วันศุกร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2554

ฅนข่าวเท้าติดดิน: ภาพปก


จาก: ฅนข่าวเท้าติดดิน
โดย: ภัทรพล สุธาวุฒิไกร


ฅนข่าวเท้าติดดิน: สารบัญ


สารบัญ


ปริญญานิพนธ์ โครงการจัดทำหนังสือพกพา เรื่อง “ฅนข่าวเท้าติดดิน”
ก. เอกสารอนุมัติปริญญานิพนธ์
ข. บทคัดย่อ
ค. กิตติกรรมประกาศ
ง. คำนำหนังสือ
-----------------------------
บทที่ ๐๑ บทนำ
บทที่ ๐๒ ขั้นตอนการทำงาน
บทที่ ๐๓ เบื้องหลังการทำงาน

หนังสือพกพา เรื่อง “ฅนข่าวเท้าติดดิน”
บทที่ ๐๑ เมื่อพลเมืองลุกขึ้นทำข่าว
บทที่ ๐๒ ก่อนจะมีสื่อพลเมือง
บทที่ ๐๓ สำนักงานสื่อพลเมือง “นานาชาติและเคลื่อนที่”
บทที่ ๐๔ สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ
บทที่ ๐๕ สื่อพลเมืองรอบโลก
บทที่ ๐๖ ประชาไท: ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ใจถึง พึ่งได้!!
บทที่ ๐๗ ประชาธรรม: สื่อภาคเอ็นจีโอขนานแท้ดั้งเดิม
บทที่ ๐๘ ไทยอีนิวส์: อาสาสมัครสื่อทางเลือก จุดยืนประชาธิปไตย
บทที่ ๐๙ โอเคเนชั่น: ‘ทุกคน’ เป็นนักข่าว (เนชั่น) ได้?
บทที่ ๑๐ สื่อพลเมืองปัจเจก: ต้นทางวารสารศาสตร์พลเมือง
บทที่ ๑๑ รวมมิตรสื่อพลเมืองสัญชาติไทย
บทที่ ๑๒ นานาทรรศนะ ว่าด้วยวารสารศาสตร์พลเมือง
บทที่ ๑๓ ‘ภายภาคหน้า’ ของวารสารศาสตร์พลเมือง

โดย: ภัทรพล สุธาวุฒิไกร

ฅนข่าวเท้าติดดิน: เอกสารอนุมัติปริญญานิพนธ์

ปริญญานิพนธ์: โครงการจัดทำหนังสือพกพา เรื่อง “ฅนข่าวเท้าติดดิน”
โดย: นายภัทรพล สุธาวุฒิไกร
รหัสนักศึกษา: ๔๘๒๒๐๓
สาขาวิชา: วารสารศาสตร์
อาจารย์ที่ปรึกษา: นายสมเกียรติ รุ่งเรืองวิริยะ

คณะกรรมการประเมินผลปริญญานิพนธ์ ได้พิจารณาอนุมัติแล้ว มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ปริญญานิพนธ์ฉบับนี้ ได้มาตรฐานทางวิชาการ ตามที่คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตกำหนดไว้

จึงลงนามไว้เป็นสำคัญ
๐๑ กรกฎาคม ๒๕๕๒

คณะกรรมการประเมินผลปริญญานิพนธ์



(อาจารย์บุปผา บุญสมสุข)
ประธานกรรมการ

(อาจารย์นิพนธ์ เจริญพจน์)
กรรมการ

(อาจารย์สมเกียรติ รุ่งเรืองวิริยะ)
กรรมการและอาจารย์ที่ปรึกษา


(อาจารย์อนุสรณ์ ศรีแก้ว)
คณบดีคณะนิเทศศาสตร์

จาก: ปริญญานิพนธ์ โครงการจัดทำหนังสือพกพา เรื่อง “ฅนข่าวเท้าติดดิน”
โดย: นายภัทรพล สุธาวุฒิไกร

ฅนข่าวเท้าติดดิน: บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

โครงการจัดทำหนังสือพกพา เรื่อง “ฅนข่าวเท้าติดดิน”
นายภัทรพล สุธาวุฒิไกร
สาขาวิชาวารสารศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต (๒๕๕๑)
อาจารย์ที่ปรึกษา : นายสมเกียรติ รุ่งเรืองวิริยะ


หนังสือพกพา เรื่อง “ฅนข่าวเท้าติดดิน” เป็นหนังสือในขนาดกระดาษ เอ ๕ (กว้าง ๕.๕ นิ้ว ยาว ๘ นิ้ว) จำนวน ๑๔๔ หน้า ไม่รวมปก ราคาจำหน่ายเล่มละ ๑๐๘ บาท

เนื้อหาสาระที่สำคัญโดยสรุปของหนังสือพกพาเล่มนี้ เป็นการอธิบายถึง “วารสารศาสตร์พลเมือง” ซึ่งเป็นกระบวนการสื่อสารสู่สาธารณชนในรูปแบบใหม่ ที่ประชาชนทั่วไปเป็นผู้ผลิต และเผยแพร่ข่าวสารต่างๆ ไปยังสาธารณชนโดยตรง ไม่จำเป็นต้องผ่านสื่อมวลชนอีกต่อไป โดยมีอินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือสำคัญของกระบวนการใหม่นี้ เช่น การใช้เว็บล็อก การใช้เว็บบอร์ด การเผยแพร่ภาพและคลิปวิดีโอ เพื่อนำเสนอเรื่องราวสำคัญต่างๆ ที่บุคคลนั้นได้พบเจอด้วยตนเอง ออกไปให้ประชาชนทั่วไปรับรู้ได้ในวงกว้าง ซึ่งประเด็นดังกล่าว นับเป็นปรากฏการณ์ใหม่ จึงยังไม่มีการนำเสนอเรื่องราวเหล่านี้อย่างละเอียด จึงเกิดแนวคิดในการผลิตหนังสือพกพาที่ว่าด้วยเรื่องนี้ขึ้น เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจ

หนังสือพกพาเล่มนี้ ใช้เวลาในการผลิต ระหว่างเดือนมีนาคม-มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๒ เป็นระยะเวลา ๔ เดือน โดยมีขั้นตอนการปฏิบัติประกอบด้วย การค้นคว้าจากหนังสือ อินเทอร์เน็ต หรือแหล่งข้อมูลอื่น และการสัมภาษณ์ด้วยการสอบถามโดยตรง กับบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง หรือเป็นผู้ปฏิบัติงานด้านนี้โดยเฉพาะ ซึ่งรวมเรียกว่า การรวบรวมข้อมูล แล้วจึงเริ่มต้นเขียนเนื้อหาของหนังสือ พร้อมทั้งออกแบบปก จากนั้นจึงนำเสนอเนื้อหาที่เขียนแล้วกับอาจารย์ที่ปรึกษาฯ เพื่อให้เสนอแนะ และแก้ไขปรับปรุงให้สมบูรณ์

จาก: ปริญญานิพนธ์ โครงการจัดทำหนังสือพกพา เรื่อง “ฅนข่าวเท้าติดดิน”
โดย: นายภัทรพล สุธาวุฒิไกร

ฅนข่าวเท้าติดดิน: กิตติกรรมประกาศ

กิตติกรรมประกาศ

จาก: ฅนข่าวเท้าติดดิน
โดย: ภัทรพล สุธาวุฒิไกร

ผมมีความฝันอยู่สิ่งหนึ่งว่า ในชีวิตหนึ่งที่เกิดมานี้ อยากทำหนังสือพกพา (พ็อกเก็ตบุ๊ก) สักเล่มหนึ่ง และเมื่อการผลิตปริญญานิพนธ์ สามารถช่วยให้ผมทำตามความฝันนั้นของตัวเองได้ ผมก็ไม่รอช้าที่จะไขว่คว้าไว้ เป็นความภูมิใจส่วนตัวครั้งหนึ่งในชีวิตครับ

อาจารย์สมเกียรติ รุ่งเรืองวิริยะ ที่ปรึกษาปริญญานิพนธ์ฉบับนี้ เป็นบุคคลสำคัญท่านแรก ที่ผมขอขอบคุณอย่างสูงครับ ที่ให้ความกรุณากับผม ตลอดระยะเวลาที่ผมได้เรียนกับอาจารย์ ผมประทับใจในศิลปะการสอน การตักเตือน หรือแม้แต่การตำหนิของอาจารย์ ที่ไม่เคยทำให้ผมรู้สึกไม่ดีเลยแม้แต่ครั้งเดียวครับ :)

ขอขอบคุณ อาจารย์นิพนธ์ เจริญพจน์ และ อาจารย์นวนิต ประถมบูรณ์ ที่คอยสอนผมอย่างเต็มที่ ทั้งสอบถามความเป็นไปในการเรียนของผมมาตลอด, อาจารย์บุปผา บุญสมสุข อาจารย์ฐิติ วิทยสรณะ ที่ให้ความรู้ใหม่ๆ รวมถึงข้อคิดดีๆ กับผมเสมอมา, อาจารย์และเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลห้องปฏิบัติการวารสารศาสตร์ ที่ไม่เคยปฏิเสธเวลาต้องการความช่วยเหลือ, เลขานุการประจำคณะ ที่คอยบอก ชี้แนะ และให้ความกระจ่างกับผม ในเรื่องข้างเคียงของการเรียนทั้งหลายครับ

ขอบคุณ น้องรุ่นเพื่อน ครอบครัวข่าวเจอาร์ รุ่น ๑๕ ทุกผู้คน ที่ร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งของช่วงชีวิตพี่

ขอขอบคุณ ญาติๆ ที่เข้าใจ และคอยให้กำลังใจผม ทุกครั้งที่พบกัน, ขอบคุณน้องสาว ที่เป็นแรงผลักดันสำคัญ ด้วยการมุ่งมั่นตั้งใจ เป็นแบบอย่างให้มองเห็น, ขอบคุณพี่ชาย ที่คอยให้คำปรึกษา ในฐานะผู้มีประสบการณ์ จากสถาบันเดียวกัน

ขอกราบขอบพระคุณ คุณพ่อ ที่ให้ชีวิตแก่ผม คอยกระตุ้นเตือนให้ผมตั้งใจเรียน ทั้งให้กำลังใจ ด้วยการให้รางวัลบ้าง พาไปเที่ยวนอกบ้านบ้าง ตามแต่โอกาส และ ขอกราบขอบพระคุณ คุณแม่ ที่ให้กำเนิดผม แต่กลับต้องผิดหวัง กลุ้มใจ เสียใจ กับบางอย่างที่ผมทำ

หวังว่าของขวัญชิ้นนี้ คงช่วยให้ทุกคนในครอบครัวของผม มีความสุขได้บ้าง ไม่มากก็น้อยนะครับ

ผมทำสำเร็จแล้วครับ!!

ภัทรพล สุธาวุฒิไกร
๑๗ พฤษภาคม ๒๕๕๒

ฅนข่าวเท้าติดดิน: คำนำ


คำนำ


จาก: ฅนข่าวเท้าติดดิน
โดย: ภัทรพล สุธาวุฒิไกร

ทุกวันนี้ กระบวนการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารไปสู่สาธารณชน ที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า วารสารศาสตร์ (Journalism) มีวิวัฒนาการจากยุคเริ่มต้นไปอย่างมากมาย เกินกว่าที่ผู้คนในสมัยนั้นจะคาดถึง พัฒนาการของตัวสื่อเอง แตกกิ่งก้านสาขาออกไปหลายรูปแบบ เช่น จากหนังสือพิมพ์สู่นิตยสาร, จากนิตยสารสู่วิทยุ, จากวิทยุสู่โทรทัศน์ และ จากคลื่นวิทยุในอากาศสู่สัญญาณดาวเทียม

โดยเฉพาะ การกำเนิดของเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งนับเป็นเครื่องมือสำคัญ ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ในวงการวารสารศาสตร์ของโลก เมื่อมีเหตุการณ์สำคัญ หรือที่ผู้สื่อข่าวอาชีพ ไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่เกิดเหตุได้ การบอกเล่าและเผยแพร่ภาพเหตุการณ์เหล่านั้น จากผู้อยู่ในเหตุการณ์ กลายเป็นกระบวนการวารสารศาสตร์ใหม่ไปโดยปริยาย ดังที่ต่อมาเรียกว่า วารสารศาสตร์พลเมือง (Citizen Journalism)

หนังสือพกพาเล่มนี้ อธิบายถึงวารสารศาสตร์พลเมือง ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ใหม่ ที่ยังไม่มีการนำเสนอเรื่องราวเหล่านี้อย่างละเอียด ผู้เขียนมีแนวคิด และความตั้งใจ ที่จะอธิบายเรื่องนี้อย่างถูกต้อง ละเอียด และครบถ้วน เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลแก่ผู้สนใจ โดยเลือกรูปแบบหนังสือขนาดพกพา เพื่อเข้าถึงพลเมืองได้ทุกระดับ เพศ และวัย ทั้งยังสามารถลงรายละเอียด ในเนื้อหาแต่ละเรื่องย่อย ได้อย่างชัดเจนครบถ้วน

หากจะมี ความดีความชอบประการใด อันเป็นผลจากการจัดทำ หนังสือพกพาเล่มนี้ ผู้เขียนขอมอบให้บิดาและมารดา ผู้ให้กำเนิด ให้ชีวิต และให้ทุกสิ่ง ที่ประกอบขึ้นเป็นตัวของผู้เขียนในทุกวันนี้

ภัทรพล สุธาวุฒิไกร
๑๗ พฤษภาคม ๒๕๕๒

ฅนข่าวเท้าติดดิน: บทนำ


บทที่ ๑
บทนำ

จาก: ปริญญานิพนธ์ โครงการจัดทำหนังสือพกพา เรื่อง “ฅนข่าวเท้าติดดิน”
โดย: นายภัทรพล สุธาวุฒิไกร

หลักการและเหตุผล
กระบวนการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสู่สาธารณชน ที่เรียกขานทั่วไปว่า วารสารศาสตร์ (Journalism) มีวิวัฒนาการจากยุคเริ่มต้นไปอย่างมากมาย เกินกว่าที่ผู้คนในสมัยนั้นจะคาดถึง ซึ่งมักจะเป็นพัฒนาการในการใช้สื่อ เช่น จากหนังสือพิมพ์ สู่นิตยสาร, จากนิตยสาร สู่วิทยุกระจายเสียง, จากวิทยุกระจายเสียง สู่วิทยุโทรทัศน์ และ จากคลื่นวิทยุในอากาศ สู่สัญญาณดาวเทียม เป็นต้น

นับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๙ เป็นต้นมา การใช้อินเทอร์เน็ต (Internet) ในกระบวนการส่งข่าวสารไปถึงประชาชน เริ่มเป็นที่นิยมแพร่หลายในไทย แม้จะมีผู้เข้าถึงได้น้อยในระยะแรก แต่นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ของกระบวนการวารสารศาสตร์ในประเทศ ส่งผลให้ หนังสือพิมพ์ สำนักข่าว และฝ่ายข่าวโทรทัศน์ ต่างก็ปรับปรุงตัวเองให้ทันแก่ยุคสมัย ด้วยการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่แต่ละแห่งผลิตได้ บนหน้าเว็บไซต์ของตน ตลอดจนการเผยแพร่ภาพและเสียงที่ออกอากาศในช่องทางปกติบนอินเทอร์เน็ตด้วย จนกระทั่งกลายเป็นที่นิยมแพร่หลายอย่างสูงสุด ก่อนจะเข้าสู่สหัสวรรษใหม่เสียอีก

ต่อมาไม่นาน อินเทอร์เน็ตก็กลายเป็นเครื่องมือหลัก ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ในวงการวารสารศาสตร์ของโลกอีกครั้ง เมื่อมีเหตุการณ์สำคัญเร่งด่วนร้ายแรง หรือที่ผู้สื่อข่าวอาชีพ ไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่เกิดเหตุได้ การบอกเล่าและเผยแพร่ภาพเหตุการณ์เหล่านั้น จากผู้อยู่ในเหตุการณ์ ผ่านช่องทางต่างๆ ที่คนเหล่านั้นสามารถเข้าถึงได้ กลายเป็นกระบวนการใหม่ทางวารสารศาสตร์ ไปอย่างรวดเร็วโดยปริยาย

วารสารศาสตร์พลเมือง (Citizen Journalism) เป็นคำจำกัดความที่เกิดขึ้น หลังจากที่เกิดกระบวนการดังกล่าวนั้นแล้ว ซึ่งต่อมา กระบวนการลักษณะนี้ มีวิวัฒนาการไปอย่างรวดเร็ว ทั้งลักษณะดั้งเดิม ที่แยกตัวเป็นอิสระ ไม่ขึ้นกับใคร หรือการเผยแพร่ร่วมกันในรูปขององค์กร และการตั้งเป็นองค์กรขึ้นก่อน เพื่อให้สมาชิกรวมตัวกัน ภายใต้วัตถุประสงค์ขององค์กรในภายหลัง ตลอดจนการใช้ภาษาข่าว ในการเขียนเนื้อหา หรือนำคลิปวิดีโอมาประกอบแทนภาพนิ่ง เพื่อเพิ่มความกระจ่างชัดแก่ข่าวเหล่านั้นยิ่งขึ้น

ข่าวสารต่างๆ อันเกิดขึ้นจากกระบวนการของวารสารศาสตร์พลเมือง ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคม อย่างชัดเจนและรุนแรง โดยเฉพาะกับเหตุการณ์ที่เป็นปริศนา มีความคลุมเครือ มีข้อเท็จจริงหลายประเด็น ที่ขัดแย้งกันเอง โดยข้อมูลจากผู้สื่อข่าวพลเมือง ซึ่งนับเป็นประจักษ์พยาน ที่ผลิตปากคำของตน เป็นหลักฐานเอกสาร อาจช่วยให้ความจริงปรากฏขึ้นได้

การนำเสนอโดยใช้รูปแบบหนังสือพกพา (Pocket Book) เนื่องจากสามารถเข้าถึงพลเมืองได้ทุกระดับ เพศ และวัย ทั้งยังสามารถลงรายละเอียด ในเนื้อหาแต่ละเรื่องย่อย ได้อย่างชัดเจนครบถ้วน เพื่อเป็นการแนะนำให้รู้จักวารสารศาสตร์พลเมือง ให้เข้าใจในกระบวนการอย่างลึกซึ้ง สำหรับผู้สนใจการปฏิบัติตน เพื่อเป็นอาสาสมัครผู้สื่อข่าวพลเมือง อย่างถูกต้อง เที่ยงธรรม และสร้างประโยชน์สาธารณะแก่สังคมต่อไป

ความเป็นมา
เนื่องจากผู้เขียนมีความสนใจ และศึกษาค้นคว้า เกี่ยวกับการนิเทศศาสตร์ และการวารสารศาสตร์อยู่เสมอ โดยเฉพาะความรู้ที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ จึงได้พบกับวารสารศาสตร์พลเมือง ในเครือข่ายอินเทอร์เน็ต อันเป็นแหล่งหลักที่มีขนาดใหญ่ที่สุดด้วย เห็นว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจ และอาจเป็นเรื่องราวที่มีผู้ต้องการค้นหาข้อมูลเป็นจำนวนมากในอนาคต ดังนั้น การรวบรวมไว้อย่างละเอียดครบถ้วน จึงนับว่าเป็นประโยชน์อย่างสูงสำหรับผู้สนใจในเรื่องดังกล่าว

วัตถุประสงค์
๑. เพื่อนิยามความหมายของวารสารศาสตร์ภาคพลเมืองอย่างสมบูรณ์ครบถ้วน
๒. เพื่อแสดงลักษณะทั่วไป ที่มีความเฉพาะตัวของสื่อพลเมือง
๓. เพื่อลำดับวิวัฒนาการ ของวารสารศาสตร์พลเมือง
๔. เพื่ออธิบายถึงสื่อพลเมือง ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ทั้งที่ปัจเจก และที่เป็นองค์กร
๕. เพื่อเรียนรู้ทฤษฎี จากประสบการณ์ตรง ของผู้ปฏิบัติงานสื่อพลเมือง
๖. เพื่อวิเคราะห์ถึงแนวโน้ม และทิศทาง ในการก้าวหน้า ของวารสารศาสตร์พลเมืองในอนาคต

ผลที่ได้รับ
๑. เรียนรู้และเข้าใจในขั้นตอนการผลิตหนังสือพกพา (พ็อกเก็ตบุ๊ก)
๒. เรียนรู้และเข้าใจกระบวนการสืบค้นข้อมูลดิบ เพื่อนำมาใช้ผลิตงาน

ฅนข่าวเท้าติดดิน: ขั้นตอนการทำงาน



บทที่ ๒
ขั้นตอนการทำงาน

จาก: ปริญญานิพนธ์ โครงการจัดทำหนังสือพกพา เรื่อง “ฅนข่าวเท้าติดดิน”
โดย: นายภัทรพล สุธาวุฒิไกร

นโยบายในการนำเสนอ
๑. ไม่นำเสนอ ด้วยถ้อยคำสำนวน ที่หยาบคาย หรือก้าวร้าว
๒. ไม่นำเสนอ โดยขาดความรู้ และความเข้าใจ ในการถ่ายทอดเรื่องราว
๓. นำเสนอ ด้วยภาษาที่เข้าใจได้ง่าย และอธิบายอย่างชัดเจน
๔. นำเสนอ โดยการตกแต่งรูปเล่ม และเนื้อหา ให้มีความน่าสนใจ

กลุ่มเป้าหมาย
บุคคลทุกเพศ ทุกวัย และทุกระดับ ที่มีความสนใจศึกษาเกี่ยวกับวารสารศาสตร์พลเมือง

ระยะเวลาการทำงาน
ระหว่างเดือนมีนาคม ถึงมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๒ เป็นระยะเวลารวม ๔ เดือน โดยแบ่งช่วงเวลาได้ดังนี้

ปลายเดือนกุมภาพันธ์ - เสนอแนวคิดกับอาจารย์ที่ปรึกษา
ต้นเดือนมีนาคม - สัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้อง
เดือนมีนาคม - สืบค้นรวบรวมข้อมูลดิบ
เดือนเมษายนและพฤษภาคม - เขียนเนื้อหาทั้งหมด
เดือนพฤษภาคม - จัดทำเนื้อหาปริญญานิพนธ์
ต้นเดือนมิถุนายน - เสนออาจารย์ที่ปรึกษา
เดือนมิถุนายน - ปรับปรุงแก้ไขงานในส่วนหนังสือพกพา
ต้นเดือนกรกฎาคม - สอบโครงร่างงานปริญญานิพนธ์

ลักษณะการทำงาน
การผลิตหนังสือพกพาเล่มนี้ มีวิธีปฏิบัติงานอย่างเป็นขั้นตอน เริ่มจากการรวบรวมข้อมูล ทั้งจากวิธีค้นคว้าจากหนังสือ หรืออินเทอร์เน็ต และวิธีสัมภาษณ์ เพื่อสอบถามโดยตรง จากบุคคลที่เป็นผู้ปฏิบัติงาน หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง จากนั้น จึงเริ่มเขียนเนื้อหาของหนังสือพกพา และจัดทำเนื้อหาของปริญญานิพนธ์เล่มนี้ แล้วจึงนำเสนอกับอาจารย์ที่ปรึกษา เพื่อรับข้อเสนอแนะ สำหรับการปรับปรุงจนสมบูรณ์

รูปแบบของหนังสือ
๑. เป็นหนังสือพกพา (พ็อกเก็ตบุ๊ก) ขนาดกระดาษ เอ ๕ (ความกว้าง ๕.๕ นิ้ว ความยาว ๘ นิ้ว)
๒. จำนวน ๑๔๔ หน้า (ไม่รวมปก)
๓. หน้าปก พิมพ์ด้วยกระดาษอาร์ตสี่สี เคลือบยูวีชนิดไม่เงา
๔. เนื้อหาภายใน พิมพ์ด้วยกระดาษปอนด์ขาว ใช้หมึกสีดำ
๕. รูปแบบการจัดหน้าภายใน เรียบร้อย ดูสะอาดตา
๖. ราคาจำหน่ายเล่มละ ๑๐๘ บาท

ฅนข่าวเท้าติดดิน: เบื้องหลังการทำงาน



บทที่ ๓
เบื้องหลังการทำงาน


จาก: ปริญญานิพนธ์ โครงการจัดทำหนังสือพกพา เรื่อง “ฅนข่าวเท้าติดดิน”
โดย: นายภัทรพล สุธาวุฒิไกร

รายละเอียดในการทำงาน
กระบวนการปฏิบัติงานผลิตหนังสือพกพาเล่มนี้ เริ่มขึ้นเมื่อประมาณ ปลายเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๒ โดยผู้เขียนเสนอแนวคิดเรื่องวารสารศาสตร์พลเมืองต่อ นายสมเกียรติ รุ่งเรืองวิริยะ อาจารย์ที่ปรึกษาปริญญานิพนธ์ ซึ่งก็ได้รับความเห็นชอบในหัวข้อนี้

หลังจากอนุมัติแล้ว ผู้จัดทำจึงเริ่มนัดหมายกับบุคคลต่างๆ ผู้ปฏิบัติงาน หรือมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง กับวารสารศาสตร์พลเมืองทันที เพื่อสัมภาษณ์ในช่วงต้นเดือนมีนาคม จำนวน ๔ ท่าน และอีก ๒ กลุ่ม ดังต่อไปนี้

นายสมบัติ บุญงามอนงค์ ประธานกรรมการบริหาร มูลนิธิกระจกเงา ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้ง บ้านนอกทีวี สถานีโทรทัศน์ชุมชนผ่านดาวเทียมแห่งแรกของประเทศไทย และผู้สื่อข่าวพลเมืองออนไลน์ ในห้องราชดำเนิน พันทิปคาเฟ่ กับเว็บบอร์ดประชาไท, นายชูวัส ฤกษ์ศิริสุข บรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท สื่อพลเมืองในรูปองค์กรสาธารณะ และอดีตบรรณาธิการข่าว นิตยสารอะเดย์ วีกลีย์, นายชาลี วาระดี บรรณาธิการ เว็บไซต์โอเคเนชั่น ผู้ให้บริการเว็บล็อกข่าวแห่งแรกของประเทศไทย และอดีตบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ, นายอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายพลเมืองเน็ต องค์กรที่เคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต และนักพัฒนาระบบ บริษัท โอเพ่นดรีม จำกัด, คณะทำงานผู้สื่อข่าวอาสาสมัครของ เว็บล็อกข่าวไทยอีนิวส์ โดยพลเมืองแนวร่วมประชาธิปไตย และ สำนักข่าวประชาธรรม โดยองค์กรพัฒนาเอกชนในจังหวัดภาคเหนือ

โดยนายสมบัติ นัดหมายผู้จัดทำเพื่อไปสัมภาษณ์เป็นคนแรก ในวันอังคารที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ เวลา ๑๔.๐๐ น. ที่สำนักงานมูลนิธิกระจกเงา บนชั้น ๙ ของอาคารเลิศปัญญา ในซอย ๑๒ ถนนศรีอยุธยา ซึ่งเป็นตรอกเล็กๆ ที่รถยนต์เข้าออกได้ทางเดียว นายชูวัสเป็นคนถัดมา ที่นัดหมายให้ผู้จัดทำเข้าสัมภาษณ์ ในวันอังคารที่ ๓ มีนาคม เวลา ๑๕.๐๐ น. ที่สำนักงานประชาไท ชั้น ๑ ของอาคารมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) ซอยรัชดาภิเษก ๑๔ (โรหิตสุข) ถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ ซึ่งมีเส้นทางสลับซับซ้อน ไม่มีป้ายชื่อซอย

ส่วนนายชาลี นัดหมายให้ผู้จัดทำเข้าสัมภาษณ์เป็นคนที่สาม ในวันพฤหัสบดีที่ ๑๒ มีนาคม เวลา ๑๔.๐๐ น. ที่ทำการสถานีโทรทัศน์เนชั่นแชนแนล บนชั้น ๑๒ เอ ของอาคารเนชั่น ทาวเวอร์ ถนนบางนา-ตราด ซึ่งเป็นระยะทางที่ไกลจากบ้านของผู้จัดทำคนละมุมเมือง และนายอาทิตย์แจ้งว่า พร้อมที่จะให้สัมภาษณ์ทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์มากกว่า จึงได้จัดส่งคำถามที่ต้องการข้อมูลไปให้ และได้รับคำตอบกลับมาหลังจากนั้น เช่นเดียวกับคณะทำงานผู้สื่อข่าวพลเมืองของ เว็บล็อกข่าวไทยอีนิวส์ และสำนักข่าวประชาธรรม ซึ่งมีลักษณะเป็นอาสาสมัคร จึงไม่สะดวกที่จะเปิดเผยตัวตน แต่ทั้งสองแห่งก็ยินดีให้ข้อมูลผ่านจดหมายอิเล็กทรอนิกส์

ประกอบกับการค้นคว้าโดยผู้จัดทำ จากแหล่งข้อมูลหลักคือ เว็บต่างๆ ในเครือข่ายอินเทอร์เน็ต จำนวน ๑๖ แห่ง ซึ่งประกอบไปด้วย หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท (www.prachatai.com), สำนักข่าวประชาธรรม (www.newspnn.com), เว็บล็อกข่าวทางเลือกไทยอีนิวส์ (thaienews.blogspot.com), เว็บไซต์โอเคเนชั่น (www.oknation.net), เว็บไซต์คนชายขอบ (www.fringer.org), เว็บล็อก bact’ (bact.blogspot.com), เว็บเพจนักข่าวพลเมือง ทีวีไทย (citizen.thaipbs.or.th), เว็บไซต์กลุ่มสื่อประชาชน (www.thaifreenews.org), เว็บไซต์สื่อประชาชนพิทักษ์ไทย (www.pitakthai.com), เว็บไซต์บ้านนอกทีวี (www.bannoktv.com), เว็บไซต์มูลนิธิกระจกเงา (www.mirror.or.th), เว็บไซต์สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (www.tja.or.th), เว็บไซต์สารานุกรมวิกิพีเดียภาษาไทย (th.wikipedia.org), เว็บล็อก ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ (mana.bloggang.com), ข่าวจากเว็บไซต์หนังสือพิมพ์คมชัดลึก (www.komchadluek.com) และ ข่าวจากเว็บไซต์เดโมเครซีออนไลน์ (www.demo-crazy.com)

รวมถึงหนังสือ งานวิจัย และบทความอีกจำนวนหนึ่ง เป็นแหล่งข้อมูลเสริมอีก ๖ ชิ้น ดังต่อไปนี้ :- หนังสือพกพา “Citizen Reporter นักข่าวพันธุ์ใหม่” เขียนโดยปิรันย่า สำนักพิมพ์เนชั่นบุ๊กส์, หนังสือพกพา “ข่าวที่ไม่เป็นข่าว” บรรณาธิกรโดย ธนาพล อิ๋วสกุล ของสถาบันพัฒนาการเมือง, หนังสือพกพา “คู่มือวิทยุชุมชน” เขียนโดย คอลิน เฟรเซอร์ และ โซเนีย เอสตราดา รองศาสตราจารย์ จุมพล รอดคำดี เป็นผู้แปล และยูเนสโก สนับสนุนการจัดพิมพ์ฉบับภาษาไทย, บทความ “Blog Power อนาคตสื่อทรงพลัง” เขียนโดย กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์บิสิเนสไทย ตีพิมพ์ครั้งแรกเป็นเรื่องจากปกของบิสิเนสไทย ฉบับประจำสัปดาห์วันที่ ๑๕-๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๐ พิมพ์ซ้ำในคู่มือการเขียนข่าวไอที ของชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, บทความ “เอ็มเอสเอ็นในคืนรัฐประหาร: ยามที่สื่อกระแสหลักสงบนิ่ง ความคึกคักกลับอยู่ที่โลกออนไลน์” เขียนโดย มารพิณ ในหนังสือรายงานประจำปี ๒๕๔๙-๒๕๕๐ ชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศฯ และ รายงานการวิจัยเรื่อง “สื่อภาคประชาชน” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.พิรงรอง รามสูต รณะนันทน์ หัวหน้าสาขาวิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เมื่อผู้จัดทำรวบรวมข้อมูลอย่างเต็มความสามารถแล้ว จึงเริ่มต้นเขียนเนื้อหาของหนังสือพกพา ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนเป็นต้นมา โดยวางกระบวนการปฏิบัติงานไว้อย่างเป็นระบบ เริ่มจากการอ่านข้อมูลทั้งหมดที่ค้นคว้ามา พร้อมทั้งใช้ความคิด เพื่อทำความเข้าใจกับเรื่องราวในภาพรวม จากนั้นจึงเขียนออกมาเป็นสำนวนภาษาของผู้จัดทำเอง ระหว่างนั้น ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ก็เริ่มจัดทำเนื้อหาปริญญานิพนธ์ควบคู่ไปด้วย กระทั่งมีเนื้อหาในแต่ละหัวข้อของหนังสือพกพาครบถ้วน ในราวสิ้นเดือนพฤษภาคม

ผู้จัดทำจึงนำเนื้อหาในหนังสือพกพา ซึ่งผู้จัดทำเองเรียบเรียงเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว เสนอต่ออาจารย์ที่ปรึกษาปริญญานิพนธ์ เพื่อขอรับข้อเสนอแนะ ในอันที่จะปรับปรุงแก้ไขงานในส่วนต่างๆ ให้ผ่านความเห็นชอบจากอาจารย์ที่ปรึกษาฯ โดยตลอดเดือนมิถุนายน ก่อนจะสอบโครงร่างปริญญานิพนธ์ ในวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๒

ปัญหาและอุปสรรค
ทั้งนี้ ในระหว่างการปฏิบัติงานดังกล่าว ก็มีปัญหาและอุปสรรคต่างๆ เกิดขึ้นตามปกติของการทำงานโดยทั่วไป อาทิเช่น ข้อมูลที่ทำการค้นคว้ามาได้ แม้จะมีจำนวนหนึ่ง ซึ่งมากเพียงพอ สำหรับการเขียนหนังสือพกพาแล้วก็ตาม ทว่าในบางส่วนของเนื้อหา กลับไม่มีครบถ้วนเท่าที่ควรนัก เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ ในรูปข้อมูลส่วนเล็กๆ ที่กระจายอยู่ในแหล่งต่างๆ ซึ่งยังไม่มีการรวบรวมกันอย่างจริงจังมาก่อน ทำให้การรวบรวมของผู้จัดทำครั้งนี้ เป็นไปด้วยความยากลำบาก และโดยปกติแล้ว จะมีผู้ปฏิบัติงานเป็นหมู่คณะ เพื่อแบ่งสายงานไปตามที่แต่ละคนมีความถนัด แต่ผู้จัดทำต้องดำเนินงานต่างๆ โดยลำพัง ตามหลักเกณฑ์ในการผลิตปริญญานิพนธ์ อันอาจเป็นข้อจำกัดในการทำงานอยู่บ้าง

นอกจากนี้ ระหว่างขั้นตอนการเขียนเนื้อหาหนังสือพกพา ผู้จัดทำต้องดำเนินตามกระบวนการ อันประกอบด้วย การอ่านทำความเข้าใจกับเนื้อหาข้อมูลต่างๆ พร้อมทั้งจัดหมวดหมู่เรื่องราวที่ใกล้เคียง เพื่อนำมาเขียนร่วมกัน แล้วนำมาประมวลผล จากนั้นจึงเริ่มต้นเขียน และเรียบเรียงเนื้อหา ให้เป็นไปในทำนองเดียวกัน สุดท้ายจึงแทรกเชิงอรรถ เพื่ออ้างอิงถึงข้อมูลเอกสารที่ค้นคว้ามาอีกครั้ง จึงจะเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยกำลังความคิดอย่างสูง รวมถึงระยะเวลาจำกัด อันเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดความเครียด และความเหนื่อยล้าของสมอง ส่งผลให้ระยะเวลาในการผลิตปริญญานิพนธ์ชิ้นนี้ ไม่เป็นไปตามที่คาดหมายไว้

ฅนข่าวเท้าติดดิน: บทที่ ๐๑ เมื่อพลเมืองลุกขึ้นทำข่าว


เมื่อพลเมืองลุกขึ้นทำข่าว

จาก: ฅนข่าวเท้าติดดิน
โดย: ภัทรพล สุธาวุฒิไกร

ปัจจุบัน ความตื่นตัวต่อการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร (Information) แผ่ขยายออกไปในหมู่ชาวโลกทั้งมวล ทั้งยังทวีขึ้นเป็นลำดับ จนกระทั่งก้าวไปถึงจุดที่ผู้อ่านมองเห็นศักยภาพของตน พร้อมกับความปรารถนา ในอันที่จะผลิตข่าวสารขึ้นเอง จากเหตุการณ์ที่คนเดินดินธรรมดาๆ ได้ประสบมาด้วยตาตัวเอง

แต่กลับยังไม่พบช่องทาง (Channel) ที่จะตอบสนองคนเหล่านั้นได้ครบถ้วน ตรงตามที่เขาต้องการ แต่แล้ว เครือข่ายใยพิภพอย่างอินเทอร์เน็ต (Internet) ก็สามารถเนรมิตที่ว่างสุดลูกหูลูกตา ให้กับพลเมืองทั่วไป ด้วยการเข้าถึงที่ไม่ยากมากนัก รวมถึงมีค่าใช้จ่ายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ก่อนหน้านั้น องค์กรภาคประชาชน ตลอดกระทั่งพลเมืองผู้สนใจ ต่างพยายามทุกวิถีทาง ในอันที่จะเรียกร้องให้ได้มา ซึ่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น อันเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่พึงมี แม้จะต้องต่อสู้กับผู้มีอำนาจในสังคมอย่างโชกโชนก็ตาม

เนื่องจากคนเหล่านั้น ซึ่งมักเป็นฝ่ายรัฐ จะพยายามปิดกั้นไม่ให้คนเล็กๆ สามารถมีตัวตนในพื้นที่สื่อ ซึ่งเป็นของพวกตนได้อย่างอิสระ แต่แล้วเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต ก็เข้ามามีบทบาทอย่างสำคัญ ที่ช่วยให้อำนาจการนำเสนอข่าว เข้าถึงประชาชนทุกคนได้อย่างเท่าเทียมกัน

อย่างไรก็ดี วิจารณญาณของพลเมืองเอง ตลอดจนองค์กรพัฒนาเอกชนเหล่านี้ ในการนำเสนอข้อมูลเรื่องราวต่างๆ ยังล่อแหลมต่อการมีอคติส่วนตัว แอบแฝงในเรื่องราวที่นำเสนอได้มาก ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้รับสารเชื่อและเข้าใจคล้อยตามได้ไม่ยาก และหากเป็นข้อมูลผิด ยิ่งทำให้เกิดอันตรายแก่สังคมโดยรวมอีกด้วย

ดังนั้น คุณสมบัติที่ผู้บริโภคข่าวสารในยุคนี้ จำเป็นต้องมีก็คือ เข้าถึงการรับข่าวสารจากสื่อหลายแหล่ง เพื่อถ่วงดุลข้อมูล ทำให้ตัดสินความจริงได้ด้วยตนเอง ตลอดจนความรู้เท่าทันสื่อ ทั้งสื่อมวลชน และสื่อบุคคล ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้รับสารเกิดความเข้มแข็ง ไม่ถูกชวนเชื่อหรือล่อลวงให้หลงเชื่อไปได้

นักวิชาการสื่อและวารสารศาสตร์ทั่วโลก ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ พยายามค้นหาคำตอบ ถึงกระบวนการผลิต และเผยแพร่ข่าว ในกลุ่มมวลชนด้วยกันเอง โดยไม่ต้องผ่านสื่อสารมวลชน เริ่มจากการให้นิยามความหมายของความเป็น “วารสารศาสตร์พลเมือง” ซึ่งมีอยู่หลายท่าน ดังจะได้อธิบายต่อจากนี้

มาร์ค เกลเซอร์ (Mark Glaser) นักเขียน และนักวิชาการสื่อ กล่าวไว้ว่า “…วารสารศาสตร์พลเมือง คือประชาชนทั่วๆ ไป ที่ไม่ได้ผ่านการฝึกฝนให้เป็นนักข่าวมืออาชีพ แต่สามารถใช้เครื่องมืออุปกรณ์ เทคโนโลยีอันทันสมัย รวมถึงการใช้อินเทอร์เน็ต ในการสร้างสรรค์ โต้แย้ง หรือตรวจสอบข้อมูลของสื่อด้วยตัวเอง…”[๑]

เนเดอร์ (Nader) ให้ความจำกัดความ สื่อภาคประชาชน อย่างกว้างๆ โดยเปรียบเทียบว่า “อะไรก็ตามที่ไม่ใช่สื่อกระแสหลัก ที่มีเจ้าของเป็นบริษัทห้างร้าน ก็ถือว่าเป็นสื่อภาคประชาชน”[๒]

เซียมโบ-โฟกล์ (Ziembo-Vogl) ให้คำจำกัดความแนวคิดหนังสือพิมพ์ภาคประชาชน โดยเปรียบเทียบกับแนวคิด ตำรวจชุมชน (Community Policing) โดยสรุปว่า “หนังสือพิมพ์ภาคประชาชน มีลักษณะยากที่จะให้คำจำกัดความ และยังไม่มีคำจำกัดความ ซึ่งเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง ต้องได้รับความร่วมมือ และการมีส่วนร่วมจากประชาชน ต้องมีการพยายามแก้ปัญหาในระยะยาว เน้นที่การทำให้ภาคประชาชนเข้มแข็ง ผ่านการถูกต่อต้าน จากผู้ที่ไม่เห็นด้วย เป็นการนำเอาแนวปฏิบัติแบบเก่าๆ ที่มีอยู่แล้ว มาปัดฝุ่นใหม่ เป็นแนวที่แตกต่าง เสมือนเหล้าเก่าในขวดใหม่ มีความเชื่อว่า หนังสือพิมพ์แบบดั้งเดิม ต้องถูกแทนที่ ต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม ขององค์กรที่รับผิดชอบก่อน จึงจะเกิดสื่อภาคประชาชน ประชาชนจะเป็นผู้กำหนดความสำคัญของปัญหาต่างๆ หลังจากที่รับรู้ปัญหาแล้ว กระตุ้นส่งเสริม ให้ประชาชนมีส่วนร่วม ในกิจกรรมต่างๆ เพื่อลดความเฉื่อยชา และความเห็นแก่ตัวของคน”[๓]

โคลแมน (Coleman) ศึกษาพื้นฐานทางปรัชญา ของหนังสือพิมพ์ภาคประชาชน และชี้ว่า “ในจุดเริ่มต้น หนังสือพิมพ์ภาคประชาชน เป็นภาคปฏิบัติ มากกว่าจะสนใจให้คำจำกัดความ และจากหลายการศึกษา ที่อ้างถึง Coleman พบหลายคำที่ใช้เรียกหนังสือพิมพ์ภาคประชาชน อาทิ วารสารศาสตร์สาธารณะ (Public Journalism) ซึ่งมีที่มาจากแนวคิดของ Dewey เรื่อง มหาชนและปัญหาสาธารณะ (Public and its problems) บ้างใช้คำว่า สื่อพลเมือง (Civic Media) เพื่ออธิบายโดยนัย ถึงกิจกรรมที่หนังสือพิมพ์ชนิดนี้ยึดปฏิบัติ นอกจากนั้น ยังมีคนใช้ชื่อเรียกต่างๆ กันอีก เช่น วารสารศาสตร์ชุมชนใหม่ (The New Community Journalism) หรือ วารสารศาสตร์ภาคบริการสาธารณะ (Public Service Journalism) และ วารสารศาสตร์เพื่อชุมชน (Communitarian Journalism)”[๔]

เจย์ โรเซน (Jay Rosen) ซึ่งเป็นบุคคลที่ได้รับการขนานนามว่า เป็นผู้ริเริ่ม ศึกษา และพยายามจำกัดความหมาย ของหนังสือพิมพ์ภาคประชาชนอย่างต่อเนื่อง โรเซนได้ให้คำนิยามเชิงปฏิบัติการ เพื่อให้พัฒนาทฤษฎีหนังสือพิมพ์ภาคประชาชน (Public Journalism Theory) อย่างเป็นไปได้ (แม้เขาจะตระหนักดีว่า หนังสือพิมพ์ภาคประชาชนยังไม่มีความหมายร่วม) โดยนิยามว่า “การหนังสือพิมพ์ สามารถ และควรจะสวมบทบาทหลัก ในการทำให้ภาคประชาชนเข้มแข็งขึ้น ส่งเสริมการถกแถลง และอภิปรายในระดับสาธารณะ และท้ายที่สุด ทำหน้าที่ชุบชีวิตความเป็นประชาชน โดยหนังสือพิมพ์ภาคประชาชนจะเป็นกระบวนการที่สร้างขึ้น เพื่อทำหน้าที่รายงานประเด็นต่างๆ ที่ผู้อ่านเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ มากกว่าจะรายงานข่าวตามที่ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลาย เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ ประเด็นต่อมา หนังสือพิมพ์ภาคประชาชนทำหน้าที่ส่งเสริม การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของสาธารณะ ในเรื่องใดก็ตาม ซึ่งท้ายที่สุด จะนำมาซึ่ง การทำงานเป็นกลุ่ม พร้อมทั้งแก้ปัญหาที่พบได้ ประเด็นที่สามคือ เป้าหมายหลักของหนังสือพิมพ์ภาคประชาชน คือการสร้างความเข้มแข็งให้กับพลเมือง พัฒนาคุณภาพของการถกเถียง อภิปรายความเห็นในระดับสาธารณะ และทำให้สาธารณชนมีความกระตือรือร้นมากขึ้น”

รองศาสตราจารย์ พิรงรอง รามสูต รณะนันทน์ หัวหน้าสาขาวิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวไว้ว่า “สื่อภาคประชาชน เป็นสื่อที่มีความหมายคาบเกี่ยวกับ สื่อทางเลือก และ สื่อชุมชน วัตถุประสงค์สำคัญในการก่อตั้ง ไม่ใช่เพื่อเป็นช่องทางแสวงกำไรสูงสุด แต่เพื่อผล
ประโยชน์สูงสุดของประชาชน หรือชุมชนที่เกี่ยวข้อง มีความเป็นอิสระ ปราศจากการถูกควบคุม จากภาครัฐ และเอกชน ทั้งทางด้านการดำเนินงาน และทิศทางของเนื้อหาที่นำเสนอ”[๕]

ดังนั้น “วารสารศาสตร์พลเมือง” (Citizen (Civic) Journalism) จึงหมายถึง หลักทางวิชาการ เกี่ยวกับกระบวนการผลิตสื่อ ของพลเมือง โดยพลเมือง เพื่อพลเมืองด้วยกันเอง ซึ่งประกอบด้วย “สื่อพลเมือง” (Citizen Media) เป็นช่องทางที่พลเมืองใช้ในการสื่อสารสู่สาธารณชน มีรูปแบบใดก็ได้ ตามแต่ความสามารถที่จะคิดสร้างสรรค์ขึ้น และสามารถดำเนินการได้จริง ส่วนมากจะเป็นช่องทางที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ เช่น อินเทอร์เน็ต (เว็บบอร์ด และเว็บล็อก) หรือเสียค่าใช้จ่ายน้อย เช่น สิ่งพิมพ์ (ใบปลิว แผ่นพับ โปสเตอร์ ฯลฯ) โดยเกิดขึ้นเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน ของประชาชน หรือชุมชนใกล้เคียง[๗]

“ผู้สื่อข่าวพลเมือง” (Citizen Reporter) เป็นพลเมืองปัจเจก หรือเป็นพลเมืองกลุ่มย่อย ที่ทำงานอาสาสมัคร หรือเป็นองค์กรขนาดเล็ก ในการรายงานเรื่องราวที่เกิดขึ้นรอบตัว หรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆ[๘]

“สารจากพลเมือง” (Citizen Messages) เป็นเนื้อหาที่พลเมืองนำเสนอผ่านสื่อพลเมือง มักเป็นเรื่องราวที่ใกล้ตัวของพลเมืองผู้ผลิตสื่อนั้น และมักเป็นกรณีที่สร้างผลกระทบ กับสังคมวงแคบโดยตรง แต่อาจส่งผลกระทบกับสังคมวงกว้างในทางอ้อมหรือไม่ก็ได้ หรืออาจเป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล ในเรื่องราวต่างๆ นับแต่ระดับประเทศ จนถึงระดับบุคคล ก็ได้เช่นกัน

ดังนั้น เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ จึงมีขอบเขตอยู่ภายใต้นิยามโดยสรุป ของคำว่า วารสารศาสตร์พลเมือง, สื่อพลเมือง, ผู้สื่อข่าวพลเมือง และ สารจากพลเมือง ดังที่บรรยายไว้ข้างต้น

--------------------------------------------------------------------------------------------------
[๑] มานะ ตรีรยาภิวัฒน์, “Citizen Journalism วารสารศาสตร์พลเมือง (๑)”, ใน Thaicoon ฉบับเมษายน ๒๕๕๑
[๒] Nader, “To promote democracy, bring pressure on the media”, USA Today Magazine, Vol.120 No.2562 (1992), 89, อ้างถึงใน พิรงรอง รามสูต รณะนันทน์, “รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์เรื่องสื่อภาคประชาชน,” (๒๕๔๗), ๑๑
[๓] Ziembo-Vogl, “The function of the media in community policing”, Unpublished dissertation for Doctor of Philosophy degree. Michigan State University. East Lansing, MI., (1998), อ้างถึงใน พิรงรอง รามสูต รณะนันทน์, “รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์เรื่องสื่อภาคประชาชน,” (๒๕๔๗), ๑๒
[๔] Coleman, “The intellectual antecedents of public journalism”, Journal of Communication Inquiry, Vol.21 No.1 (1997), 60, อ้างถึงใน พิรงรอง รามสูต รณะนันทน์, “รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์เรื่องสื่อภาคประชาชน,” (๒๕๔๗), ๑๒
[๕] พิรงรอง รามสูต รณะนันทน์, (๒๕๔๗) “รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์เรื่องสื่อภาคประชาชน”, หน้า viii

ฅนข่าวเท้าติดดิน: บทที่ ๐๒ ก่อนจะมีสื่อพลเมือง


ก่อนจะมีสื่อพลเมือง

จาก: ฅนข่าวเท้าติดดิน
โดย: ภัทรพล สุธาวุฒิไกร

ก่อนที่จะมีสื่อต่างๆ ที่ขับเคลื่อนโดยพลเมืองทั่วไป ในลักษณะปัจเจกชนเต็มรูปแบบ ดังเช่นทุกวันนี้ ตัวตนในบทบาทผู้สื่อข่าวของพลเมืองทั้งหลาย เริ่มขึ้นอย่างจริงจังจากการเปิดพื้นที่ โดยสื่อมวลชนกระแสหลัก ในช่องทางต่างๆ ดังที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้

ในอดีต องค์กรพัฒนาเอกชน และนักเคลื่อนไหวเพื่อสังคม มักใช้วิธีการจัดทำสื่อสิ่งพิมพ์ เช่น ใบปลิว แผ่นพับ โปสเตอร์ และหนังสือ เป็นต้น ขึ้นด้วยตนเอง เพื่อถ่วงดุลข้อมูลข่าวสารจากภาครัฐและเอกชน ที่เรียกว่า “สื่อทางเลือก” (Alternative Medias) แต่วิธีดังกล่าวนี้ คงเป็นเรื่องใหญ่โตซับซ้อน เกินกำลังที่พลเมืองจะทำได้โดยลำพัง

การแจ้งเบาะแสข่าวแก่สื่อมวลชนกระแสหลัก
ในยุคแรกของการผลิตหนังสือพิมพ์ กองบรรณาธิการจะเป็นฝ่ายสืบค้นข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนเบาะแสของข่าวต่างๆ ด้วยตนเอง รวมถึงนำเสนอเนื้อหาที่ตนหามาได้ ลงในพื้นที่ของหนังสือพิมพ์เอง ส่วนผู้อ่านเป็นเพียงลูกค้าผู้ซื้อหนังสือพิมพ์แต่เพียงเท่านั้น

ต่อมา เริ่มมีผู้อ่านที่ได้เบาะแสของข่าวใดข่าวหนึ่ง หรือทราบเรื่องราวต่างๆ ที่เขาคิดว่าน่าสนใจ จึงรวบรวมข้อมูลเหล่านั้นมาเสนอกับกองบรรณาธิการ ด้วยการส่งเป็นจดหมายไปยังสำนักงานหนังสือพิมพ์ ซึ่งนับเป็นการเริ่มกระบวนการใหม่ สวนทางจากผู้รับสารไปยังสื่อมวลชน

จากนั้น กองบรรณาธิการก็จะนำข้อมูลที่ผู้อ่านส่งมา เข้าสู่ที่ประชุมเพื่อปรึกษาหารือกัน เช่นเดียวกับข้อมูลที่ได้มาจากกระบวนการสืบค้นข้อมูลข่าวสาร โดยผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์เอง ส่วนจะได้รับการพิจารณาหรือไม่ อยู่ที่กองบรรณาธิการจะเห็นว่า ข้อมูลเหล่านั้นมีคุณค่าข่าวเพียงพอจะนำลงตีพิมพ์หรือไม่

จดหมายถึงบรรณาธิการ
หลังจากมีผู้อ่านจำนวนหนึ่ง เสนอข้อมูลที่ตนทราบมา กับหนังสือพิมพ์โดยตรง ทั้งยังมีผู้ส่งเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากมองเห็นช่องทางที่ข้อมูล หรือปัญหาของตน จะได้รับการนำเสนอผ่านสื่อมวลชนกระแสหลัก ที่เป็นส่วนช่วยให้พวกเขามีความหวังว่า ปัญหาของเขาจะได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง รวมถึงการที่กองบรรณาธิการในบางฉบับ มีค่าตอบแทนให้กับผู้ส่งข้อมูล ที่ได้รับพิจารณาให้ลงตีพิมพ์ในหน้าหนังสือพิมพ์ แม้จะเป็นจำนวนไม่มากนัก แต่ก็สร้างความสนใจให้กับผู้อ่านบางส่วนทีเดียว

จากจุดนี้ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์บางฉบับ จึงมีดำริในการเปิด “กล่องรับจดหมายส่วนตัว” ให้ผู้อ่านที่ต้องการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ตลอดจนเพื่อเสนอข้อมูลต่างๆ ที่ตนมีอยู่ เช่นที่เคยส่งไปในยุคก่อนหน้านี้ โดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาจากกองบรรณาธิการเสียก่อน แต่เปลี่ยนรูปแบบเป็นการนำเสนอในรูปของคอลัมน์ “จดหมายถึงบรรณาธิการ” (Letter to The Editor) ซึ่งเนื้อหาจะเป็นการนำจดหมายมาลงตีพิมพ์ทีละฉบับ ต่อด้วยคำตอบจากบรรณาธิการ หรือบุคคลอื่นที่บรรณาธิการมอบหมาย ซึ่งมักเป็นกองบรรณาธิการ

นับเป็นช่องทางใหม่ที่วิวัฒนาการขึ้นมาอีกขั้น สำหรับพื้นที่ของพลเมืองในสื่อกระแสหลัก ทั้งนี้ ปรากฏการณ์ดังกล่าวเริ่มเกิดขึ้นในต่างประเทศก่อน แล้วจึงแพร่หลายมายังประเทศไทย ในระยะต่อมา

ข่าวที่ไม่เป็นข่าว
นับจากนั้น ความสัมพันธ์ระหว่าง สื่อมวลชนกระแสหลัก กับพลเมือง ก็ดำเนินไปเช่นนั้นเป็นเวลานาน จนกระทั่ง มหาวิทยาลัยโซโนมา สหรัฐอเมริกา ได้ริเริ่ม โครงการ Project Censored ซึ่งทำการจัดอันดับข่าวที่มีผลกระทบกับคนส่วนใหญ่ในสังคม แต่กลับถูกเซ็นเซอร์จากสื่อมวลชนกระแสหลัก

การเซ็นเซอร์ข่าว หรือการทำให้ข่าวไม่เป็นข่าว มีสาเหตุจากหลายปัจจัย เช่น อิทธิพลทางการเมือง นโยบายของรัฐ อำนาจทุนในกระบวนการโฆษณาเชิงธุรกิจ ค่านิยมของสังคม หรือแม้แต่ตัวสื่อมวลชนเอง ดังนั้น หากมีการรวบรวมข่าวเหล่านี้เผยแพร่สู่สาธารณชน ก็นับเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันทางความรู้ ให้เท่าทันสื่อมวลชน พร้อมกระตุ้นเตือนให้ตระหนักว่า การนำเสนอข่าวสารที่ถูกต้องครบถ้วน และเป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมนั้น มีความสำคัญอย่างไร

ด้วยความมุ่งหวังจะผลักดันให้พัฒนากระบวนการนำเสนอ ข่าวสารภาคประชาชน ที่ให้แง่คิดมุมมองใหม่ๆ มากกว่าที่นำเสนออยู่ ในสื่อมวลชนกระแสหลักทุกวันนี้ กลุ่มบุคลากรจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ โครงการสื่อสันติภาพ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ศูนย์ข่าวสารสันติภาพ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, คณะกรรมการเผยแพร่ และส่งเสริมงานพัฒนา (ผสพ.), นิตยสารปาจารยสาร, กลุ่มผู้บริโภคสื่อ, สถาบันพัฒนาการเมือง ได้รวมตัวกันปรึกษาหารือที่สวนเงินมีมา เมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๕๔๒

ผลจากการสนทนาในครั้งนั้น ส่งผลให้เกิดการก่อตัวของ โครงการข่าวที่ไม่เป็นข่าว โดยมี ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ (อาจารย์ย่า) เป็นประธานโครงการ พร้อมทั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จากหลากหลายสาขาวิชา เช่น ศาสตราจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์, รองศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม, ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, นายชยันต์ วรรธนะภูติ, นางผุสดี ตามไท, นางสาวสนิทสุดา เอกชัย, นายสุรสีห์ โกศลนาวิน เป็นต้น ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ จะทำหน้าที่ในการพิจารณา คัดสรร และจัดอันดับข่าวที่ไม่เป็นข่าว เพื่อสรุปนำเสนอต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก ในราวเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔

เมื่อได้ผลสรุป จึงมีการนำเสนอประเด็น “ข่าวที่ไม่เป็นข่าว” ออกมาจำนวน ๑๐ ประเด็น ได้แก่ ประเด็นผงชูรส, เขื่อนราษีไศล, เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์, เหมืองแร่คลิตี้, การจัดสรรงบประมาณเพื่อผู้หญิง, ผู้เจ็บป่วยจากการทำงาน, พม่า, การเป็นเจ้าของสื่อ, พืชตัดต่อพันธุกรรม (GMOs) และประเด็นทางพลังงาน

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากข้อจำกัดหลายประการ จึงมีข่าวที่เสร็จสมบูรณ์เพียง ๖ เรื่อง คือ ผงชูรส กับกระบวนการสร้างความลวงในสังคมไทย, เขื่อนราษีไศล: ราคาที่ต้องจ่าย เพื่อความ “เป็นข่าว”, เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์: ความเดือดร้อนต้องห้าม, พม่า: รากอันหยั่งลึกของการไม่เป็นข่าว, การเป็นเจ้าของสื่อ: ข่าวที่ไม่เป็นข่าว โดยความสมัครใจของเจ้าของสื่อ และ ชะตากรรมร่วมของคนค้านท่อ และสังคมไทยในความเป็น และไม่เป็นข่าว: กรณีโครงการท่อส่งก๊าซไทย-มาเลเซีย[๑]

โครงการดังกล่าว นับเป็นจุดเริ่มต้นอย่างจริงจัง ในการเปิดพื้นที่สื่อมวลชนกระแสหลัก เพิ่มเติมให้กับการเสนอข่าวสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าวข้างต้น

---------------------------------------------------------------------------------------------
[๑] ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการ, “ข่าวที่ไม่เป็นข่าว”, พิมพ์ครั้งที่ ๑ (กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์เดือนตุลา, ๒๕๔๔)

ฅนข่าวเท้าติดดิน: บทที่ ๐๓ สำนักงานสื่อพลเมือง “นานาชาติและเคลื่อนที่”



สำนักงานสื่อพลเมือง
“นานาชาติและเคลื่อนที่”

จาก: ฅนข่าวเท้าติดดิน
โดย: ภัทรพล สุธาวุฒิไกร


เครื่องมือสำคัญในการผลิตสื่อพลเมืองออนไลน์ บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ที่ใช้งานเป็นหลักอยู่สองชนิดคือ “เว็บบอร์ด” และ “เว็บล็อก” ซึ่งไม่มีค่าใช้จ่ายในการใช้พื้นที่ เพื่อเป็นแนวทางให้กับผู้สนใจจะผลิตสื่อพลเมืองออนไลน์ ได้เรียนรู้ และจัดทำขึ้นด้วยตนเองต่อไป

เว็บบอร์ด (Web Board)
เป็นรูปแบบการทำงานของเว็บไซต์ ที่ใช้สำหรับแลกเปลี่ยนบทสนทนา พูดคุย อภิปราย ภายในสังคมออนไลน์ มีชื่อเรียกอย่างสั้นว่า บอร์ด และมีชื่อเรียกอื่นๆ ด้วย เช่น (ในภาษาไทย) กระดานข่าว, กระดานสนทนา, (ในภาษาอังกฤษ) เว็บฟอรัม (Web Forum), เมสเซจ บอร์ด (Message Board), บุลเลตินบอร์ด (Bulletin Board), ดิสคัชชันบอร์ด (Discussion Board) เป็นต้น

ส่วนเนื้อหาของเรื่องราวที่พูดคุยกันนั้น จะแตกต่างกันออกไป บางแห่งจะแบ่งกลุ่มย่อยออกเป็นหลายหัวข้อ และหลายแห่งจะวางแนวเรื่องในการพูดคุยเป็นการเฉพาะทางด้วย เว็บบอร์ดที่ใหญ่ที่สุดในโลก คือ เว็บบอร์ด ทูแชนแนล ของญี่ปุ่น (www.2ch.net) ส่วนเว็บบอร์ดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คือ พันทิปคาเฟ่ (www.pantip.com/cafe) ในเว็บไซต์พันทิปดอตคอม (www.pantip.com)

ผู้เข้าใช้บริการเว็บบอร์ด มีอยู่ ๔ ประเภท ที่มีสิทธิในการปฏิบัติใดๆ ภายในเว็บบอร์ด ซึ่งต่างระดับกัน ดังต่อไปนี้

๑. ผู้ดูแลสูงสุด (Administrator – Admin.) เป็นบุคคลที่มีสิทธิในการจัดการมากกว่าทุกคน ส่วนมากมักเป็นผู้เปิดใช้งานเว็บบอร์ดเอง
๒. ผู้ดูแลทั่วไป (Moderators – Mod.) เป็นบุคคลที่สามารถจัดการกระทู้ และความคิดเห็นต่างๆ เพื่อให้เป็นระเบียบเรียบร้อย
๓. ผู้ใช้ที่เป็นสมาชิก (Members) เป็นบุคคลที่เข้าใช้บริการ โดยผ่านการลงชื่อผู้ใช้ (User Name) และให้รหัสผ่าน (Password) ก่อน ซึ่งจะมีสิทธิบางอย่าง รองมาจากผู้ดูแล แต่เหนือกว่าผู้ไม่ออกนาม
๔. ผู้ใช้ที่ไม่ออกนาม (Anonymous Users) เป็นบุคคลที่ไม่ประสงค์จะผ่านการลงชื่อผู้ใช้ และให้รหัสผ่าน ซึ่งจะได้รับเพียงสิทธิในการตั้งกระทู้ และแสดงความเห็น โดยไม่มีชื่อผู้ใช้ ส่วนมากจะปรากฏเป็น หมายเลขระบุตำแหน่ง ในระบบเครือข่าย ที่ใช้โปรโตคอล (ไอพีแอดเดรส – Internet Protocol (IP) Address) แทน

ทั้งนี้ ผู้ใช้ที่ไม่ออกนาม สามารถก่อกวนกระทู้ (ภาษาปาก: ปั่นกระทู้) แต่ผู้ดูแลก็สามารถใช้อำนาจ ตามบทลงโทษที่กำหนดขึ้น และแจ้งให้ทราบไว้ในเว็บบอร์ด เพื่อยุติการก่อกวนกระทู้ได้

สำหรับบุคคลที่ต้องการเปิดให้บริการเว็บบอร์ดนั้น มีวิธีการอยู่หลายทาง เช่น เขียนโปรแกรมเพื่อสร้างเว็บบอร์ดขึ้นเอง ภายในพื้นที่เว็บไซต์, แจ้งขอบริการติดตั้งเว็บบอร์ดส่วนตัว จากผู้ให้บริการเว็บไซต์ หรือเว็บบอร์ด และการติดตั้งซอฟท์แวร์เว็บบอร์ดสำเร็จรูป บนเซิร์ฟเวอร์ของตน

ซอฟท์แวร์เว็บบอร์ดสำเร็จรูป เป็นซอฟท์แวร์ระบบจัดการเนื้อหาเว็บ ที่มีความสามารถในการสร้างเว็บบอร์ดได้โดยทันที ไม่ต้องสร้างเว็บไซต์ หรือเขียนโปรแกรมสร้างเว็บบอร์ดเอง นอกจากนี้ ซอฟท์แวร์บางตัว ยังสามารถเปลี่ยนรูปแบบหน้าตา (Theme) และให้ความสามารถพิเศษเพิ่มเติมได้ด้วย

โดยส่วนมากแล้ว ผู้ใช้สามารถดาวน์โหลด และติดตั้งได้ทันที และบางส่วนมิได้สงวนลิขสิทธิ์ (Open Source) ซึ่งสามารถปรับแก้เป็นรูปแบบของตน แล้วติดตั้งไว้ใช้เป็นเว็บบอร์ดส่วนตัว หรือเผยแพร่ให้บุคคลอื่นนำไปใช้งานได้ ส่วนที่มีลิขสิทธิ์นั้น ก็มีทั้งแบบที่เปิดให้ใช้งานฟรี หรือที่ต้องเสียค่าใช้จ่าย[๑]

เว็บล็อก (Web log)
เป็นเว็บไซต์รูปแบบหนึ่ง ที่เขียนขึ้นให้เรียงลำดับข้อมูลที่เขียน โดยจะแสดงข้อมูลใหม่ที่สุด ไว้ในตำแหน่งแรกสุด และสามารถเปิดให้ผู้เข้าอ่านข้อมูล แสดงความคิดเห็นต่อท้าย ข้อความที่เจ้าของบล็อกเขียนไว้ได้ เป็นผลให้ผู้เขียนได้รับผลตอบกลับ (Feedback) โดยทันที

คำว่า “เว็บล็อก” เริ่มใช้โดย จอห์น บาร์เกอร์ (Jorn Barger) เมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ (ค.ศ. ๑๙๙๗) ส่วนชื่อเรียกอย่างสั้นที่ว่า “บล็อก” (Blog) เริ่มใช้โดย ปีเตอร์ เมอร์ฮอลซ์ (Peter Merholz) จากที่เขาเขียนคำว่า Weblog แบบติดตลก ในแถบข้างบล็อกของเขาว่า “We Blog”

จากนั้นไม่นาน อีวาน วิลเลียมส์ แห่งไพราแล็บส์ ใช้คำว่า “บล็อก” เป็นทั้งคำนาม และคำกริยา ที่หมายถึงการเขียนบล็อก นอกจากนี้ ไพราแล็บส์ ยังเชื่อมโยงคำว่า “บล็อกเกอร์” (Blogger) ซึ่งใช้เรียกบุคคลที่เขียนบล็อกเป็นประจำ กับชื่อผลิตภัณฑ์เว็บล็อกของไพราแล็บส์เอง เพื่ออาศัยความนิยมของคำ มาเป็นจุดขายอีกด้วย

องค์ประกอบโดยปกติของบล็อก จะมีทั้งข้อความ ภาพ และส่วนเชื่อมโยง (Link) โดยอาจรวมไปถึงสื่อต่างๆ เช่น เพลง หรือคลิปวิดีโอ ผสมผสานเข้าร่วมกันได้ ทั้งนี้ เจ้าของบล็อกสามารถเขียนเนื้อหาได้อย่างอิสระ โดยอาจใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสาร หรือประกาศข่าวสารถึงบุคคลต่างๆ แสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ เผยแพร่ผลงานได้หลายด้าน เช่น สถานการณ์ปัจจุบัน การเมือง สังคม เทคโนโลยี อาหาร เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีเว็บล็อกที่มีเนื้อหาเป็นเรื่องส่วนตัว ที่ชาวไทยเรียกกันว่า ไดอารีออนไลน์ (Online Diary) ซึ่งถือเป็นส่วนแรกที่เริ่มต้นการใช้งานรูปแบบของเว็บล็อกในทุกวันนี้ และบริษัทเอกชนหลายแห่งยังได้จัดทำเว็บล็อกขึ้น เพื่อโฆษณาสินค้า และบริการแก่ลูกค้าในรูปแบบใหม่ พร้อมทั้งรับความคิดเห็นในการพัฒนาจากลูกค้าโดยตรง และโดยทันที

อนึ่ง ในปัจจุบัน มีเว็บล็อกบนอินเทอร์เน็ต จำนวนมากกว่า ๑๑๒ ล้านแห่ง ตามผลการค้นหาโดย เทคโนราที (www.technorati.com) เว็บไซต์ให้บริการค้นหาเว็บล็อก ปัจจุบัน หลายเว็บไซต์เปิดส่วนให้บริการบล็อกขึ้น เพื่อเชิญชวนผู้เขียนและผู้อ่าน ให้เข้าสู่เว็บไซต์ของตนเพิ่มขึ้น

เว็บล็อกเข้ามามีบทบาทในวงการสื่อสารมวลชนทั่วโลกมากขึ้น เพราะมีระบบแก้ไขเนื้อหาที่เข้าใจง่าย สามารถเขียนเรื่องราวต่างๆ ได้ แม้จะไม่มีความรู้ในการเขียนเว็บไซต์ โดยผู้สื่อข่าวมักนำผลงานข่าวของตน มาลงเผยแพร่ในเว็บล็อก นอกเหนือจากการส่งให้สื่อมวลชนกระแสหลัก เพื่อเผยแพร่ข้อมูล และแนวความคิดส่วนตัว ซึ่งมีข้อดีที่ความรวดเร็วในการนำเสนอ และมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าสื่ออื่น

เจ้าของเว็บล็อก สามารถบริหารและแก้ไขเนื้อหาในเว็บล็อกได้ในเว็บเบราว์เซอร์ เช่นเดียวกับที่อ่านหรือใช้งานเว็บไซต์ทั่วไป โดยผู้ให้บริการแต่ละราย จะกำหนดรูปแบบในการบริหารเว็บล็อกแตกต่างกัน อย่างระบบที่มีผู้ดูแล ผู้เขียนที่ส่งเรื่องขึ้นมา จะต้องผ่านการอนุมัติจากผู้ดูแลเสียก่อน เรื่องนั้นจึงจะแสดงขึ้นบนเว็บล็อกได้ ต่างจากเว็บล็อกส่วนตัว ซึ่งสามารถแสดงผลได้ทันที

สำหรับผู้อ่านบล็อก ก็สามารถเข้าชมได้ เช่นเดียวกับการเข้าอ่านเว็บไซต์โดยทั่วไป และยังสามารถแสดงความคิดเห็น ต่อท้ายเนื้อหาในแต่ละเรื่อง โดยที่ผู้ให้บริการบางแห่งจะระบุว่า ต้องมีการลงทะเบียนเสียก่อน นอกจากนี้ ผู้อ่านเว็บล็อก ยังสามารถอ่านโดยผ่านระบบฟีด (Feed) ที่ให้ผู้ใช้สามารถอ่านเว็บล็อก ด้วยโปรแกรมตัวอื่น โดยไม่จำเป็นต้องเข้ามาที่หน้าเว็บล็อก

อนึ่ง การใช้งานเว็บล็อกโดยผู้เขียน จะมีสองรูปแบบหลักคือ ผ่านเว็บไซต์ของผู้ให้บริการ หรือจะติดตั้งซอฟท์แวร์เป็นส่วนตัวก็ได้ ดังที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้

ซอฟท์แวร์เว็บล็อก เป็นระบบในการจัดการเนื้อหาเว็บ ที่ผู้พัฒนา นำมาเผยแพร่กับผู้ดูแลหรือผู้เขียนเว็บล็อกจึงสามารถใช้งานได้ แม้ไม่มีความรู้พื้นฐาน เกี่ยวกับภาษาเอชทีเอ็มแอล หรือการทำเว็บไซต์ก็ตาม ผู้เขียนเว็บล็อกจึงสามารถใช้เวลาที่เหลืออีกมาก ในการบริหารจัดการและเพิ่มข้อมูลสารสนเทศต่างๆ แทน

นอกจากนี้ ยังสนับสนุนกับระบบ What you see is what you get. (WYSIWYG) ที่เขียนได้ง่าย และอาจเพิ่มเติมเทมเพลต (Template) ให้เลือกใช้ได้หลายแบบได้ด้วย โดยผู้ใช้สามารถดาวน์โหลด และติดตั้งได้ทันที ซึ่งบางส่วนจะไม่ได้สงวนลิขสิทธิ์ (Open Source) ซึ่งผู้พัฒนาสามารถปรับแก้เป็นรูปแบบของตนเอง แล้วติดตั้งไว้เพื่อใช้เป็นเว็บล็อกส่วนตัว และยังเผยแพร่ให้บุคคลอื่นนำไปใช้งานต่อได้ ส่วนที่มีลิขสิทธิ์ อาจมีทั้งที่ต้องเสียค่าใช้จ่าย หรือไม่มีค่าใช้จ่ายก็ได้[๒]


ผู้ให้บริการ และซอฟท์แวร์เว็บบอร์ด และเว็บล็อก
จากคำอธิบายข้างต้นจะทราบว่า การสร้างเว็บบอร์ด หรือเว็บล็อก บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตนั้น สามารถทำได้สองวิธี ในขั้นปกติคือ การรับบริการสำเร็จรูปจากผู้เปิดให้บริการ และในขั้นสูงคือ การติดตั้งซอฟท์แวร์บนเซิร์ฟเวอร์ส่วนตัว ซึ่งในส่วนนี้ จะกล่าวถึงผู้ให้บริการ และชื่อซอฟท์แวร์ ทั้งเว็บบอร์ด และเว็บล็อก ตามลำดับดังนี้

ผู้ให้บริการเว็บบอร์ดที่มีชื่อเสียง ในต่างประเทศ เช่น กูเกิล กรุ๊ปส์ (groups.google.com) ของกูเกิล (www.google.com) เว็บไซต์เครื่องมือค้นหาเว็บ ๒๑๒ คาเฟ่ (www.212cafe.com) และ บีบีซีเน็ต (www.bbznet.com) เป็นต้น ส่วนในประเทศไทยคือ พันทาวน์ดอตคอม (www.pantown.com) ของพันทิปดอตคอม (www.pantip.com)

ซอฟท์แวร์เว็บบอร์ดที่มีชื่อเสียง ได้แก่ phpBB, vBulletin, Invision Power Board (IPB) และ Simple Machines Forum (SMF) ซึ่งใช้ซอฟท์แวร์ต้นแบบ “พีเอชพี/มายเอสคิวแอล” ในการพัฒนา ส่วนซอฟท์แวร์ YaBB จะใช้ซอฟท์แวร์ต้นแบบ “เพิร์ล/แฟลตไฟล์” ในการพัฒนา[๑]

ผู้ให้บริการเว็บล็อกที่มีชื่อเสียง ในต่างประเทศ เช่น บล็อกเกอร์ (www.blogger.com) ของกูเกิล, ไทป์แพด (www.typepad.com), เวิร์ดเพรสส์ (www.wordpress.com), ยาฮู! ๓๖๐° (360.yahoo.com) หรือ ยาฮู! เดย์ส (days.yahoo.com) ของยาฮู! (www.yahoo.com) เว็บไซต์เครื่องมือค้นหาเว็บ, วินโดวส์ไลฟ์ สเปซเซส (spaces.live.com)  ของไมโครซอฟท์, มายสเปซ (www.myspace.com), มัลติพลาย (www.multiply.com) เป็นต้น

ส่วนในประเทศไทย จะมีผู้ให้บริการ แบ่งออกตามกลุ่มความสนใจ เช่นวิชาการคือ โกทูโนว์ (www.gotoknow.org) และ เลอร์เนอร์ (www.learners.in.th), เรื่องบันเทิง ได้แก่ เอ็กซ์ทีน (www.exteen.com), บล็อกแก๊ง (www.bloggang.net) เป็นต้น ส่วน บล็อกน็อน (www.blognone.com) เน้นเทคโนโลยี และโอเคเนชั่น (www.oknation.net) ให้ความสำคัญกับข่าว

ซอฟท์แวร์เว็บล็อกที่มีชื่อเสียง ได้แก่ เวิร์ดเพรสส์, ไลฟ์ไทป์, ดรูปาล ที่ใช้ซอฟท์แวร์ต้นแบบ “พีเอชพี/มายเอสคิวแอล” ในการพัฒนา ส่วนซอฟท์แวร์สแลช จะใช้ซอฟท์แวร์ต้นแบบ “เพิร์ล” ในการพัฒนา[๒]

---------------------------------------------------------------------------------------------

ฅนข่าวเท้าติดดิน: บทที่ ๐๔ สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ


สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ

จาก: ฅนข่าวเท้าติดดิน
โดย: ภัทรพล สุธาวุฒิไกร


สื่อพลเมือง เป็นช่องทาง (Channels) ที่พลเมืองสามารถใช้เป็นสื่อกลาง (Media) ในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของตนสู่สาธารณชน เช่น อินเทอร์เน็ต (Internet), วิทยุชุมชน (Community Radio), โทรทัศน์ดาวเทียม (Satellite Television), วิดีทัศน์ (Video), ภาพถ่าย (Photograph) เป็นต้น ส่วนพลเมืองที่เป็นผู้ผลิตข้อมูลข่าวสารด้วยตนเองเหล่านั้นเรียกว่า “นักข่าวพลเมือง” (Citizen Reporter)

ทุกวันนี้ มีนักข่าวพลเมืองเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ผ่านสื่อพลเมืองไปสู่ผู้อ่านมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่กลับไม่มีใครทราบว่า ต้นกำเนิดของกระบวนการนี้เริ่มขึ้นเมื่อใด อย่างไรก็ตาม ในหลายปีที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ที่กระตุ้นให้ผู้คนตระหนักถึงกระบวนการสื่อพลเมืองอยู่พอสมควร อาทิ

วินาศกรรมสหรัฐฯ ซึ่งเต็มไปด้วยพลเมือง
ภาพเพลิงไหม้อาคารแฝด เวิร์ลด์ เทรด เซ็นเตอร์ เป็นฉากหลังของ
เทพีเสรีภาพ ซึ่งผู้สื่อข่าวพลเมืองถ่ายจากสวนสาธารณะแห่งชาติ
(National Park)
๐๘.๓๐ น. (เวลาท้องถิ่น) เช้าวันอังคารที่ ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๔ ที่อ่าวแมนฮัตตัน ใจกลางมหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา นักธุรกิจและมนุษย์ทำงาน เดินพาเหรดกันอย่างรวดเร็วและขวักไขว่ เป็นปกติดังเช่นทุกวัน ทุกคนต่างมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่สำนักงานของตน

คนขยันบางส่วน เดินทางถึงสถานที่ทำงาน ของบริษัทน้อยใหญ่ที่กระจายอยู่ในตึกต่างๆ โดยเฉพาะอาคารสำนักงานแฝด ซึ่งยิ่งใหญ่ที่สุดในย่านนี้ อย่าง เวิร์ลด์ เทรด เซ็นเตอร์ (World Trade Centre) ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังระดับนานาชาติ ถึงขนาดที่เคยเป็นชื่อของอดีตศูนย์การค้าในประเทศไทยมาแล้ว

๐๘.๔๕ น. ผู้คนที่เคลื่อนตัวไปตามฝูงชน บนบาทวิถีริมถนน ต่างตกใจเมื่อได้ยินเสียงดังโครมใหญ่จากบนท้องฟ้า และเมื่อแหงนหน้าขึ้นมองไปยังที่มาของเสียงนั้น บ้างกรีดร้องปิดปาก บ้างก็ตะลึงตาค้าง ไม่เชื่อกับสิ่งที่สายตากำลังมองเห็นตรงหน้า ซึ่งเกือบทั้งหมด เห็นเพียงตัวตึกที่กำลังระเบิด แต่หลายคนเงยหน้าขึ้นไปพบเหตุการณ์ก่อนหน้า คือเครื่องบินพาณิชย์ขนาดใหญ่ หายเข้าไปในอาคาร ๑ เวิร์ลด์ เทรด เซ็นเตอร์ ทางทิศเหนือ อันเป็นสาเหตุของการระเบิดที่เกิดขึ้นตามมานั้น
ภาพที่ถ่ายโดย ‘ผู้สื่อข่าวพลเมือง’ ขณะกำลังวิ่งหนี
กลุ่มควันจากการถล่มของอาคาร เวิร์ลด์ เทรด
เซ็นเตอร์ เมื่อช่วงสาย วันที่ ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๔

๐๙.๐๓ น. เกิดเหตุการณ์ราวกับ ฉากในภาพยนตร์แอ็กชั่น ซ้ำขึ้นอีกครั้ง เมื่อเครื่องบินโดยสารอีกลำหนึ่ง พุ่งเข้าหาอาคาร เวิร์ลด์ เทรด เซ็นเตอร์ ๒ ทางทิศใต้ ส่งผลให้ ตึกหลังนี้ยุบตัวลง ในเวลา ๑๐.๐๕ น. และอาคาร ๑ ถล่มลงตามมา ในเวลา ๑๐.๒๘ น. ระหว่างนั้น เครื่องบินอีกลำ ดิ่งลงไปที่อาคารเพนตากอน รูปทรงหกเหลี่ยม อันเป็นที่ทำการของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ในเวลา ๐๙.๓๗ น.

นอกจากนั้น ยังมีเหตุการณ์ข้างเคียงตามมาตลอดทั้งวัน ความเศร้าโศกปกคลุมทั้งประเทศ สถานีโทรทัศน์ทั่วโลก ต่างถ่ายทอดภาพเหตุการณ์ช็อกโลกนี้ จากที่สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น นำเสนอผ่านเครือข่ายโทรทัศน์ของตน ทว่าไม่มีภาพในมุมมองอื่นเลย และที่สำคัญ ไม่มีภาพแรกของเหตุการณ์นี้แม้แต่น้อย

แต่อย่างไรก็ตาม ไม่นานนับจากนั้น ผู้คนที่อยู่ในเหตุการณ์ ต่างก็นำทั้งภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหว ที่สื่อมวลชนต่างๆ ตามหา มาเผยแพร่ในอินเทอร์เน็ต แม้แต่การเขียนเล่าถึง เรื่องราวสะเทือนใจ ที่เกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาของบุคคลเหล่านี้ ในเว็บบอร์ดต่างๆ อันนับเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่นำไปสู่กำเนิดของกระบวนการวารสารศาสตร์พลเมือง อย่างเป็นการเป็นงานในเวลาต่อมา

สื่อพลเมือง กับธรณีพิบัติภัย
เช้าวันอาทิตย์ที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ เกิดแผ่นดินไหวในแนวดิ่งอย่างรุนแรง บริเวณก้นทะเลหัวเกาะสุมาตรา จากรายงานเป็นทางการ ความสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้น วัดได้ถึง ๙.๑ ตามมาตราริกเตอร์ ส่งผลให้พื้นทะเล ขยับยกผืนน้ำให้สูงขึ้นอย่างมาก และรวดเร็วอย่างยิ่ง จนกลายเป็นคลื่นขนาดมหึมา ที่เคลื่อนตัวเข้าสู่ชายฝั่ง ทะเลอันดามันทางตะวันตกของไทย ด้วยเวลาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น กว่าที่กลุ่มคนริมชายฝั่ง จะได้เห็นน้ำทะเลที่ยกตัวขึ้นสูงมาก จนมองไม่เห็นท้องฟ้า ก็ต้องถูกกวาดร่างลงสู่ท้องทะเล โดยที่ยังไม่ทันจะออกวิ่งได้ไกลนัก
ภาพคลื่นสึนามิถล่มชายฝั่งอันดามันของไทย จากผู้สื่อข่าวพลเมือง
แต่ก็มีบางส่วนที่โชคดี สามารถหลบหนีได้พ้น เนื่องจากอยู่ห่างไกลจากฝั่งออกไป พร้อมกับนำกล้องวิดีโอพกพา กล้องถ่ายภาพพกพา หรือกล้องในโทรศัพท์มือถือ ขึ้นถ่ายภาพวินาทีชีวิตนี้ไว้ แล้วส่งให้กับครอบครัว เครือญาติ และเพื่อนฝูง เพื่อเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และนำเผยแพร่ออกไปทางอินเทอร์เน็ต สถานีโทรทัศน์ หรือข้อความมัลติมีเดีย (เอ็มเอ็มเอส) ด้วยโทรศัพท์มือถือ อย่างรวดเร็ว ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าว นับเป็นการเริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรม ของกระบวนการสื่อพลเมือง[๑]

รถไฟใต้ดินลอนดอนระเบิด-สื่อพลเมืองบูม
บรรยากาศในสถานีรถไฟใต้ดินลอนดอน
ที่ผู้สื่อข่าวพลเมืองถ่ายได้
วันที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ เกิดเหตุระเบิดขบวนรถไฟใต้ดิน ที่กำลังจอดรับผู้โดยสารอยู่ภายในสถานีฯ กลางกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร โดยเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจสกอตแลนด์ยาร์ด ห้ามมิให้ผู้ใดเข้าไปภายในสถานีฯ หลังจากเหตุการณ์ ทำให้ไม่มีผู้สื่อข่าวรายใด สามารถสรรหาภาพข่าวเกี่ยวกับเหตุร้ายแรง และมีผู้ติดตามอยู่ทั่วโลกได้เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาพในขณะที่กำลังมีการระเบิดเกิดขึ้น

แต่ในที่สุด สถานีโทรทัศน์แห่งชาติของอังกฤษ อย่างบีบีซี ก็ได้รับภาพข่าว เพื่อเผยแพร่ในรายการข่าวประจำวัน จาก “แหล่งข่าว” สำคัญที่สุด ก็คือชายผู้อยู่ในเหตุการณ์ ซึ่งใช้กล้องในโทรศัพท์มือถือ ถ่ายภาพขณะที่เขากำลังหลบหนี ออกจากขบวนรถไฟฟ้าที่ยังกรุ่นไปด้วยควัน และมีหนุ่มอีกคนหนึ่ง นำชายเสื้อคลุมของตนเอง ปิดจมูกและปาก เพื่อป้องกันการหายใจเอาควันเข้าไป โดยภาพนี้ ได้รับการเผยแพร่ต่อไป ทางสถานีโทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ทั่วโลก นอกจากภาพในกล้องวงจรปิดของสถานีฯ[๒]

พายุใหญ่เข้าสหรัฐฯ-น.ส.พ.เปิดบล็อกให้ชาวบ้านเล่า
หลังเกิดเหตุระเบิดรถไฟใต้ดิน ทางฝั่งยุโรปได้ไม่นาน เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ ฝั่งอเมริกาก็เกิดเหตุตามกันมา ในเวลาใกล้เคียงกัน เมื่อพายุเฮอริเคนแคทรีนา ที่มีอัตราความรุนแรงในระดับ ๕ เคลื่อนตัวเข้าสู่ชายฝั่งรัฐนิวออร์ลีนส์ จนเกิดความเสียหายร้ายแรงไปทั่วทั้งรัฐ และมีผู้เสียชีวิตนับพันคน
ภาพหน้า ๑ หนังสือพิมพ์ “เดอะ ไทม์ส-พิคายูน” ที่จำหน่ายในรัฐนิวออร์ลีนส์ และ
ใกล้เคียง ฉบับวันอังคารที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๔๘ ที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของพิคายูน
ตลอดระยะเวลาที่พายุเฮอริเคน “แคทรินา” เข้าทำลายทั้งชีวิตและทรัพย์สินมหาศาล
ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ และเปิดบล็อกแจ้งเหตุที่เว็บหน้าแรกด้วย
ทันทีที่แคทรีนาขึ้นสู่ฝั่ง กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ นิวออร์ลีนส์ ไทม์ส-พิคายูน (New Orleans Times Picayune) ก็เปิดเว็บล็อกขึ้น (ดูเพิ่มจากเนื้อหาในบทที่ ๐๓) สำหรับรายงานสถานการณ์นี้โดยเฉพาะ ต่อมาอีกไม่นาน ก็ตั้งให้หน้าบล็อกนี้ เป็นหน้าหลักของเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ ซึ่งนอกจากจะเป็นการเชิญชวนให้ชาวบ้านในชุมชน ร่วมกันเล่าถึงสิ่งที่ประสบมา ทั้งยังเป็นส่วนช่วยให้ผู้กำลังติดตามภัยพิบัติครั้งนี้จากทั่วโลก รับทราบถึงสถานการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว จากผู้ประสบเหตุเองโดยตรงอีกด้วย

คปค.ปิดทีวีวิทยุ พลเมืองเปิดสื่อเอง
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
ขณะนั้น ออกประกาศสถานการณ์
ฉุกเฉิน เมื่อเวลาประมาณ ๒๒.๐๐ น.
วันอังคารที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ.
๒๕๔๙ ทางโมเดิร์นไนน์ทีวี
๒๑.๐๐ น. วันอังคารที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง ๕ เป็นแห่งแรกที่ยุติรายการปกติ โดยเปิดมิวสิกวิดีโอเพลงพระราชนิพนธ์ และเพลงเฉลิมพระเกียรติ วนไปมาอย่างต่อเนื่อง ส่วน สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยช่อง ๑๑, สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง ๗, สถานีโทรทัศน์ไอทีวี และไทยทีวีสีช่อง ๓ ก็ทยอยยุติรายการปกติเช่นกัน

เหลือเพียงสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ติดต่อ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท ในเวลานั้น ขอออกอากาศรายการพิเศษ เพื่อประกาศใช้ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั่วประเทศ และแต่งตั้งให้ พลตำรวจเอกชิดชัย วรรณสถิตย์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ พลเอกเรืองโรจน์ มหาศรานนท์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นผู้ปฏิบัติการ ตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ยังไม่ทันประกาศจบ ทหารก็เข้ามาถึง ห้องควบคุมการออกอากาศโมเดิร์นไนน์ทีวี พร้อมตัดสัญญาณโทรศัพท์ทางไกลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ทันที

ขณะเดียวกันนั้น สถานีวิทยุกระจายเสียงต่างๆ ก็ทยอยยุติการออกอากาศไปอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ สาเหตุที่ คปค.เข้ายึดสถานีวิทยุและโทรทัศน์เหล่านั้น เพื่อเผยแพร่ประกาศและข่าวสารของ คปค. จึงทำให้สื่อมวลชนกระแสหลักทุกแห่งที่มีอยู่ในขณะนั้น นำเสนอข่าวสารจาก คปค.เพียงฝ่ายเดียว ชาวกรุงเทพฯ ที่ต้องการรับรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง จึงพากันออกจากบ้าน เพื่อไปดูด้วยตาตนเอง พร้อมทั้งถ่ายภาพไว้จำนวนมาก แม้จะฝ่าฝืนคำสั่งห้ามออกนอกเคหสถานในเวลากลางคืนของ คปค.ก็ตาม

คืนวันอังคารที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ตั้งแต่เวลา ๒๑.๐๐ น.
ขณะที่สถานีโทรทัศน์ และวิทยุทุกแห่ง กำลังรอสัญญาณ
ถ่ายทอดสดแถลงการณ์ผู้นำรัฐบาลหรือผู้นำรัฐประหาร
ด้วยเพลงพระราชนิพนธ์ หรือเพลงเฉลิมพระเกียรตินั้น
ประชาชนทางบ้านบางส่วน ต่างเดินทางไปดูเหตุการณ์
ในกรุงเทพฯ ด้วยตัวเอง พร้อมทั้งรายงานกลับมา
ให้ญาติมิตร และบุคคลอื่นได้รับทราบ
ขณะเดียวกัน พลเมืองเน็ต และบล็อกเกอร์หลายคน รายงานและแสดงภาพเหตุการณ์ ที่เกิดขึ้นบนถนนหนทางในกรุงเทพมหานคร บนเว็บบอร์ดหลายแห่ง และบล็อกของแต่ละคน โดยเฉพาะเว็บไซต์ และบล็อกต่างๆ ที่เปิดขึ้นในคืนนั้น เพื่อใช้เป็นสื่อกลางเฉพาะกิจ เช่น www.19sep.net หรือ 19sep.blogspot.com

โดยเฉพาะการพูดคุยในโปรแกรมสนทนาออนไลน์ (เมสเซนเจอร์) ไม่ว่าจะเป็นของเอ็มเอสเอ็นหรือยาฮู! เริ่มคึกคักขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังที่ผู้ใช้นามปากกา “มารพิณ” เล่าไว้ในบล็อกส่วนตัว (pinn.diaryhub.com) ดังนี้

เพื่อนฝูง ผู้คนที่รู้จัก และเคยเพิ่มชื่อไว้ ทยอยกันปรากฏตัวออนไลน์ขึ้นมา ทีละคนสองคน ภายในครึ่งชั่วโมงเท่านั้น คนเกือบสองร้อย ก็โผล่หน้ากันสลอน พร้อมๆ กับเสียงข้อความสนทนา เข้ามากันระงม หลายคนไม่เห็นออนไลน์มาเป็นปีก็ยังมา

“ได้ข่าวอะไรบ้าง” “ป้ากูโทรมาบอกว่า เห็นทหารหลายคันรถ วิ่งเป็นขบวนเข้าเมืองมาแล้ว” “ปฏิวัติจริงปะ” “เขาว่ามียิงกันแถวลานพระรูปฯ แล้ว” “เว็บไซต์ซีเอ็นเอ็นเข้าไม่ได้แล้วเหรอ” “ลองเข้าไซต์นี้ดูสิ” คำถาม ข่าวลือ ข่าวจริง เรื่องลวง ทุกอย่างมีครบหมดทุกรส ในคำสนทนาออนไลน์วินาทีนั้น พร้อมกับข่าวลือที่ฮิตกันมากสุดในคืนนั้นว่า อินเทอร์เน็ตกำลังจะถูกตัดภายใน ๒ ชั่วโมงข้างหน้า จะทำอะไร จะส่งเมล์ให้รีบทำ สร้างความโกลาหลให้กับผู้คนจำนวนมาก ที่มีธุระจะต้องส่งอีเมล์ หรือส่งงานทางเน็ต
พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้า
คปค.ประกาศฉบับที่ ๑ เมื่อเวลา
๐๙.๐๐ น. วันพุธที่ ๒๐ กันยายน
พ.ศ. ๒๕๔๙ ทางโทรทัศน์รวม
การเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย

ยิ่งไม่มี “สื่อปกติ” ให้ได้อ่านได้ดู สุญญากาศทางข้อมูล ยิ่งระบาดเป็นวงกว้างไกลออกไป หลายคนที่ออนไลน์มาจากเมืองนอก ก็เข้ามาร่วมแจมด้วย กระเซ็นสายข้อมูลของไซต์ข่าวภาษาอังกฤษ ที่เริ่มรายงานข่าวด่วนจากเมืองไทย สู่คนอ่านทั่วโลก คนไทยที่ออนไลน์ รีบตามลิงก์พวกนี้ไป อย่างไม่ขาดสาย มากเสียจนแม้แต่ไซต์ใหญ่ๆ อย่าง ซีเอ็นเอ็น ยังอืดและช้าอย่างรู้สึกได้ชัดเจน อาจเป็นเพราะช่องสัญญาณเน็ต ที่เชื่อมต่อกับเมืองนอก เต็มกำลังส่ง เพราะข้อมูลเรียกเข้าและเรียกออก มันพล่านเกินพิกัดปกติ

ในช่วงหลายชั่วโมงที่ว่านั้น สื่อที่แท้จริง และยังหลงเหลืออยู่ กลายเป็นช่องทาง “ปากต่อปาก” ด้วยการแชทออนไลน์อย่างเอ็มเอสเอ็น ที่คนไทยส่วนใหญ่ใช้กัน หรือไม่ก็เว็บบอร์ดตามไซต์ต่างๆ รวมทั้งเว็บล็อก-เว็บไดอารี ทั้งที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ในขณะที่สื่อเก่าตายสนิท ทั้งเนื่องจากถูกสแตนด์บายให้ออกอากาศเพลงปลุกใจ และสื่ออย่างหนังสือพิมพ์กระดาษก็ไม่ไวพอ ต้องรอจนเช้าถึงจะวางแผง

สื่อแบบเก่ามีข้อจำกัดมากไป ทั้งในแง่ระเบียบกฎหมาย และช่องทางการนำเสนอ ล้าหลังเกินไปในแง่เทคโนโลยี ช้าเกินไปในแง่การวางตลาด และมีพื้นที่น้อยเกินไป สำหรับข่าว และความเห็นที่หลากหลาย ในขณะเดียวกัน สังคมไทยก็เรียกร้องความหลากหลายมากขึ้น จากสื่อสารมวลชนแบบเดิม [๓]

ชาวบ้านอาสาเล่าเรื่องหมอกควันพิษ ๗ จังหวัดเหนือ
ช่วงเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ เกิดไฟป่าขึ้น บนเทือกเขาในภาคเหนือหลายจังหวัด ส่งผลให้บรรยากาศในตัวเมือง ของจังหวัดต่างๆ เหล่านั้น ซึ่งตั้งอยู่ท่ามกลางหุบเขา เกิดภาวะขมุกขมัวตลอดทั้งวัน เนื่องจากไม่สามารถระบายควันจากไฟป่าออกไปจากหุบเขาได้

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ก็มีบล็อกเกอร์ ซึ่งเป็นชาวบ้านในพื้นที่ รายงานเหตุการณ์ และ/หรือ ส่งภาพมาบรรยายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นใน “โอเคเนชั่น” ตามคำเชิญชวนของ สุทธิชัย หยุ่น บรรณาธิการอำนวยการเครือเนชั่น ตามที่เขาเขียนเล่าไว้ในบล็อกส่วนตัวที่โอเคเนชั่นว่า

ท่านหนึ่งเขียนเข้ามาบอกว่า “ผมทำงานที่เขื่อนสิริกิติ์ ที่อุตรดิตถ์ ท้องฟ้าสลัว เป็นแบบนี้มาหลายวันมาก เพราะมีการเผาทุ่งเผาป่า มีการรณรงค์มาหลายปีแล้ว แต่ก็เป็นอย่างนี้ทุกปี ปีนี้รู้สึกจะหนักที่สุด ฝ่ายทุกๆ ฝ่ายดูแลแล้วครับ…”

อีกท่านหนึ่งเขียนว่า “ตอนนี้อยู่เจียงฮาย อากาศของเจียงฮายตอนนี้เหมือนฤดูหนาวเลย มีหมอกควันปกคลุมหนาแน่น แต่หายใจไม่ค่อยออก กินข้าวไม่ค่อยอร่อย ไม่ค่อยมีตังค์ กระเป๋าแบนแฟนก็ทิ้ง เวลาขับขี่รถจักรยานยนต์ออกนอกบ้าน ต้องน้ำตาไหล เพราะแสบตาเหลือเกินกับหมอกควัน จนร้านขายยา ขายน้ำยาล้างตาจนรวยเลย โดยเฉพาะอำเภอที่ติดกับชายแดนพม่าและลาว มีควันปกคลุมอย่างหนาแน่นกว่าทุกอำเภอ เนื่องจากได้ข่าวว่าเกิดไฟป่าในประเทศลาวและพม่าอยู่ตลอดเวลา…”

บล็อกเกอร์จากเชียงใหม่ รายงานเข้ามาในบล็อกว่า “บ้านพักข้าราชการ กรมไปรษณีย์โทรเลขเชียงใหม่ เผาขยะเป็นประจำ ทั้งกองใหญ่ กองเล็ก อยู่บ่อยๆ…มาดูได้ที่ สามแยกโลตัส หางดง ตอนนี้ก็เอาเศษใบไม้มากอง เตรียมเผาอีกแล้ว บ้านนี้อยู่ในพื้นที่ของ อบต.คนหนึ่ง ใครเป็นผู้ดูแล ขอให้แจ้งผู้ใต้บังคับบัญชาด้วยครับ…เป็นข้าราชการ เผาในสถานที่ราชการ ควรจะมีความคิดมากกว่านี้ หรือไม่ก็น่าจะโดนทำโทษทางวินัยด้วย…”

อีกท่านหนึ่งกรุณาส่ง “แผนปฏิบัติการฝนหลวงที่เชียงใหม่ประจำวันที่ ๒๐๐๗-๐๓-๑๒” พร้อมแผนที่ที่มีรายละเอียดครบถ้วน ซึ่งทำหน้าที่ได้รอบด้านมากกว่านักข่าวธรรมดาด้วยซ้ำไป 

บล็อกเกอร์ที่ใช้ชื่อ “ลูกสาวเมืองเลย” เขียนเข้ามาบอกว่า “ดิฉันเป็นลูกสาวชาวสวนโดยตรง เลยรู้เรื่องนี้ดี…ช่วงกุมภาพันธ์-เมษายน เป็นช่วงที่ชาวไร่ชาวนาจุดไฟเผาไร่กัน เพื่อกำจัดวัชพืชก่อนไถพรวน…ไม่รู้จะแก้อย่างไรดี…ทุกปีเป็นแบบนี้ตลอด อากาศปิดเลย เสื้อผ้าที่ตากไว้ก็จะเต็มไปด้วยมลพิษ  ชาวบ้านเขามองว่า เป็นวิธีที่ประหยัดและง่ายสำหรับเขาแล้ว เพราะกว่าจะกำจัดวัชพืชเหล่านี้ก่อนไถพรวน มันหมดงบประมาณเยอะ และใช้แรงงานหนัก ถ้าใครมีแนวคิดดีๆ ที่พอจะช่วยให้คำแนะนำเขาบ้าง ก็แนะนำมาเลยค่ะ…” [๔]

นศ.ส่งภาพในเหตุยิงเพื่อนที่เวอร์จิเนียเทค
๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๐ โช ซุงฮุย นักศึกษาชาวเกาหลี ของมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียเทค ก่อเหตุยิงเพื่อนนักศึกษา จำนวน ๓๒ คน ภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งจากเหตุการณ์นี้ มีนักศึกษาหลายคน สามารถลักลอบถ่ายภาพเหตุการณ์ไว้ได้ พร้อมทั้งเล่าถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น และส่งภาพที่ถ่ายไว้ ออกไปสู่บุคคลภายนอก ที่ติดตามเหตุการณ์อยู่ทั่วโลก สุทธิชัย หยุ่น ในฐานะนักวิเคราะห์ข่าวต่างประเทศชื่อดัง เขียนไว้ในบล็อกส่วนตัวของเขาว่า

เฉพาะซีเอ็นเอ็นเองบอกว่า มีคนที่ถ่ายรูปเหตุการณ์ด้วยตัวเอง ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาเอง ที่ส่งมาร่วมรายงานข่าวอย่างคึกคักยิ่ง

ที่น่าสนใจคือ ภาพและวิดีโอ รวมทั้งเสียงรายงานสด จากนักศึกษาที่เห็นเหตุการณ์นั้น ได้ออกอากาศไม่น้อยไปกว่านักข่าวอาชีพเลย
โช ซุงฮุย ใช้ปืนจ่อศีรษะตนเอง ในวิดีโอที่เขาส่งก่อนตาย

วิดีโอชุดหนึ่ง ที่นักศึกษาคนหนึ่ง ส่งมาขึ้นเว็บไซต์ซีเอ็นเอ็น มีเสียงปืนดังขึ้นเป็นระยะๆ ให้เห็นและได้ยินกันสดๆ และมีคนเข้ามาดูถึง ๑๒๐,๐๐๐ ครั้งในช่วงเพียงวันเดียว

ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ ซีเอ็นเอ็นเอง ไม่มีนักข่าวของตัวเอง อยู่ในที่เกิดเหตุเลยแม้แต่คนเดียว ตลอดระยะ ๒๔ ชั่วโมงแรก หลังเกิดเหตุการณ์ ดังนั้น จึงต้องอาศัยภาพ, วิดีโอ และเสียง ที่รายงานโดยนักศึกษา หรือ ซิติเซน รีพอร์ตเตอร์ นี่แหละ

อีกปรากฏการณ์หนึ่ง ที่น่าสนใจมากก็คือ นักศึกษาจำนวนไม่น้อย ได้เขียนบล็อก เล่ารายละเอียดของเหตุการณ์ จากในรั้วมหาวิทยาลัยนั้นเองตลอดเวลา แม้แต่เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยเอง ก็อัปเดตข่าวเรื่องนี้ อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา

โศกนาฏกรรมครั้งนี้ ตอกย้ำว่า เหตุการณ์เลวร้ายเช่นนี้ ไม่ควรจะเกิดขึ้น แต่เมื่อมันเกิดขึ้น จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามที บทบาทของ “ผู้อยู่ในเหตุการณ์ และเห็นเหตุการณ์” จะทำหน้าที่รายงานข่าว, ภาพ และเสียงได้ใกล้ชิด, รวดเร็ว และมีสีสัน มากกว่านักข่าวอาชีพด้วยซ้ำ [๕]

โดยแม้แต่ตัวของโชเอง ก็ยังส่งคลิปวิดีโอ การวางแผนสังหารเพื่อนร่วมมหาวิทยาลัย ที่บันทึกไว้ในแผ่นซีดีให้กับซีเอ็นเอ็นทางไปรษณีย์ เพื่อเผยแพร่ทางโทรทัศน์ หลังจากที่เขาฆ่าตัวตายเมื่อก่อเหตุแล้ว นับเป็นนักข่าวพลเมือง ที่ล่วงลับไปแล้ว และยังเป็นผู้ก่อเหตุเองด้วย

ภาพทหารพม่าฆ่าม็อบพระสะพัดทั่วโลก
วันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ เกิดการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยขึ้น ในประเทศสหภาพเมียนมาร์ ซึ่งมีนักบวชอย่างพระสงฆ์ และแม่ชี เป็นหลักในการชุมนุม แต่ต่อมากลับปรากฏว่า รัฐบาลทหารพม่า สั่งการให้ทหาร เข้าปราบปรามผู้ชุมนุมอย่างเด็ดขาด รวมทั้งพระสงฆ์ และนักบวชต่างๆ ด้วย โดยการเปิดเผยจากภาพข่าว ที่ผู้สื่อข่าวพลเมืองหลายคน เป็นผู้บันทึกไว้ได้

รุ่งอรุณแห่งการสังหาร-สงกรานต์เลือด
ประเทศไทย นับเป็นแหล่งท่องเที่ยวในเทศกาลสงกรานต์ ที่ชาวต่างชาติให้ความสนใจมากที่สุด แต่เช้าวันที่ ๑๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๒ อาจเปลี่ยนความคิดของนักท่องเที่ยวที่อยู่ในเมืองไทย ณ เวลานั้นไปตลอดกาล

ระหว่างที่ผู้ชุมนุมกลุ่มเสื้อแดง ที่มีคนขับแท็กซี่เป็นผู้นำ กำลังพักผ่อนอยู่กลางถนนบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง ที่พวกเขากำลังปิดการจราจร เพื่อเรียกร้องให้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เวลา ๐๔.๓๐ น. กองกำลังทหารจำนวนมาก พร้อมอาวุธปืนครบมือ ปรากฏตัวขึ้นบนท้องถนน เคลื่อนตัวเป็นแนวหน้ากระดานเข้าหากลุ่มผู้ชุมนุม ทันใดนั้น เกิดเสียงลั่นกระสุนออกจากอาวุธปืน เอ็ม-๑๖ ของทหารเหล่านั้น ดังระงมไปทั่วบริเวณ

ตั้งแต่เวลา ๐๖.๐๐ น. มีคนขับแท็กซี่ และผู้ชุมนุมหลายคน สลับกันขึ้นเวทีใหญ่หน้าทำเนียบรัฐบาล ที่ถ่ายทอดสดทางสถานีประชาธิปไตย (ดี-สเตชั่น) พวกเขารายงานไปสู่ผู้ชมทั่วประเทศว่า กองกำลังทหาร ที่ได้รับคำสั่งจากรัฐบาลเหล่านั้น “เล่นสงกรานต์” กับพวกเขา ด้วยการ “สาด” กระสุนปืน ใส่ประชาชนมือเปล่า ผู้ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย จนถึงกับเสียชีวิตไปหลายคน

ในจำนวนนั้น มีพระสงฆ์รูปหนึ่งกล่าวว่า พระสงฆ์อีกรูปหนึ่ง ถูกทหารยิงจนมรณภาพ แม้หลายคนจะพยายามยื้อแย่งศพกับทหารแนวหลัง ซึ่งทำหน้าที่ “เก็บงาน” จากท้องถนนขึ้นสู่รถบรรทุก เพื่อนำออกไปจากบริเวณ พร้อมฉีดน้ำล้างเลือดที่นองพื้นออกไป แต่ไม่มีใครแย่งได้สำเร็จ มีเพียงเสื้อหรือกางเกงของผู้วายชนม์เท่านั้น ที่พอจะได้กลับมาบ้าง


ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่า มีประชาชนเสียชีวิตจากการสลายการชุมนุม ตามปากคำของ “ผู้เห็นเหตุการณ์” ซึ่งถือเป็นผู้สื่อข่าวพลเมือง ตามหลักวารสารศาสตร์พลเมืองหรือไม่ แต่ข้อมูลอีกด้านหนึ่ง ก็น่าเชื่อว่ามีความเชื่อมโยงกัน เมื่อสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) เปิดรับแจ้งข้อมูลบุคคลสูญหาย จากการสลายการชุมนุมดังกล่าว พบว่ามีผู้มาแจ้งถึงกว่า ๖๐ รายด้วยกัน สิ่งที่ควรตั้งคำถาม และค้นหาคำตอบต่อไปเป็นอย่างยิ่งคือ ผู้สูญหายเหล่านั้นไปอยู่ที่ไหน?

หลังเหตุการณ์ผ่านไป สื่อพลเมืองหลายแห่ง เช่นประชาไท หรือไทยอีนิวส์ แม้แต่สื่อมวลชนกระแสหลัก อย่างหนังสือพิมพ์โลกวันนี้รายวัน ต่างก็ตั้งข้อสงสัยกับเรื่องราวต่างๆ ในเหตุร้ายนั้น ทั้งประเด็นของผู้สูญหาย, การเสียชีวิตอย่างผิดปกติ ทั้งการ์ดเสื้อแดงสองคน ที่ถูกจับมัดแล้วนำไปทิ้งลงแม่น้ำเจ้าพระยา และพลทหารอภินพ เครือสุข ซึ่งทำหน้าที่รับใช้ ภายในบ้านพักแม่ทัพภาคที่ ๑ พลโทคณิต สาพิทักษ์ เซฟเฮ้าส์ของนายอภิสิทธิ์ ในช่วงสงกรานต์ ที่สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง อ้างว่าเกิดอุบัติเหตุลื่นล้มในห้องน้ำ

หรือจะเป็นหลากหลายคลิปวิดีโอจากผู้สื่อข่าวพลเมือง ที่หนึ่งในจำนวนนั้น นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ส.ส.จังหวัดแพร่ พรรคเพื่อไทย นำมาฉายให้ที่ประชุมรัฐสภารับชม พร้อมกับประชาชนทางบ้านทั่วประเทศ แสดงให้เห็นความโหดร้ายป่าเถื่อนของกำลังทหาร ที่รุมทำร้ายผู้ชุมนุมมือเปล่า หรือแม้แต่ภาพข่าวจากสื่อมวลชนต่างประเทศ ที่แสดงให้เห็นทั้งการเล็งปากกระบอกปืนไปยังฝูงชน และหลากชนิดของอาวุธปืนในมือทหาร ที่มีข้อมูลว่าใช้ได้เฉพาะกับกระสุนจริงเท่านั้น เหล่านี้เป็นคำถาม ที่รัฐบาลต้องตอบกับประชาชน และคณะกรรมาธิการพิเศษ ซึ่งมีสมาชิกของทั้งสองสภาฯ ร่วมกัน เพื่อตรวจสอบเหตุการณ์นี้ต่อไป

กล่าวโดยสรุปคือ ทุกเหตุการณ์สำคัญทั่วโลก อย่างภัยธรรมชาติ อาชญากรรม หรือกรณีต่างๆ ที่มีความพยายามปิดบังความจริงจากผู้มีอำนาจ เป็นปัจจัยสำคัญ ที่ผลักดันให้ผู้สื่อข่าวพลเมืองลงไปอยู่ในเหตุการณ์เหล่านั้น แล้วถ่ายทอดความจริงอย่างรวดเร็ว ไปสู่พลเมืองในประเทศ และในโลก ผ่านการเขียนข่าวโดยพลเมือง และภาพข่าวที่ถ่ายขึ้นเอง เพื่อให้โลกรู้เท่าทันเรา

---------------------------------------------------------------------------------------------
[๑] Bact’, “We Media” สื่อเรา เราสื่อเองได้, นักข่าวพเนจร ประชาไท, ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๐
[๒] มานะ ตรีรยาภิวัฒน์, “Citizen Journalism วารสารศาสตร์พลเมือง (๒)”,
นิตยสาร Thaicoon ฉบับเมษายน ๒๕๕๑
[๓] มารพิณ, เอ็มเอสเอ็นในคืนรัฐประหาร: ยามที่สื่อกระแสหลักสงบนิ่ง ความคึกคักกลับอยู่ที่โลกออนไลน์, ใน รายงานประจำปี ๒๕๔๙-๒๕๕๐ ชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศฯ (กรุงเทพมหานคร: ห.จ.ก.ชอบและทำ, ๒๕๔๙)
[๔] สุทธิชัย หยุ่น, Blog…สื่อมวลชน โดยมวลชน เพื่อมวลชน, เว็บล็อก กาแฟดำ โอเคเนชั่น, ๑๗ เมษายน ๒๕๕๐
[๕] สุทธิชัย หยุ่น, รายงานข่าวเหตุสยองล่าสุด ตอกย้ำการโตขึ้นของ Citizen Reporting, เว็บล็อก กาแฟดำ (เรื่องเดียวกัน), ๑๖ มีนาคม ๒๕๕๐

ฅนข่าวเท้าติดดิน: บทที่ ๐๕ สื่อพลเมืองรอบโลก


สื่อพลเมืองรอบโลก


จาก: ฅนข่าวเท้าติดดิน
โดย: ภัทรพล สุธาวุฒิไกร


ดังที่อธิบายถึงกำเนิดของสื่อพลเมืองไปแล้ว ในบทที่ผ่านมา แต่ยังมิได้กล่าวถึง ตัวของสื่อพลเมืองแต่ละแห่ง ที่เกิดขึ้นในช่วง รอยต่อของสหัสวรรษที่ ๒ และ ๓ อย่างมากมายและรวดเร็ว ราวกับดอกเห็ด กระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลก ก่อนที่จะได้กล่าวถึงสื่อพลเมือง และนักข่าวพลเมืองของไทยอย่างละเอียด ในบทต่อๆ ไป

โอมายนิวส์: www.ohmynews.com
โอมายนิวส์ นับเป็นผู้นำวารสารศาสตร์พลเมืองแห่งโลก ก่อตั้งเมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๓ (ค.ศ. ๒๐๐๐) โดย โอ ยอน โฮ (Oh Yeon Ho) อดีตผู้สื่อข่าวประจำนิตยสารข่าวทางเลือกฉบับหนึ่ง ปัจจุบันเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของโอมายนิวส์ ภายใต้คำขวัญว่า “ประชากรทุกคนเป็นผู้สื่อข่าว” (Every Citizen is a Reporter)

จุดเด่นที่สำคัญยิ่งของโอมายนิวส์ก็คือ ข้อมูลข่าวสารในเว็บไซต์นี้เกือบทั้งหมด จัดทำโดยผู้สื่อข่าวพลเมือง โดยเริ่มจากเว็บหลัก ในรูปแบบภาษาเกาหลีก่อน จากนั้นจึงเปิดหน้าเว็บในรูปแบบภาษาอังกฤษ (ยังดำเนินการอยู่) และภาษาญี่ปุ่น (ปิดตัวไปเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๑) ตามมา ซึ่งในแต่ละวัน จะมีข่าวสาร บทความ และข้อเขียนต่างๆ เข้ามาเป็นหลายร้อยชิ้น

ปัจจุบัน โอมายนิวส์ มีกองบรรณาธิการประจำประมาณ ๑๐๐ คน ที่คอยสนับสนุนทางเทคนิค และตรวจสอบขัดเกลาภาษาข่าว ให้กับผู้สื่อข่าวพลเมืองในสังกัด ที่มีกว่า ๖๐,๐๐๐ คน เฉพาะรูปแบบ โอมายนิวส์ อินเตอร์เนชั่นแนล ก็มีจำนวนถึง ๖,๐๐๐ คน ในกว่า ๑๑๐ ประเทศทั่วโลก (ข้อมูล พ.ศ. ๒๕๕๒)

การกำหนดจรรยาบรรณร่วมกัน โดยบรรดาผู้สื่อข่าวพลเมืองด้วยกันเอง อย่างเข้มข้น และชัดเจน นับเป็นเอกลักษณ์อีกอย่างของ โอมายนิวส์ นอกจากนี้ การลงทะเบียนเป็นผู้สื่อข่าวพลเมือง ยังต้องใช้เลขประจำตัวประชาชน เพื่อยืนยันตัวตน และตรวจสอบได้ ในกรณีที่เกิดปัญหากับข้อเขียนของบุคคลนั้นๆ ด้วย

ทั้งนี้ รายได้ของโอมายนิวส์ส่วนมาก มาจากการเปิดพื้นที่โฆษณาในหน้าเว็บ อีกส่วนหนึ่งมาจากการจำหน่ายเนื้อหาข่าว ให้แก่สำนักข่าวทั่วโลก และยังได้รับบริจาคอีกเป็นส่วนน้อย โดยระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๔๓-๒๕๔๕ โอมายนิวส์ยังคงขาดทุน เนื่องจากยังไม่เกิดผลตอบรับที่ดีนัก แต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๖ เป็นต้นมา เริ่มมีกำไรเพิ่มขึ้น จึงสามารถเปิดเว็บเป็นภาษาอื่น หรือการผลิตนิตยสารฉบับพิมพ์ เป็นต้น โดยในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ มีรายได้ ๗๐,๐๐๐ เหรียญสหรัฐฯ

เมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๐ (ค.ศ. ๒๐๐๗) มีการเปิดโรงเรียนผู้สื่อข่าวพลเมืองแห่งแรกของโลก จากความคิดของโอ อีกครั้ง ในชื่อว่า “โรงเรียนวารสารศาสตร์โอมายนิวส์” (The OhMyNews Journalism School) ในหมู่บ้านเล็กๆ ใกล้กับกรุงโซล เมืองหลวงของเกาหลีใต้ทางทิศใต้

โดยเปิดหลักสูตรการทำข่าวแบบมืออาชีพ เช่นการหาข่าว การสัมภาษณ์ การเขียนข่าว การใช้กล้องถ่ายภาพ และกล้องวิดีโอดิจิตอล เป็นต้น ให้แก่บุคคลผู้สนใจ ทั้งนี้ ทางโรงเรียนยังมีห้องพักรับรอง สำหรับนักเรียนได้ประมาณ ๑๐๐ คนด้วย

อินดี้มีเดีย: www.indymedia.org
อินดิเพนเดนท์ มีเดีย เซ็นเตอร์ (อินดี้มีเดีย) ก่อตั้งเมื่อ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๒ เป็นสื่อทางเลือกอีกแห่ง ที่เปิดรับข่าวสารจากผู้สื่อข่าวพลเมือง นอกจากผู้สื่อข่าวอาสาสมัคร โดยมีกำเนิดมาจาก กลุ่มนักเคลื่อนไหวภาคประชาสังคม จากองค์กรพัฒนาเอกชน (Non-Government Organization – NGOs) ทั่วโลกมารวมตัวกัน เพื่อสื่อสารขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมผ่านสื่ออินเทอร์เน็ต ซึ่งมีความเป็นสากล ส่งผลให้เกิดการเจรจากับรัฐบาล ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ที่เป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างมาก โดยให้ความสำคัญกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน โดยชาวบ้านในชุมชนเอง, การต่อต้านกลุ่มทุนข้ามชาติ ที่มีผลกระทบในทางลบแก่ชุมชน ตลอดจนส่งเสริมให้คนชายขอบ เรียนรู้ในเรื่องสิทธิมนุษยชน เป็นต้น

วิกิข่าว: www.wikinews.org
วิกิข่าว เป็นเว็บไซต์ข่าวที่มีแนวคิดในการเปิดกว้าง ให้กับบุคคลทั่วไป สามารถเขียนข่าวได้เองอย่างอิสระ โดยใช้ชื่อลงทะเบียนหรือไม่ก็ได้ เช่นเดียวกับวิกิพีเดีย ที่จัดทำโดย มูลนิธิวิกิมีเดีย เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ โครงการทั้งหมดของวิกิมีเดีย ก่อตั้งโดย จิมมี เวลส์ (Jimmy Wales) ผู้ประกอบการเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตชาวอเมริกัน

นอกจากนี้ ยังมีเว็บไซต์ข่าวทั่วโลกอีกหลายแห่ง ที่เปิดรับผลงานจากผู้สื่อข่าวพลเมือง เช่น เกอร์ริลล่า นิวส์ เน็ตเวิร์ค (Guerrilla News Network – ก่อตั้งเมื่อ ค.ศ. ๒๐๐๐), เดอะ เรียล นิวส์ (The Real News – ก่อตั้งเมื่อ ค.ศ. ๒๐๐๗), อเมริกัน นิวส์ โปรเจ็กท์ (American News Project – ก่อตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๒๐๐๘) เป็นต้น

ฅนข่าวเท้าติดดิน: บทที่ ๐๖ ประชาไท ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ใจถึง พึ่งได้!!


ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ใจถึง พึ่งได้!!

จาก: ฅนข่าวเท้าติดดิน
โดย: ภัทรพล สุธาวุฒิไกร


หลังจากวันนักข่าว (๕ มีนาคม) ของปี พ.ศ. ๒๕๕๒ เพียงวันเดียว ก็มีข่าวทางสื่อกระแสหลักหลายแขนงว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจค้นสำนักงาน รวมถึงจับกุมผู้อำนวยการเว็บไซต์ข่าวประชาไท นับเป็นครั้งแรกที่ชื่อนี้ได้รับการเผยแพร่อย่างเกรียวกราวต่อสาธารณชน

แต่บางคนก็คุ้นเคยกับประชาไทมาบ้าง ในบทนี้จะได้อธิบายว่า ประชาไทมีที่มาที่ไปอย่างไร รวมถึงคำเฉลยว่า การตรวจค้นจับกุมดังกล่าวข้างต้น มีสาเหตุจากอะไร

กว่าจะเป็นประชาไท
ประชาไท มีสถานะเป็นหนังสือพิมพ์ออนไลน์ หรือเว็บไซต์ข่าว เกิดขึ้นจากคณะบุคคลจากหลายสาขาคือ นักกิจกรรมทางสังคม, นักวิชาการสาขาสื่อสารมวลชน, และสื่อมวลชน จากดำริของ จอน อึ๊งภากรณ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา

“ผมสนใจว่า จะทำสื่อหนังสือพิมพ์บนอินเตอร์เน็ต มีแนวคิดไว้อยู่แล้ว จนกระทั่งประมาณเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๖ เดินทางไปประชุมที่ฟิลิปปินส์ แล้วไปเห็น ‘มินดานิวส์’ สื่ออิสระของเมืองมินดาเนา จึงเกิดแรงบันดาลใจที่จะทำอย่างจริงจัง” จอนกล่าวถึงความคิดริเริ่มในช่วงเวลานั้น

เมื่อกลับมาถึงประเทศไทย จอนก็เริ่มติดต่อทาบทามบุคคลต่างๆ เพื่อประชุมหารือกันทันที เพื่อวางแผนงาน หาแนวทางที่ชัดเจน วางตัวบรรณาธิการ และกองบรรณาธิการ รวมถึงหาทุน เพื่อดำเนินงาน

จอนกับกลุ่มที่ประชุมร่วมกัน จดทะเบียนจัดตั้ง “คณะบุคคลร่วมดำเนินโครงการ วารสารข่าวทางอินเทอร์เน็ตเพื่อการศึกษา และสุขภาวะของชุมชน” เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ เพื่อจัดทำเว็บไซต์วารสารข่าว และสาระ สำหรับประชาชนทั่วไป มีเนื้อหาและมุมมองที่รอบด้าน สำหรับติดตามข่าวสาร ตลอดจนเพื่อเป็นช่องทางสื่อสาร กับประชาชนทุกระดับ โดยไม่แสวงผลกำไร และเริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการ ในอีกหนึ่งเดือนถัดมา (๑ มิถุนายน)

ในระยะสามเดือนแรก ระหว่างเดือน มิถุนายน-สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ เป็นช่วงเวลาที่กองบรรณาธิการ ซึ่งนำโดย สมเกียรติ จันทรสีมา ที่เป็นบรรณาธิการบริหารในยุคเริ่มก่อตั้ง (ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ ขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย) พร้อมด้วยนักข่าวที่มีประสบการณ์ ๒ คน, นักข่าวมือใหม่ ๓ คน และยังมีนักข่าวอาสาสมัครอีก ๑ คน จะได้เตรียมความพร้อม และฝึกฝนการทำข่าว ที่จะนำเสนอบนเว็บไซต์ แบบรายวันต่อไป

จนกระทั่ง เมื่อวันที่ ๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๗ กองบรรณาธิการจึงสามารถเริ่มดำเนินการได้จริง เนื่องจากคณะบุคคลฯ ได้จดทะเบียนเว็บไซต์ ๒ ชื่อ คือ www.prachatai.com และ www.prachathai.com และดำเนินการอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ต่อมา เมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙ คณะบุคคลฯ จึงแปรรูปองค์กร ด้วยการจดทะเบียนก่อตั้ง “มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน” ที่ดำเนินกิจกรรมสาธารณประโยชน์ ไม่แสวงผลกำไร ตามทะเบียนเลขที่ กท ๑๔๐๙[๑]

เผยชื่อทีมงานประชาไทออนไลน์
หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท แบ่งการทำงานออกเป็นสองส่วนย่อย คือคณะปฏิบัติงาน และกองบรรณาธิการ

ปัจจุบันประชาไท มีคณะปฏิบัติงาน ประกอบด้วย จีรนุช เปรมชัยพร เป็นผู้อำนวยการ, สุภาพรรณ พลังศักดิ์ เป็นผู้จัดการ และผู้ประสานงานชุมชน, วิภาพร วงษ์ประเสริฐ เป็นผู้รับผิดชอบทำธุรการและการเงิน และ ปกป้อง พงศาสนองกุล เป็นผู้ออกแบบเว็บไซต์ และดูแลในเชิงเทคนิค

ส่วนกองบรรณาธิการ ประกอบด้วย ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข เป็นบรรณาธิการ, พิณผกา งามสม เป็นผู้ช่วยบรรณาธิการ และมีผู้สื่อข่าว ๔ คนคือ จิรนันท์ หาญธำรงวิทย์, มุทิตา เชื้อชั่ง, ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง และ พงศ์พันธ์ ชุ่มใจ

เสนอความจริง-ไม่ให้ใครแทรกแซง
คณะผู้ก่อตั้งประชาไท มีแนวคิดในการนำเสนอ ข้อมูลข่าวสารอย่างตรงไปตรงมา เพื่อประโยชน์ของสังคมส่วนรวม คือเปิดโอกาสให้ประชาชน หรือชุมชนต่างๆ มีโอกาสได้รับรู้ และเท่าทันสถานการณ์ทางสังคมในเรื่องต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาสุขภาวะ วิถีชีวิต รวมถึงคุณภาพชีวิตของประชาชน การพัฒนาสถาบันครอบครัวและชุมชน รวมถึงการขยายขอบเขต การมีส่วนร่วมของประชาชน ในการพัฒนาประเทศ ตามเจตนารมณ์ของระบอบประชาธิปไตย และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

หนังสือพิมพ์ประชาไท วางนโยบายกับตนเองไว้ว่า จะพยายามนำเสนอข่าวสารข้อมูล ตามความจริงที่พบเห็น หรือค้นพบ โดยจะไม่ยอมให้ผู้ใดเข้าแทรกแซงได้ และจะให้น้ำหนักกับข้อมูลข่าวสาร ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาวิถีชีวิต และความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วไป รวมทั้งกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในสังคม และส่วนที่มีประโยชน์กับการสร้างสังคมประชาธิปไตย มีความเป็นธรรม รวมถึงส่วนที่ช่วยให้สิทธิ และผลประโยชน์ของประชาชน ได้รับความเคารพอย่างทั่วถึง

นอกจากนั้น ยังยึดมั่นในจรรยาบรรณสื่อมวลชน และพยายามให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับข่าวใดๆ และจะตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข้อมูล ก่อนจะนำเสนอเป็นข่าว รวมถึงยินดีให้ผู้อ่านตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์ ไม่แสวงผลประโยชน์ส่วนตัวให้ผู้เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้  ประชาไทยังส่งเสริมให้ผู้อ่านมีส่วนร่วมกับเว็บไซต์ได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากสำคัญว่า ผู้อ่านเป็นเจ้าของที่แท้จริง จึงสามารถส่งข่าว ข้อมูล ข้อเขียน บทความ ตลอดจนแสดงความเห็น แลกเปลี่ยนทรรศนะ ในเรื่องต่างๆ เข้ามาที่ประชาไทได้อย่างเสรี และสร้างสรรค์ ภายใต้กฎหมาย และเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน

ประชาไท มีการประสานงานลักษณะเครือข่ายอย่างใกล้ชิด กับสื่อทางเลือก, สื่อประชาชนอื่น, องค์กรชุมชน และภาคประชาสังคม ทั่วประเทศด้วย[๑]

บุกถิ่นประชาไท-๓ วันก่อนรวบ ผอ.
เมื่อวันอังคารที่ ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ ผู้เขียนเดินทางไปยัง สำนักงานหนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท ย่านถนนรัชดาภิเษก เพื่อไปสัมภาษณ์ บ.ก.ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข ตามที่นัดหมายไว้

ที่น่าประหลาดใจก็คือ ให้หลังจากวันนั้นเพียงสามวัน ตำรวจกองปราบ ก็บุกไปยังที่แห่งเดียวกัน เพื่อเข้าจับกุม ผอ.จีรนุช เปรมชัยพร จนกระทั่งผู้เขียนยังกังวลว่า กอง บ.ก.อาจเข้าใจผิดว่า ผู้เขียนเป็นสายตำรวจ มาล้วงความลับจากพวกเขา ก่อนเข้าไปจับกุมก็ได้ แม้ชูวัสยืนยันภายหลังว่า ไม่ได้คิดเช่นนั้นก็ตาม

สถานที่ทำงานของกอง บ.ก.ประชาไท ตั้งอยู่ที่อาคาร มอส. ซึ่งย่อมาจาก มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม ย่านรัชดาภิเษก เป็นที่รวมสำนักงานองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) หลายแห่ง ผู้เขียนจึงรู้สึกว่า ดูเหมือนบ้านหลังใหญ่ ที่มีหลายครอบครัวอาศัยอยู่ร่วมกันเสียมากกว่า

ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข
บรรณาธิการ ประชา
ไท
สำนักงานประชาไท อยู่ที่ชั้น ๑ เมื่อเข้าประตูมา ก็เป็นห้องทางซ้ายมือนั้นเอง มีกองบรรณาธิการและผู้ปฏิบัติงานประมาณ ๔-๕ คน กำลังทำงานกันอยู่บนโต๊ะเล็กๆ หลายตัว และโต๊ะประชุมยาว ที่ตั้งขนานกับหน้าต่างด้านหน้าอาคาร ส่วนปลายโต๊ะประชุมด้านตรงข้ามประตู เป็นโต๊ะทำงานตัวใหญ่ ซึ่งผู้ที่ผมมาขอพบกำลังนั่งทำงานอยู่ ด้านข้างมีโต๊ะแบบเดียวกันอีกชุด คงเป็นของจีรนุชนั่นเอง

ชูวัสเริ่มอธิบายถึงการแบ่งส่วนงานที่เขาทำอยู่ “เพื่อให้เห็นภาพชัดก่อนคือ ประชาไทแบ่งเป็นสามส่วนหลัก ส่วนแรกคือ ส่วนที่เป็นข่าวของกองบรรณาธิการทำ ส่วนที่สองคือประชาไทเว็บบอร์ด อีกส่วนหนึ่งก็คือส่วนภาษาอังกฤษ ทั้งสามส่วนนี้ แยกออกจากกันโดยสิ้นเชิง ไม่เกี่ยวกัน”

“ในส่วนของข่าว เราเลือกข่าวจากอะไร บางทีเราก็มอนิเตอร์มาจากเพื่อนบ้าน สำนักข่าวหลักบ้าง แต่การเลือกของเรามีนัยสำคัญด้วย สิ่งที่เราเลือก ก็มาจากปรัชญาการก่อตั้งของเราก็คือ มีนัยสำคัญต่อผู้คน เราก็เลือกข่าวนั้นขึ้นมา”

แม้อาจมองได้ว่า เป็นการคัดลอกข่าว แต่เขาก็ให้เหตุผลอย่างน่าสนใจว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อบ่งบอกกับผู้อ่านว่า ข่าวชิ้นนั้นมีนัยสำคัญอย่างไร ซึ่งเขาบอกว่า เป็นรูปแบบนำเสนอข่าวของสื่อยุคใหม่ “เหมือนส่งอีเมลตามเมลลิ่งลิสต์ (รายชื่ออีเมลที่บันทึกไว้) ประชาไทก็ใช้หลักการนั้นมาตีพิมพ์ซ้ำ เพื่อจะเติมนัยของมันไปว่า เราต้องการเน้นนัยนี้”

เขาเล่าต่อไป ถึงการเปลี่ยนแปลงส่วนบทความทรรศนะ ที่รวมไว้ในส่วนย่อย บล็อกกาซีน (Blogazine) ซึ่งกลายเป็นหน่วยหนึ่งในหน้าข่าว “เดิมมันตั้งหลักขึ้นมาจากว่า ตั้งใจจะให้เป็นคอลัมน์ ที่เป็นตัวแทนชุมชนในแต่ละเรื่องๆ เช่น ชุมชนเอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อม ด้านพลังงาน ด้านศิลปะ เป็นต้น ซึ่งก็จะเป็นแต่ละคอลัมน์ไป เหมือนกับหนังสือพิมพ์ทั่วไป เพียงแต่เราอยู่บนฐานของชุมชน คอลัมน์เราไม่ได้เลือกมาจาก เขาเด่นดังในด้านไหนๆ เขาทำงานเครือข่ายของเขาด้วย แล้วก็มาเขียนคอลัมน์ให้เรา คือประชาไทเริ่มจากตรงนั้นก่อน ทำให้มีผู้อ่านจำนวนหนึ่ง ติดตามมาดูข่าวหลัก”

เมื่อถามถึงเว็บบอร์ด ซึ่งมักจะเป็นปัญหารบกวนจิตใจของกอง บ.ก.อยู่หลายครั้ง แม้ในอีกสามวันหลังจากนั้นด้วย “เว็บบอร์ดเนี่ย ความตั้งใจแรกเดิมเลย ตั้งใจให้มันเป็นพื้นที่โล่งๆ ที่ทุกคนจะมาพูดมาอะไรได้หมด แล้วก็ด่ากันเอง ควบคุมกันเองเป็นชุมชน คือเราเป็นแค่ลานหน้าบ้านน่ะ ถ้าไม่มีที่พูด ก็มาพูดตรงนี้ เราไม่ยุ่งด้วย แต่กฎหมายไม่อนุญาตให้ทำอย่างนั้นได้อย่างเต็มที่ มันจึงมีกระบวนการเซ็นเซอร์บ้าง คัดกรองบ้าง โดยเฉพาะเรื่องที่ผิดกฎหมาย อย่างหมิ่นประมาทสถาบันเบื้องสูง หรือหมิ่นประมาทบุคคล อะไรก็ว่าไป”

ชูวัสขยายความถึงกลไกในการดูแลว่า กอง บ.ก. จะคัดเลือกจากสมาชิกเว็บบอร์ด ที่อาสาสมัครเข้ามา โดยเข้าร่วมแลกเปลี่ยนทัศนคติกับคนเหล่านั้น เพื่อตรวจสอบว่า มีคุณสมบัติในการเฝ้าดูแลชุมชนแห่งนี้ได้หรือไม่ เพื่อให้ทำหน้าที่ควบคุมกันเอง ในลักษณะคณะกรรมการชุมชนเว็บบอร์ด ทั้งนี้ เขายังจำกัดอำนาจในการคัดกรอง ไว้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น

“เราก็ตั้งเกณฑ์ไว้ว่า ต้องไม่ละเมิด ไม่ปิดกั้นความคิดเห็นที่ไม่ควรปิดกั้น ฉะนั้น แม้เขาจะมีอำนาจเซ็นเซอร์ แต่เราจะเข้าไปตรวจสอบอีกชั้นหนึ่งว่า สิ่งที่เขาเซ็นเซอร์นั้นสมควรหรือไม่ เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นโดยเสรี ด้วยเจตนาที่ดีหรือไม่ ถ้าใช่ เราก็จะเปิดกลับมา แต่ถ้าเป็นเรื่องที่สมควรเซ็นเซอร์แล้ว เราก็จะปล่อยตามนั้น”

ทุกวันนี้ มีอาสาสมัครของชุมชนแห่งนี้อยู่ประมาณ ๔๐-๕๐ คน จากจำนวนผู้เข้าใช้เว็บบอร์ด ถึงประมาณ ๒-๓ หมื่นคน

“ส่วนใหญ่ การถกเถียงก็เป็นเรื่องการเมืองทั่วๆ ไป ซึ่งไม่ค่อยมีปัญหาอะไร มีไม่กี่รายที่บางทีอาจจะมีอารมณ์มา แล้วก็โพสต์หมิ่นประมาทบ้าง ซึ่งก็มีกระบวนการคัดกรองอยู่แล้ว”

จากนั้น ผู้เขียนถามถึงส่วนที่เรียกว่า ‘นักข่าวพเนจร’ ที่ประชาไททำไว้ ชูวัสเล่าถึงเรื่องนี้ว่า

“เราพยายามทำให้เขา (นักข่าวพเนจร) เขียนข่าว ขึ้นข่าว และแก้ไขเอง เราพยายามเปิดช่องทางตรงนั้น แต่ก็ไม่สำเร็จนะ เราเลยเปลี่ยนแผนใหม่ คือมาฝึกปฏิบัติมากขึ้น เป็น ๒.๐ ไม่ได้ ก็ลดเหลือ ๑.๕ ก็แล้วกัน คือ ๑.๐ ก็เป็นเว็บข่าวทั่วไป ที่กองบรรณาธิการดูเองทั้งหมด ๒.๐ ก็คือ คนอ่านดูเองทั้งหมด ประชาไทลองทำแล้วทั้งสองอย่าง ก็คิดว่าไม่ได้ เราก็มาเหลือ ๑.๕ ประมาณนั้น”

เขาอธิบายความสัมพันธ์ และความสัมพัทธ์ ระหว่างความเป็นอิสระ กับเงินทุนที่ต้องต่ำลง และนักข่าวพเนจร ก็เป็นคำตอบที่ลงตัว เพราะไม่ต้องมีค่าจ้าง “ประชาไทเป็นอิสระได้ ต้นทุนต้องต่ำ เพราะถ้าต้นทุนสูง จ้างนักข่าวเยอะ เราก็ต้องหารายได้มาเยอะ ขอเงินเยอะ หรือค้าขาย ทำธุรกิจ เพื่อให้มีเงินมาหล่อเลี้ยงกองบรรณาธิการ คือจ้างคนน่ะ เวลาขอทุนใคร หรือขอสปอนเซอร์ใคร เราก็ด่าสปอนเซอร์นั้นไม่ได้ มันก็จะมีผลต่ออิสระ ต่อเสรีภาพของเรา”

“ฉะนั้น ทุนจึงต้องต่ำ คือนักข่าวพลเมืองเนี่ย ไม่มีต้นทุน เพราะเป็นเจ้าของร่วม คือเป็นอาสาสมัคร เขียนข่าวส่งมาเอง ไม่ต้องใช้ต้นทุนในการบริหารองค์กรหรือธุรกิจ นักข่าวพลเมือง จึงสัมพัทธ์กับเสรีภาพขององค์กร ถ้าเราเป็นเว็บไซต์ ที่เป็นนักข่าวพลเมืองเต็มร้อยเนี่ย อาจไม่ต้องจ้างคนเลย ไม่ต้องมีค่าออฟฟิศ อาจไม่ต้องมีอะไรเลย คือมันมีข่าวขึ้นมา จากอาสาสมัครทั่วสารทิศ ก็จะทำให้เรามีเสรีภาพเต็มที่ ใครจะเขียนวิจารณ์ใครก็ได้”

“ดังนั้น เสรีภาพของการนำเสนอข่าว และการแสดงความคิดเห็น ยิ่งต้นทุนน้อย เสรีภาพก็จะเพิ่มขึ้น” ทั้งหมดนั้น คือข้อมูลจากปากของบุคคล ที่กำกับดูแลประชาไท เกี่ยวกับตัวหน่วยงานเอง ก่อนที่อีก ๓ วัน จะเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น

ตร.บุกค้น‘ประชาไท’-จับ ผอ.จีรนุช
เมื่อเวลา ๑๕.๐๐ น. วันศุกร์ที่ ๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ พล.ต.ต.วรศักดิ์ นพสิทธิพร รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และ พ.ต.อ.สาธิต ต.ชยภพ รองผู้บังคับการกองปราบปราม พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปราม นำหมายค้นของศาลอาญา เลขที่ ๑๘๓/๒๕๕๒ ลงวันที่ ๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ เข้าตรวจค้นภายในสำนักงาน เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ประชาไทออนไลน์ เลขที่ ๔๐๙ ชั้น ๑ อาคารมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) ซอยประชาราษฎร์บำเพ็ญ ๕ แขวงและเขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร

โดย พล.ต.ต.วรศักดิ์ ให้เหตุผลในการตรวจค้นครั้งนี้ว่า ได้รับการร้องเรียน จากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ว่าเว็บไซต์ดังกล่าว มีการเผยแพร่ข้อความ ในลักษณะดูหมิ่นสถาบันเบื้องสูง จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พุทธศักราช ๒๕๕๐ ถือเป็นครั้งแรกที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ เข้าจับกุมเว็บไซต์ข่าวออนไลน์

จีรนุช เปรมชัยพร
ผู้อำนวยการ ประชาไท
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจยึดคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กของ นางสาวจีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการประชาไท ไว้เพื่อตรวจสอบ พร้อมเชิญตัวนางสาวจีรนุช เข้าให้ปากคำที่กองปราบปราม ซึ่งผู้ต้องหาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยกล่าวว่า ข้อความดังกล่าวเป็นของผู้เข้ามาอ่านข่าวสาร และนำลงไว้ในเว็บบอร์ดสาธารณะของเว็บไซต์ ซึ่งภายหลังเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลเว็บไซต์ตรวจพบ จึงลบข้อความที่มีเนื้อหาเชิงหมิ่นสถาบันเบื้องสูงทั้งหมดแล้ว จากนั้น ช่วงเย็นวันเดียวกัน นางสาวจีรนุชได้รับการประกันตัว โดยนางฉันทนา หวันแก้ว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใช้ตำแหน่งเป็นประกัน

ทั้งนี้ ในมาตรา ๑๕ ของพระราชบัญญัติฉบับนี้ ระบุว่า ผู้ให้บริการผู้ใด จงใจสนับสนุน หรือยินยอมให้มีการกระทำความผิด ตามมาตรา ๑๔ ในระบบคอมพิวเตอร์ ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษ เช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดตามมา

และมาตรา ๑๔ บัญญัติว่า ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

(๑) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม ไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย แก่ผู้อื่นหรือประชาชน

(๒) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ   โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย ต่อความมั่นคงของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน

(๓) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา

(๔) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามก และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้น ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้

(๕) เผยแพร่หรือส่งต่อ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยรู้อยู่แล้วว่า เป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ ตาม (๑) (๒) (๓) หรือ (๔)[๒]

เปิดใจจีรนุชหลังถูกจับ
หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว นางสาวจีรนุชให้สัมภาษณ์พิเศษกับ ศูนย์เฝ้าระวังการคุกคามสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยมีใจความดังต่อไปนี้

เมื่อเวลาประมาณบ่ายโมงเศษ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ๔ นาย เดินทางมายังสำนักงานประชาไท พร้อมกับหมายค้นและหมายจับ พร้อมชี้แจงถึงการขอเข้าตรวจค้น ตนจึงโทรศัพท์ปรึกษาเพื่อนที่เป็นทนายความว่า ควรจะดำเนินการอย่างไร ควรลงชื่อรับทราบหมายค้นที่เจ้าหน้าที่ตำรวจนำมาหรือไม่ แต่อาจเป็นเพราะตนไม่ทันอ่านรายละเอียดให้ชัดเจน จึงไม่ทราบว่าในหมายค้นนั้น มีการออกหมายจับด้วย ซึ่งขณะที่ตนกำลังลงชื่อรับทราบหมายค้น เจ้าหน้าที่ตำรวจก็แจ้งว่า ต้องไปที่กองปราบฯ ตนจึงทราบว่ามีหมายจับด้วย

นางสาวจีรนุชกล่าวอีกว่า ฐานความผิดซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ แจ้งข้อหากับตนคือ “ผู้ให้บริการ จงใจสนับสนุน หรือยินยอมให้มีการกระทำผิด นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมฯ นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ในระบบคอมพิวเตอร์ ที่อยู่ในความควบคุมของตน ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๑๔ (๑), (๓), (๕) และมาตรา ๑๕”

โดยระหว่างที่ทราบชัดเจน ว่ามีหมายจับนั้น ตนแจ้งกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขอติดต่อทนายก่อน และจะไม่ดำเนินการใดๆ จนกว่าทนายจะมา ระหว่างนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจเริ่มเข้ามามากขึ้น ประมาณ ๑๐ คน ทั้งหมดมาถ่ายรูป และเดินอยู่ภายในออฟฟิศ โดยไม่ได้ตรวจค้นแต่อย่างใด ซึ่งการตรวจค้นครั้งนี้ ทำให้เพื่อนๆ หลายองค์กร ที่ทำงานในตึก มอส. ทยอยลงมาร่วมสังเกตการณ์ พร้อมทั้งแจ้งข่าวให้เพื่อนทราบ และเมื่อทนายความของเรามาถึง ตำรวจจึงเชิญตัวไปที่กองปราบฯ

“ระหว่างนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจขอคัดลอกข้อมูลในคอมพิวเตอร์ โดยทำสำเนาฮาร์ดดิสก์ไว้อีกชุด ซึ่งตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หากเจ้าหน้าที่ตำรวจ จะคัดลอกข้อมูลจากคอมพิวเตอร์ของเรา ต้องมีคำสั่งศาล เราก็สอบถามว่า มีเอกสารส่วนนี้หรือไม่ ซึ่งในขณะนั้นเขาไม่มี แต่หลังจากนั้น ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจขอเอกสารย้อนหลังไปในวันเดียวกัน ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบ จากเจ้าหน้าที่ของกระทรวงไอซีที ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ”

“โดยกรณีของเรา ได้รับการปฏิบัติตามขั้นตอนอย่างถูกต้อง เป็นพิเศษ เจ้าหน้าที่ผู้จับกุม ก็ให้เกียรติเรา จึงอยากให้การเข้าจับกุมในแต่ละครั้ง มีขั้นตอนที่ถูกต้องแบบนี้” ผู้อำนวยการเว็บไซต์ข่าวประชาไทกล่าว

นางสาวจีรนุชเปิดเผยต่อไปว่า ยุคนี้ คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล กลายเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ กรณีของเราเหมือนถูกรุกล้ำ โดยไม่รู้ว่าข้อมูลซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจทำสำเนาไปนั้น จะนำไปใช้รูปแบบใด เขามีสิทธิตรวจสอบข้อมูล แต่ไม่มีสิทธินำข้อมูลของเราไปใช้ ดังนั้น เราจึงให้เจ้าหน้าที่ทำสำเนาข้อมูลไป ๒ ชุด และให้เก็บไว้ที่กองพิสูจน์หลักฐาน ในลักษณะปิดผนึก เพื่อสามารถนำข้อมูลมาเทียบกันว่า ไม่ได้นำข้อมูลของเรามาใช้เพิ่มเติม เพราะข้อมูลบางส่วนในคอมพิวเตอร์ของตน ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคดี

“ในฐานะที่พวกเราเป็นสื่อทางเลือก หวังว่าในอนาคตควรมีความชัดเจน ในการเข้าจับกุม น่าจะแจ้งเตือน และออกหมายเรียก ก่อนจะออกหมายจับ เพราะวันนั้น ข้อกังวลใจของหลายๆ คนคือ การทำเรื่องประกันตัวไม่ทัน กรณีของตนยังโชคดีที่ อาจารย์ฉันทนา หวันแก้ว ท่านมาประกันตัวให้ แต่หากเกิดกับบุคคลอื่นทั่วไป ดิฉันก็ไม่ทราบว่า เขาจะได้รับการปฏิบัติเช่นไร”

“ขอยืนยันว่า กระทู้ปัญหานั้นเราปิดไปแล้ว และเจ้าหน้าที่ตำรวจก็จับกุม คนโพสต์ข้อความนั้นไปแล้วด้วย แต่ทำไมถึงต้องมาด่วนจับกุมเรา พวกเราจึงเกิดคำถามว่า ทำไมจึงเป็นประชาไท? อย่างไรก็ตาม สำหรับความคืบหน้าของคดี คงต้องรอเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งมาอีกครั้ง เพราะตอนนี้เราอยู่ในสถานะถูกปล่อยตัวชั่วคราว” ผู้อำนวยการเว็บไซต์ข่าวประชาไท กล่าวในที่สุด[๒]

ตร.ฟันเพิ่มอีก ๙ กระทง
ความคืบหน้าเกี่ยวกับกรณีนี้ มีขึ้นอีกครั้ง ในวันที่ ๗ เมษายน ปีเดียวกัน เมื่อพนักงานสอบสวน พบมูลความผิดตามที่ปรากฏอีก ๙ กระทู้ ในเว็บบอร์ดแห่งเดียวกัน ที่มีการเผยแพร่ในช่วงเดือนเมษายน-สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ จึงแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มอีก ๙ กระทง ส่วนกระทู้ต้นเหตุ ปรากฏขึ้นในเว็บบอร์ด เมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๑[๓]

ให้ประกันตัวชั้นอัยการ
จากนั้น พนักงานสอบสวนรวบรวมหลักฐานทั้งหมด เพื่อทำสำนวนคดีดังกล่าว โดยมี พ.ต.ท.บุญเลิศ กัลยาณมิตร พนักงานสอบสวน กองบังคับการ กองปราบปราม เป็นผู้แทนเข้ายื่นกับอัยการพิเศษ ฝ่ายคดีอาญา ๘ โดยรับเรื่องไว้ ที่สำนักงานอัยการสูงสุด เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ปีเดียวกัน พร้อมให้นางสาวจีรนุชประกันตัวในชั้นอัยการแล้ว โดยพนักงานอัยการนัดสั่งคดีในวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๒[๓]

---------------------------------------------------------------------------------------------
[๑] กองบรรณาธิการประชาไท,  เกี่ยวกับประชาไท, เว็บไซต์ข่าวประชาไท
[๒] จดหมายข่าว ศูนย์เฝ้าระวังการคุกคามสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, (๑๐ มีนาคม ๒๕๕๒), เว็บไซต์สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
[๓] กองบรรณาธิการประชาไท, ตำรวจส่งสำนวนคดี พ.ร.บ.คอมฯ ‘ผอ.ประชาไท’ อัยการนัดสั่งคดี ๒๖ มิ.ย., เว็บไซต์ข่าวประชาไท