นของชนบทเป็นหลักที่ทำเรื่องนี้ กระจายข่าวสารกันในกลุ่มเล็กๆ ในระยะ ๓๐ กิโลเมตร บ้าง ๑๐ กิโลเมตรบ้าง รัศมีตามนั้น

ซึ่งระยะยาวแล้วเนี่ย เส้นทางของวิทยุชุมชนจะเดินคู่กับอินเทอร์เน็ต คือรายการหรือข้อมูลความรู้จะมาจากอินเทอร์เน็ต แล้ววิทยุชุมชนก็เอาไปเผยแพร่ต่อเป็นช่องทางหนึ่ง รวมทั้งอินเทอร์เน็ตก็กลายเป็นช่องทางสำหรับการทำวิทยุให้กับวิทยุชุมชนด้วย เป็นรายการเป็นอะไรกันก็ว่าไป

เพราะฉะนั้นในสังคมไทยปัจจุบันเนี่ย มันจะมีผ่านสื่อสองชนิด คืออินเทอร์เน็ตกับวิทยุชุมชน ซึ่งก็มีแบ่งย่อยออกไปอีกนะ มีประเภทวิทยุชุมชนที่ชาวบ้านทำเองแล้วพยายามอยู่ให้รอด ก็คือขอโฆษณาบ้างอะไรบ้าง กับที่พยายามไม่ขอโฆษณาเพื่อจะได้เป็นอิสระ

ถ้ารัฐมาจำกัดหรือควบคุมวิทยุชุมชน แน่นอน สื่อภาคพลเมืองก็หายไป ปัญหาคือว่าทำไมรัฐถึงต้องเข้ามาควบคุม เพราะกลัวเขาเห็นต่างจากรัฐใช่ไหม กลัวเขาวิจารณ์รัฐใช่ไหม ซึ่งมันก็ต้องตั้งคำถามกลับไปว่าตกลงสื่อเป็นของใครล่ะ คลื่นเป็นของใครล่ะ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นของใครล่ะ แล้วจะเข้ามาควบคุมได้อย่างไร รัฐก็ต้องตอบคำถามเหล่านี้ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ท้าทาย ซึ่งทุกรัฐก็พยายามจะควบคุมสื่ออยู่แล้ว นี่เป็นเรื่องปกติที่จะเกิดขึ้น ก็ต้องสู้กันไป

คือตอนนี้สู้กันทั้งในระดับนโยบายรัฐ ก็มีคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) ซึ่งทำงานเรื่องนี้อยู่ ก็พยายามเข้าไปท้วงติงว่า กฎหมายวิทยุชุมชนต้องยึดหลักเรื่องคลื่นเป็นของสาธารณะอยู่นะ ต้องให้ชาวบ้านได้ทำ ถ้าคิดว่ามีปัญหาเรื่องการควบคุมว่ามันจะสะเปะสะปะ มันจะไปรบกวนคลื่นเครื่องบินหรืออะไร ก็ต้องให้จดทะเบียนอย่างเสรี ก็คือถ้าใครจะไปขอก็ต้องขอได้ นี่ก็เป็นการสู้ในระดับนโยบายอยู่ ซึ่งสังคมไทยน่าจะตกผลึกพอสมควรแล้ว เพราะรัฐธรรมนูญ’๔๐ กับรัฐธรรมนูญ’๕๐ ก็ระบุตรงกันว่าคลื่นเป็นของสาธารณะ

ปัญหาอยู่ที่การบังคับใช้กฎหมาย คือหลักการบังคับชัดเจนว่าสื่อเหล่านี้ คลื่นความถี่และข้อมูลข่าวสารที่วิ่งอยู่ในสายเคเบิล เป็นของสาธารณะแน่นอน ปัญหาคือเวลาที่บังคับใช้กฎหมายเนี่ย รัฐก็พยายามจะควบคุมจนทำให้ไม่มีทางเป็นของชาวบ้านได้จริง มันเหมือนกับบอกว่ามนุษย์มีเสรีภาพในการเดินทาง แต่คุณคิดค่ารถหนึ่งหมื่นบาท คนก็ไปไม่ได้ แต่ก็มีเสรีภาพในการเดินทางนะ แต่คุณไม่เดินทางเอง เพราะคุณจน นั่นก็คือกระบวนการบังคับใช้ไม่เป็นจริง

เพราะฉะนั้น ปัญหาของสังคมไทยตอนนี้จึงเป็นเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย หลักการมันดี แต่คุณจะบังคับใช้อย่างไร คุณจะจดทะเบียนแล้วเก็บเงิน ชาวบ้านก็ไม่มีจ่ายก็ไม่ต้องทำวิทยุ อย่างนี้ก็ไม่ได้ คุณจะมาบอกว่าคลื่นเป็นของสาธารณะด้วย แต่ต้องรับจดทะเบียนที่สอดคล้องกับความเป็นไปได้ด้วย ที่จะทำให้เขาเป็นเจ้าของคลื่นจริงๆ

ความแตกต่างกับโทรทัศน์สาธารณะ
ชูวัส: มันมีความแตกต่างอยู่เยอะพอสมควรนะ คือหนึ่งเราไม่ได้ทุนจากรัฐ แต่สื่อทีวีสาธารณะซึ่งมีอยู่ช่องเดียวตอนนี้ได้ทุนจากรัฐ แม้เขาจะเป็นอิสระเนื่องจากกฎหมายบังคับให้เขาเป็นอิสระ บังคับให้รัฐต้องให้เงินโดยห้ามผูกพันการทำข่าวใดๆ ทั้งสิ้น แต่ว่าก็มีกรรมการ ปรัชญาก่อตั้งในการกำกับเขาอยู่ ซึ่งความคล่องตัวในการเสนอข่าวสารของเขาก็จะไม่เท่าเรา ส่วนที่แตกต่าง สำคัญที่สุดเลยก็คือพื้นที่เขามีจำกัดเพียง ๒๔ ชั่วโมงเท่านั้น แต่ของเราพื้นที่ไม่จำกัดคือคุณจะโพสต์กี่หน้าก็ได้ จะใส่กี่เรื่องก็ได้ เพราะเว็บไซต์รองรับได้หมด

ข้อแตกต่างอีกอันหนึ่งคือเรื่องของการเข้าถึง ทีวีสาธารณะเนี่ยการเข้าถึงของคนทั่วไปจะยากกว่า เนื่องจากข้อจำกัดด้านเวลาที่มี ๒๔ ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น สูงสุดไม่มากไปกว่านี้ เพราะเขามีช่องเดียว แต่ประชาไทใครๆ ก็เข้าถึงได้ เข้าถึงทั้งในแง่ของการส่งบทความส่งข่าว หรือการตอบโต้แสดงความเห็น แต่กับทีวีสาธารณะที่มีอยู่เนี่ยทำไม่ได้เลย ตอบโต้ได้น้อยมาก ส่งเอสเอ็มเอสก็อาจต้องถูกเซ็นเซอร์หรือถูกคัดกรอง แต่กับประชาไทนี่ค่อนข้างเปิดเสรีเต็มที่ คือทุกคนเข้าถึงได้หมด เขียนข่าวได้ส่งข่าวได้ ผ่านกระทู้ผ่านเว็บบอร์ดผ่านอะไรได้หมด คือการเข้าถึงมันมากกว่า

สรุปก็คือ ประชาไทเป็นสำนักข่าวที่สาธารณะเข้าถึง แต่ทีวีสาธารณะเนี่ยมันเป็นทีวีที่ใช้เงินสาธารณะ แต่ไม่ใช่ที่สาธารณะเข้าถึง มันมีความต่างตรงนี้

อินเทอร์เน็ต
ชาลี: ผมคิดว่ากระแสของทิศทางที่นำเสนอมีความสำคัญ ทั้งในส่วนประชาชนซึ่งต้องการข้อมูล ที่มากกว่าการนำเสนอข่าวด้านเดียวของสื่อกระแสหลัก เพราะเวลาดูทีวีหรืออ่านหนังสือพิมพ์ เราไม่สามารถแสดงความคิดเห็นเข้าไปได้ทันที แต่ถ้าคุณอ่านเว็บไซต์ก็แสดงความคิดเห็นได้ทันที ยิ่งกว่านั้นถ้าเขียนลงบล็อกส่วนตัวของเรา ก็จะเป็นการแสดงความคิดเห็นส่วนตัว ที่สร้างการมีส่วนร่วมในสังคม ในฐานะที่เป็นสื่อพลเมือง และกระแสนี้ก็ค่อนข้างได้รับความนิยมสูง

แม้ปัจจุบันจะมีเรื่องไดอารีเรื่องรักๆ ใคร่ๆ อะไรอย่างนี้ แต่เรื่องนี้ก็ต้องผลักดันและต้องสร้างให้เกิดขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง แล้วผมว่าได้รับการตอบรับค่อนข้างดี สังเกตจากเรื่องในบล็อกของเราระยะแรก ส่วนมากจะเป็นการคัดลอกข่าวจากเว็บไซต์ข่าวอื่นมาลง ซึ่งผมไม่เห็นด้วย แม้จะอ้างอิงแหล่งที่มา แต่มันก็ไม่ได้ก่อให้เกิดสติปัญญา เพราะฉะนั้นเรื่องอย่างนี้เราจะไม่ค่อยสนับสนุนเท่าไร แต่ในระยะหลังเริ่มน้อยลง คนเริ่มเขียนวิจารณ์ข่าว แต่ก็ไม่ได้ถือเป็นนักข่าวพลเมืองนะ ก็เหมือนเราเป็นคอลัมนิสต์ทางออนไลน์

อย่าลืมว่าสื่อกระแสหลัก ก็ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของภาคประชาชนได้หมด ประชาชนสามารถคิดอ่าน บางครั้งยังเสนอแนะให้แง่คิดดีๆ กับสังคมได้มากกว่าสื่อกระแสหลักด้วยซ้ำไป สมมติถ้าเป็นนักข่าว แล้วต้องไปทำเรื่องเกี่ยวกับการรักษา หรือการวินิจฉัยโรคก็ไม่สามารถทำได้ แค่สามารถตั้งคำถามกับแพทย์ได้ แต่ถ้าเปลี่ยนเป็น แพทย์คนนั้นเรียนเขียนข่าวแล้วมาเขียนข่าวเองล่ะ จะเขียนได้ลึกกว่าหรือเปล่า และจำเป็นต้องมีนักข่าวอีกไหม

เรื่องนี้ก็เป็นการตอบโจทย์ ของการเขียนบล็อกหรือการทำเว็บไซต์ คือคนเขียนจะมีความน่าเชื่อถือ และมีคุณภาพที่ไม่ด้อยไปกว่าสื่อกระแสหลัก

ชูวัส: อินเทอร์เน็ตมันบูม กลายเป็นวิถีชีวิต เป็นเครื่องมือหลักของคนทั่วไป แล้วทุกคนก็สามารถผลิตสื่อได้ เนื่องจากอินเทอร์เน็ตต้นทุนมันถูก ผมคิดว่าจุดเปลี่ยนมันอยู่ที่เมื่ออินเทอร์เน็ตมันแพร่กระจาย นั่นแหละเป็นจุดเปลี่ยน ที่ทำให้ข่าวของพลเมืองเกิดขึ้นเป็นจริงได้ เดิมไม่มีช่องทางเลย คุณจะพิมพ์หนังสือพิมพ์ภาคพลเมือง คุณก็ต้องใช้เงินเป็นล้าน แต่อินเทอร์เน็ตไม่ต้องถึงขนาดนั้น ทุกคนสามารถเขียนบล็อกได้ ทุกคนสามารถมีเว็บไซต์ได้

เพราะฉะนั้นนวัตกรรมของอินเทอร์เน็ตที่เกิดขึ้นในโลก จึงทำให้สื่อภาคพลเมืองเกิดขึ้นจริงเป็นครั้งแรกของโลก มันเป็นเรื่องที่หยุดยั้งไม่ได้แล้ว ไม่มีประชาไทก็ต้องมีองค์กรอื่นขึ้นมาทำ คือตอนนี้ก็มีบล็อกเต็มไปหมดเลย ต่างประเทศนี่เยอะมาก ของไทยนี่อาจจะ…บล็อกที่เป็นเกี่ยวกับเรื่องพลเมืองเนี่ย อาจเป็นเรื่องปัจเจกบุคคลไป เล่าเรื่องของตัวเองอะไรก็ว่าไป มันต้องเกิดขึ้นอยู่แล้วตามโลก

มนุษย์มีเสรีภาพเนี่ย ไม่ได้เกิดขึ้นมาจากมีคนประกาศว่า มนุษย์มีเสรีภาพ แต่มันเกิดขึ้นมาจากเจมส์ วัตต์คิดค้นเครื่องจักรไอน้ำ ทำให้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม มนุษย์ก็หลุดออกมาจาก(ความเป็น)ไพร่ ทาส (เก็บเกี่ยวผลผลิตอยู่กับ)ที่นา มาทำโรงงานอุตสาหกรรมเป็นพ่อค้า ก็เลยเกิดเสรีภาพ ทุกอย่างมันก็เกิดขึ้นอย่างนี้ คือสื่อภาคพลเมืองก็ไม่ได้เกิดขึ้นมาจาก อาจารย์จอนหรือประชาไทประกาศว่าจะตั้งสื่อภาคพลเมืองแล้วมันเกิด แต่ที่มันเกิดก็เพราะอินเทอร์เน็ตมันเกิด

ความแตกต่างกับสื่อมวลชนกระแสหลัก
สมบัติ: ผมเห็นว่า สื่อมวลชนจะต้องเป็นสื่อที่มีผู้รับชมรับรู้ในวงกว้าง และมักจะอยู่ในมือของรัฐหรือทุน เอกชน แต่ขณะที่ สื่อภาคพลเมืองจะอยู่ในมือของคนเล็กคนน้อย และในบางสื่อภาคพลเมืองอาจมีความหมายเป็นสื่อมวลชนด้วย เพราะมีคนจำนวนมากเข้าไปรับรู้ได้ ยกตัวอย่างเป็นรูปธรรมเช่นเว็บประชาไท หรือเว็บไซต์ชุมชนออนไลน์ต่างๆ ที่มีบริการให้เข้าถึงได้

ชาลี: ระเบียบ จริยธรรม จรรยาบรรณก็ต่างกันแล้ว ของสื่อมวลชนค่อนข้างจะเข้มงวดกว่า ของบล็อกเกอร์นี่ รูปแบบการเขียนข่าวก็ต่างกัน วิธีการนำเสนอก็ไม่เหมือนกัน สื่อมวลชนอาจจะได้รับมอบหมายมา หรือเรียนมาทางนิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ การเขียนข่าวจะมีความรอบด้าน และมีลูกเล่นมากกว่า อาจจะเป็นการสื่อสารสองทาง หมายถึงว่าเกิดเหตุแล้ว ต้องถามผู้เสียหายด้วย ถามคนก่อเรื่องด้วยทั้งสองฝ่าย ซึ่งตรงนี้นักข่าวพลเมืองอาจรายงานแค่เฉพาะเรื่องที่ไปเจอมา อย่างรายงานอุบัติเหตุก็ถ่ายรูปส่งเข้าไป

เพราะฉะนั้นความเข้มข้นหรือกฎกติกาเนี่ย มันต่างไปจากของผู้สื่อข่าวของสื่อกระแสหลัก แต่ถามว่าในตัวของนักข่าวพลเมืองเอง เขาก็มีกติกามารยาทของพวกเขาอยู่ มันก็มีระดับความเข้มข้นไม่เท่ากันอยู่แล้ว แต่ถามว่ามันต่างกันไหม จริงๆ แล้วถ้าดูจากเนื้อหาหรือในบล็อกของผมเนี่ย ก็จะเห็นว่าไม่ได้ต่างไปจากหนังสือพิมพ์เลย เพราะฉะนั้นสื่อที่เป็นภาคพลเมืองเนี่ย เขาจะจับจุดว่าสนใจเรื่องอะไร และจะได้ไปทำเรื่องนั้น

ความใกล้ชิดกับเอ็นจีโอ
ชูวัส: มันเป็นอย่างนั้นเพราะเราตั้งใจให้เป็นอย่างนั้น เพราะประชาไทเกิดขึ้นด้วยเหตุนั้น คือเอ็นจีโอส่วนใหญ่แล้วจะจับปัญหาในพื้นที่เฉพาะด้านไป คือไม่ได้ดูแลในทุกด้าน เช่นด้านสิ่งแวดล้อม ด้านพลังงาน เรื่องเด็ก เรื่องผู้ติดเชื้อเอชไอวีอะไรอย่างนี้ ก็จะเป็นเฉพาะด้านไป ทีนี้เดิมข่าวพวกนี้ หรือแม้แต่ปัจจุบันก็ตาม ไม่ค่อยได้รับความสนใจในสื่อกระแสหลักเท่าไหร่ ฉะนั้นอาจารย์จอนก็เลยคิดว่า ทั้งที่ข่าวพวกนี้สำคัญต่อคนต่อบ้านเมือง ควรต้องมีเวที เลยเกิดประชาไทขึ้น

เพราะฉะนั้นประชาไท ตั้งอยู่บนฐานของเครือข่ายเหล่านี้อยู่แล้วแต่เดิม จุดประสงค์ที่มีขึ้นมาเพื่อจะนำเสนอเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว ซึ่งไม่ค่อยจะเป็นข่าว สื่อกระแสหลักไม่ค่อยให้ความสำคัญ เนื่องจากไม่ได้รับความสนใจโดยทั่วไป เป็นข่าวหนักๆ ที่คนไม่อ่าน แต่จะมีความสำคัญ ซึ่งเมื่อมันมีช่องว่าง ไม่มีคนนำเสนอข่าวนี้ ประชาไทเลยเกิดขึ้นเพราะเหตุนี้ จึงเป็นข่าวสารเริ่มจากเอ็นจีโอทุกๆ ด้านรวมๆ กัน คือประเทศไทยมีเอ็นจีโอทุกด้านล่ะ ประชาไทก็นำเสนอข่าวทุกด้าน ก็เลยครอบคลุมทั้งหมด

เพราะฉะนั้น ฐานมันตั้งมาจากการนำเสนอข่าวสารพวกนี้อยู่แล้ว ประชาไทจึงเป็นสำนักข่าวที่ใกล้ชิดกับเอ็นจีโอ เพราะวันที่เอ็นจีโอไม่มีพื้นที่ในสื่อกระแสหลักเขาก็จะหันมาประชาไท หรือทุกวันนี้ก็คือเขาส่งไปสื่อกระแสหลักแล้วก็ส่งมาประชาไทด้วย เพราะประชาไทเป็นของตายให้เขาในการนำเสนอข่าว แล้วก็มีผู้อ่านอยู่จำนวนหนึ่งที่แอกทีฟ ประชาไทจึงแยกกับเอ็นจีโอไม่ออกหรอก แล้วการบริหารงานของเราก็เป็นลักษณะแบบเอ็นจีโอ ก็คือเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร แล้วก็ไม่ใช่รัฐ

เปิดพื้นที่สื่อให้พลเมืองอื่น
ชูวัส: ยังมีกลุ่มที่ไม่ใช่เอ็นจีโอด้วย เช่นเสื้อแดงเสื้อเหลือง แต่โอเคเสื้อเหลืองเขามีทีวีของเขามีสื่อของเขา เราก็อาจจะให้ความสำคัญน้อยหน่อย เพราะว่าเสื้อแดงไม่มีทีวี ถูกปิดกั้น ทีวีหลักไม่เสนอเพราะเป็นทีวีของรัฐ เพราะเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐ เราก็เสนอมากหน่อย อันไหนที่ถูกปิดกั้นสื่อ เราจะเข้าไปหาเขา

อย่างเสื้อแดงเนี่ยไม่ใช่เอ็นจีโอ แม้จะมีกลิ่นของนักการเมืองอยู่บ้าง แต่ก็มีจำนวนหนึ่งที่ไม่ใช่นักการเมือง เราก็ไม่เสนอข่าวของนักการเมือง อย่างจตุพร พรหมพันธุ์ที่เป็นนักการเมืองในกลุ่มเสื้อแดง แต่เราก็เสนอการเคลื่อนไหวของเสื้อแดงในฐานะที่เป็นประชาชนทั่วไป กลุ่มเหล่านี้ก็ไม่ใช่เอ็นจีโอแต่เป็นพลเมืองส่วนหนึ่ง เพราะฉะนั้นเอ็นจีโอเป็นพลเมืองส่วนหนึ่งเท่านั้นที่ประชาไทมอง คือเราก็ต้องมองไปที่อื่นๆ ที่เป็นพลเมืองด้วย

รวมทั้งกลุ่มที่ไม่มีสี เช่นกลุ่มเกษตรกรประท้วง กลุ่มแรงงานซึ่งไม่มีเอ็นจีโอ หรือไม่ได้อยู่ในสังกัดเอ็นจีโอ ก็เข้าไปทำข่าวช่วยเหลือเขา ก็เป็นพลเมืองทั้งนั้น คือเอ็นจีโอก็มีพื้นที่สนามที่เขาตามปัญหาแต่ละปัญหาของเขาอยู่ เขาดูเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องพลังงาน อะไรก็ว่าไป แต่มันจะมีส่วนหนึ่งที่หลุดออกมา ที่ไม่มีเอ็นจีโอคอยให้การสนับสนุน กลุ่มพลเมืองอื่นๆ พวกนี้เราก็ต้องเข้าไปช่วยนำเสนอข่าวให้เขา

ชาลี: (บล็อกเกอร์)ส่วนมาก เป็นคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลสมัครรัฐบาลทักษิณ คนกลุ่มนี้จะมาเขียนเยอะ ถามว่าคนกลุ่มอื่นจะมาเขียนได้ไหม ก็ได้ แต่ปัญหาคือ อ่านแล้วไม่ค่อยประเทืองปัญญาน่ะ แล้วพวกนี้ก็จะหายไป บางทีเขาบอกว่าโอเคเนชั่นเป็นกลุ่มพันธมิตรฯ ก็เป็นสื่อภาคประชาชนน่ะ พันธมิตรฯเลยมาเขียนเยอะ เราห้ามได้หรือเปล่า บอกว่าห้ามมาเขียนบล็อกผมนะ ห้ามเชียร์เสื้อแดงห้ามเชียร์เสื้อเหลืองนะ ผมมีสิทธิอะไรไปห้ามเขาล่ะ

เพราะฉะนั้นคนที่มาเขียนบล็อกเนี่ย ก็จะมีนักข่าวพลเมืองที่ทำงานเป็นกลไกของพันธมิตรฯ เข้ามาเขียน ก็เลยจะมีกลุ่มนี้เยอะ แล้วอีกกลุ่มหนึ่งมาเขียนได้ไหม ก็ได้ ถ้าเขียนแล้วมีวุฒิภาวะเหมือนชาวบ้านเขา ผมก็ว่าเขียนได้นะ สังคมเราน่าจะยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้