วันศุกร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2554

ฅนข่าวเท้าติดดิน: บทที่ ๑๑ รวมมิตรสื่อพลเมืองสัญชาติไทย


รวมมิตรสื่อพลเมืองสัญชาติไทย

จาก: ฅนข่าวเท้าติดดิน
โดย: ภัทรพล สุธาวุฒิไกร


หลังจากทำความรู้จักกับสื่อพลเมืองที่สำคัญ ทั้งในรูปปัจเจกและในรูปองค์กรไปแล้ว แต่ในประเทศไทย ยังมีสื่อพลเมืองอีกจำนวนหนึ่ง ที่อาจไม่มีบทบาทโดดเด่นมากนัก แต่ก็นับว่าเป็นส่วนหนึ่ง ในระบบการเจริญเติบโตของวารสารศาสตร์พลเมือง

ดังนั้น เนื้อหาในบทนี้ จึงเป็นการอธิบายถึงสื่อพลเมืองของไทยโดยรวม ในลักษณะของการแนะนำเป็นรายแห่ง ดังต่อไปนี้

นักข่าวพลเมือง สถานีโทรทัศน์ทีวีไทย องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.)
เมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ เทพชัย หย่อง ผู้ทำหน้าที่ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ทีวีไทย ทีวีสาธารณะ (ปัจจุบันเป็น ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย) ร่วมกับผู้บริหารฝ่ายข่าว จัดแถลงข่าวเปิดตัวรายงานข่าวมิติใหม่ ในโครงการ “นักข่าวพลเมือง ทีวีไทย” ที่สตูดิโอฝ่ายข่าวของสถานีฯ

นายเทพชัย เปิดเผยว่า ทีวีไทย ทีวีสาธารณะ (ตั้งแต่ ๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๒ ใช้ชื่อว่า “ทีวีไทย” เท่านั้น) จะเปิดให้มีการอบรมเชิงปฏิบัติการแก่นักข่าวพลเมือง ซึ่งมีการฝึกทักษะการทำข่าว คือการเขียนข่าว การถ่ายภาพข่าว และการจับประเด็นข่าว โดยเน้นการปลูกฝังจริยธรรม และจรรยาบรรณในการนำเสนอข่าว

ทั้งนี้ การอบรมดังกล่าว จัดขึ้นเป็นครั้งแรก ที่จังหวัดนนทบุรี มีนักข่าวรุ่นแรก จำนวนกว่า ๔๐ คน โดยจะขยายการอบรมลักษณะดังกล่าว ไปทั่วทุกกลุ่มสังคมและทุกภาคของประเทศ เพื่อให้ได้อาสาสมัครนักข่าวพลเมือง ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ และทุกวัยทุกสถานะ อาทิ เยาวชน หรือคนพิการ

นอกจากนี้ ยังมีโครงการตั้งกองบรรณาธิการนักข่าวพลเมืองขึ้นใหม่ แยกจากกอง บ.ก.ข่าวทีวีไทย เพื่อรวบรวมข่าวสารจากพลเมืองทั่วประเทศ ควบคู่กับการตรวจสอบข้อเท็จจริงของประเด็นต่างๆ เหล่านั้น ร่วมกับศูนย์ข่าวภูมิภาคสามแห่ง ที่จังหวัดเชียงใหม่ สงขลา และขอนแก่น

นายเทพชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า ทางสถานีฯ กำลังจัดช่วงเวลานำเสนอข่าวพลเมือง ซึ่งในระยะแรกจะออกอากาศร่วมกับข่าวภาคหลักของทีวีไทย ทีวีสาธารณะ และรายการข่าวที่เกี่ยวข้อง โดยจะปรับนโยบายของสถานีฯ ให้เพิ่มความสำคัญกับการสะท้อนความคิดของชาวบ้าน ที่มีต่อข่าวกระแสหลักไปพร้อมกันด้วย[๑]

“นักข่าวพลเมือง” เริ่มนำเสนอเป็นช่วงหนึ่งของรายการ “ที่นี่…ทีวีไทย” ในทุกวันจันทร์-วันศุกร์ เวลา ๒๒.๐๐ น. และตั้งแต่วันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ เปลี่ยนมาออกอากาศในช่วงสุดท้ายของข่าวค่ำ ทุกวันจันทร์-วันศุกร์ เวลาประมาณ ๒๐.๑๐ น. ตลอดจนในช่วงข่าว และรายการข่าวต่างๆ ที่ทางสถานีฯ เป็นผู้ผลิต แบบไม่เป็นประจำ

นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๒ ทีวีไทยเปิดหน้าเว็บ “นักข่าวพลเมือง” ในเว็บไซต์ของ ส.ส.ท. โดยมีเนื้อหาข่าวพลเมืองที่นำเสนอไปแล้ว รวมทั้งเปิดให้บริการเว็บล็อกข่าว เพื่อเพิ่มช่องทางในการส่งข่าวมายังทีวีไทย ให้กับนักข่าวพลเมืองอีกทางหนึ่งด้วย

หนังสือพิมพ์เสรีชนรายสะดวก ของกลุ่มฅนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ
ท้องสนามหลวง ในวันพฤหัสบดีที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๙ นอกจากการชุมนุมต่อต้านเผด็จการทหาร ของเครือข่าย ๑๙ กันยาฯ ต้านรัฐประหาร, กลุ่มฅนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ และกลุ่มย่อยอื่นๆ ที่ดำเนินอยู่เป็นประจำทุกวันแล้ว ในวันนี้ยังมีแนวร่วมอุดมการณ์ประชาธิปไตยกลุ่มหนึ่ง นำหนังสือพิมพ์กระดาษปอนด์ขนาดเอ ๕ หรือเอ ๔ พับครึ่ง จำนวน ๓ แผ่น รวม ๑๒ หน้า มาแจกจ่ายผู้สัญจรผ่านไปมาบริเวณนั้น

เนื้อหาในหนังสือพิมพ์ดังกล่าวซึ่งมีชื่อว่า “เสรีชนรายสะดวก” แต่ระบุคาบวันที่เป็นรายสัปดาห์ ประกอบด้วยสองข่าวพาดหัวในหน้าหนึ่ง ข่าวย่อย บทความ และคอลัมน์ต่างๆ โดยประชาชนเล็กๆ ผู้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และต่อต้านเผด็จการ โดยมีพื้นที่โฆษณาการชุมนุมและปราศรัยที่ท้องสนามหลวง ในทุกวันเสาร์ เวลา ๑๖.๐๐ น. และเว็บไซต์ของกลุ่มฅนวันเสาร์ฯ (www.saturdayvoice.com ปัจจุบันกระทรวงไอซีทีปิดกั้นการเข้าถึง)

นับเป็นการคลายความกดดัน จากการนำเสนอข่าวด้านเดียวของฝ่าย คปค.ทางหนึ่ง ทว่าไม่มีการเปิดเผยแต่อย่างใดว่ากอง บก.เป็นใคร อย่างไรก็ตามเมื่อรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ สิ้นสุดลงในช่วงปลายปี พ.ศ. ๒๕๕๐ น.ส.พ.เสรีชน ก็ยุติการพิมพ์แจกจ่ายลง

เวลาต่อมา มีการเปิดเว็บไซต์ชื่อ “เสรีชน” (www.serichon.com) โดยมีอุดมการณ์สนับสนุนประชาธิปไตย ต่อต้านเผด็จการทหาร เช่นเดียวกับ น.ส.พ.เสรีชน แต่ไม่ปรากฏความชัดเจนเช่นกันว่า มีผู้ดำเนินการเป็นกลุ่มเดียวกันหรือไม่ ทั้งนี้เสรีชนก็เป็นหนึ่งในเว็บไซต์ที่กระทรวงไอซีทีสั่งปิด ในช่วงเหตุการณ์สงกรานต์เลือด กลางเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๕๒ ด้วย

วิทยุชุมชน
การกำเนิดของวิทยุชุมชนนั้น ต้องย้อนกลับไปถึงปี พ.ศ. ๒๔๙๐ ในประเทศโบลิเวียและโคลัมเบียในทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งเกิดขึ้นมาในเวลาไล่เลี่ยกัน โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากความขัดแย้งเชิงอุดมการณ์ทางการเมือง กลายมาเป็นวิทยุชุมชนผู้ใช้แรงงานในเหมืองแร่ของโบลิเวีย และสนับสนุนรวมทั้งตอบสนองความต้องการของชาวนา อันเป็นที่มาของวิทยุซูตาเตนซาในโคลัมเบีย นอกจากนี้ ซูตาเตนซายังพยายามเผยแพร่วิชาความรู้ทางวิทยุ อันเป็นแนวคิดระดับพื้นฐานของบริการสาธารณะ นับเป็นต้นกำเนิดของวิทยุชุมชนในอเมริกาใต้

ต่อมา ราวพุทธทศวรรษที่ ๒๕๐๓-๒๕๒๒ (คริสตทศวรรษที่ ๑๙๖๐-๑๙๗๙) มีการกระจายเสียงอย่างผิดกฎหมายหลายแห่งในยุโรป พร้อมทั้งดึงผู้ฟังมากมายไปจากสถานีวิทยุที่ผูกขาดโดยรัฐ อันเป็นการเร่งให้องค์กรกระจายเสียงแห่งชาติของรัฐบาล ต้องยอมเปิดให้ออกอากาศวิทยุท้องถิ่น แบบถูกต้องตามกฎหมาย

ในปี พ.ศ. ๒๕๒๓ (ค.ศ. ๑๙๘๐) องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เริ่มสนับสนุนให้มีวิทยุชุมชน โดยให้ความสำคัญกับแนวคิดพื้นฐานเชิงเสรีภาพ ในการแสดงความคิดเห็นและสิทธิมนุษยชน โดยมีวิทยุชุมชนโฮมาเบย์แห่งเคนยา รับข้อเสนอนี้เป็นประเทศแรก ตามด้วยวิทยุชุมชนมหเวลิของศรีลังกา แต่สถานการณ์การเมืองในโลกระยะนั้น มีความขัดแย้งแบ่งเป็นฝ่ายซ้าย-ฝ่ายขวา รวมถึงในประเทศกำลังพัฒนาหลายแห่ง ก็ผูกขาดกิจการกระจายเสียงไว้ที่ฝ่ายรัฐเท่านั้น

หลายประเทศแถบยุโรป รับแนวความคิดของนักคิดหัวก้าวหน้า ในการกระจายเสียงเพื่อสาธารณะมาดำเนินการ เนื่องจากเห็นว่าสื่ออิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้  เป็นเครื่องมือที่ดีเยี่ยมสำหรับเผยแพร่ข่าวสาร การศึกษาและวัฒนธรรม อันนำไปสู่การพัฒนาสังคมต่อไป หากสื่อมวลชนบริหารงานเชิงธุรกิจ ก็อาจตกเป็นเบี้ยล่างของธุรกิจโฆษณาสินค้าได้ง่าย จึงคิดค้นแนวทางขึ้นเพื่อผ่อนคลายเงื่อนไขนั้น[๒]

สำหรับวิทยุชุมชนในประเทศไทย เริ่มทดลองกระจายเสียงเป็นปฐมฤกษ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๔ ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดจันทบุรีในระบบเอฟเอ็ม โดยนายสุรินทร์ แปลงประสพโชค (อดีตอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยขณะศึกษาปริญญาโท คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๔๑ กรมประชาสัมพันธ์ (กปส.) และองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) รับมอบนโยบายจากรัฐบาลขณะนั้น ในการจัดทำโครงการวิทยุชุมชนเพื่อรองรับต่อเจตนารมณ์ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๔๐ ที่บัญญัติให้คลื่นความถี่ วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเริ่มโครงการนำร่องวิทยุชุมชน ๑๙ จังหวัดทดลอง ในปีเดียวกันนั้น[๓]

จากนั้นในราวปี พ.ศ. ๒๕๔๕ วิทยุชุมชนเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วราวกับดอกเห็ด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๖ จึงมีมติให้กำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดตั้ง “จุดปฏิบัติการเรียนรู้เกี่ยวกับวิทยุชุมชน” ขึ้นไว้เป็นมาตรการชั่วคราว ระหว่างที่ยังไม่มีการแต่งตั้ง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) แต่ในที่สุดก็ยังไม่สามารถมี กสช.ได้[๔]

จนกระทั่งเกิดรัฐประหาร เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ส่งผลให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ ซึ่งมีบทบัญญัติให้แต่งตั้ง กสช.สิ้นสุดลงไปพร้อมกันนั้น จึงทำให้ผู้ประกอบการยังคงอาศัยช่องว่างทางกฎหมาย ดำเนินการวิทยุชุมชนไปได้อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ยังมีประชาชนกลุ่มต่างๆ ที่รวมตัวกันเปิดเว็บไซต์ขึ้นเพื่อรวบรวมและนำเสนอข่าวเองอีกหลายแห่งเช่น สยามอินเทลลิเจนซ์ยูนิต ของกลุ่มนักวิชาการชาวไทย, กลุ่มพลเมืองเน็ตที่แยกตัวออกมาจากโต๊ะราชดำเนินพันทิปคาเฟ่ ได้แก่เว็บไซต์กลุ่มสื่อประชาชน, สื่อประชาชนพิทักษ์ไทย (เดิมคือ สำนักข่าวเนชั่นสยาม) และขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ดเป็นต้น

---------------------------------------------------------------------------------------------
[๒] คอลิน เฟรเซอร์/โซเนีย เอสตราดา, คู่มือวิทยุชุมชน, ยูเนสโก, กรุงเทพฯ, พ.ศ. ๒๕๕๐, หน้า ๑๔-๒๕
[๓] กาญจนา แก้วเทพ, คู่มือวิทยุชุมชน (FNS)